ร่วมแบ่งปันคุณค่าสู่สังคมยั่งยืนกับ 3 เรื่องราวจาก 3 โครงการเกษตร ที่สยามคูโบต้าเป็นแรงผลักดัน

เพราะเชื่อว่า พลังของการให้และแบ่งปัน สร้างสรรค์สังคมได้จริง ตลอด 45 ปีของสยามคูโบต้าที่อยู่เคียงข้างเกษตรกรไทย จึงยังคงผลักดันให้การทำเกษตรพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม

และนี่คือ 3 เรื่องราวจาก 3 โครงการเกษตรที่สยามคูโบต้าให้การสนับสนุน ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ล้วนเป็นโครงการที่ดำเนินงานมาอย่างยาวนาน ต่อเนื่อง โดยมุ่งให้เกิดความมั่นคงในสังคมระยะยาว สร้างทักษะความรู้ให้กับเยาวชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไปจนถึงชุมชนเกษตรกรอันเป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารสู่ปากท้องของประเทศ

ค่ายอาสาโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน

โรงเรียนตำรวจตระเวรชายแดนตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ตั้งอยู่ตะเข็บชายแดนด้านตะวันตก ห่างจากชายแดนประเทศเมียนม่าเพียง 800 เมตร เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ห่างไกลที่สยามคูโบต้าเข้าร่วมแบ่งปันและสร้างสรรค์พื้นที่ปลูกให้เด็กนักเรียนภายในโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ มอญ กะเหรี่ยง พม่า และมีฐานะยากจน ซึ่งมีนักเรียนบางส่วนของที่นี่บ้านอยู่ห่างไกลจึงจำเป็นต้องพักอาศัยอยู่ในโรงเรียนด้วย

ที่นี่มีโครงการ เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน (โครงการในพระราชดำริ) เป็นการสร้างพื้นที่ปลูกผักเพื่อนำผักที่นักเรียนปลูกเองไปประกอบอาหารกลางวัน ช่วยลดค่าใช้จ่าย และมีผักที่ปลอดภัยรับประทาน แต่เมื่อมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นจึงจำเป็นต้องขยายพื้นที่ปลูกให้เพียงพอเกิดเป็นแนวคิดที่จะส่งเสริมทักษะการปลูกผักทำเกษตรให้กับกลุ่มนักเรียนควบคู่กันไป

แต่อุปสรรคในการขยายพื้นที่คือ “ดิน” ด้วยว่าเดิมทีที่ตั้งของโรงเรียนเป็นเหมืองแร่เก่าที่ถูกตักหน้าดินไปหมดสิ้น หากต้องการทำเกษตรจะต้องมีการปรับพื้นที่และเติมหน้าดินที่เหมาะกับการปลูกพืชเข้าไปใหม่ ซึ่งเกินกำลังที่โรงเรียนเล็กๆ ที่อยู่กลางหุบเขาแห่งนี้จะทำได้ ในปี 2562 สยามคูโบต้าจึงนำทัพทีมงานค่ายสาขา เครื่องจักรการเกษตร กำลังแรงงานหนุ่มสาว เข้าร่วมสร้างสรรค์พื้นที่ปลูกผักใหม่ ที่กว้างขวาง แข็งแรง เดินทางเข้าออกสะดวกสบาย อยู่ใกล้แหล่งน้ำง่ายต่อการจัดการดูแล ซึ่งกำลังแรงของทีมค่ายอาสายังได้ส่งต่อองค์ความรู้ในการปรุงดินให้กับครูและนักเรียนได้เรียนรู้ลงมือทำอีกด้วย

ปัจจุบันแปลงปลูกผักยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ของนักเรียน ให้ผลผลิตในปริมาณที่เพียงพอ นักเรียนบ้านใกล้ก็สามารถเก็บผักที่ปลูกเองกลับไปทานที่บ้านได้ด้วย และที่สำคัญเด็กๆ มีทักษะอาชีพและมีการต่อยอดความรู้สู่ชาวบ้านในการปลูกอยู่ปลูกกินช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้

โครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp

ทำเกษตรแล้วลำบาก ยากจน ล้าหลัง คือภาพจำเก่าๆ ที่กำลังจะถูกลบไปหมดสิ้น เมื่อคนรุ่นใหม่กำลังเติบใหญ่เพื่อมาทำความใฝ่ฝันที่จะเป็น “เกษตรกรแบบ Smart Farmer” ที่มีรายได้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีนวัตกรรมสมัยใหม่ ให้สำเร็จ

น้องจอม เอกราช กระแสร์ลาภ เกษตรกรหนุ่มที่แหกขนบของครอบครัวจากอาชีพรับราชการ ทั้งคุณปู่คุณตาไปจนถึงคุณพ่อล้วนรับราชการเป็นอาชีพทั้งสิ้น แต่เด็กหนุ่มมีความใฝ่ฝันอันแปลกใหม่ที่อยากจะเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ความฝันที่เกิดขึ้นในวัยเด็กสู่ความตั้งใจเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะเทคโนโลยีการเกษตร และขยับเข้าใกล้ความฝันมากขึ้นเมื่อสมัครเข้าร่วมโครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp

เทคโนโลยีการเกษตร เกษตรอัจฉริยะ หรือระบบ IoT เพื่อการเกษตร เหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้การปลูกพืชได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ การเรียนรู้เพื่อใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมจึงต้องลงมือปฏิบัติทดลองทำจริงไปพร้อมๆ กัน

“สมัครเข้าร่วมโครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp ทำให้ได้เจอเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกันทั่วประเทศเลยครับ มีเพื่อนใหม่ร่วมฝัน ได้ทดลองเป็น Smart farmer จริงๆ เปิดโลกการทำเกษตร ซึ่งจะนำมาปรับใช้กลับพื้นที่ฟาร์มของตนเองอย่างแน่นอนครับ” คุณจอมเล่า

ปัจจุบัน เด็กหนุ่มได้เริ่มก่อร่างสร้างฝัน ปรับพื้นที่หน้าบ้านให้เป็น “สวนมีรักษ์” แบ่งพื้นที่ปลูกพืชผัก ทำบ่อเลี้ยงปลา ทำเกษตรควบคู่กับการศึกษาปริญาโท เติมองค์ความรู้พร้อมกับลงมือทำไปด้วยกัน ด้วยความตั้งใจอยากให้ที่นี่เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดอยุธยา เป็นสวนผักออร์แกนิกที่ควบคุมด้วยระบบ IoT ลดการใช้แรงงาน ควบคุมคุณภาพการผลิตได้แม่นยำ เชื่อมโยงกับร้านค้า ร้านอาหาร ให้เกิดรายได้ที่สม่ำเสมอ และมุ่งมั่นจะให้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานแบ่งปันความรู้ต่างๆ อย่างที่ตนเองเคยได้รับจากสยามคูโบต้า

โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า

ปัญหาหนี้สิน ขาดแคลนแรงงาน และสภาพอากาศแปรปรวนเกิดทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม เคยเป็นสิ่งที่เกษตรกรวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า อ.หนองบัวซอ จ.อุดรธานี เคยเผชิญมาก่อนหน้านี้ แม้จะร่วมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น เคยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริมแต่ก็เพียงระยะหนึ่งเท่านั้นทำให้ปัญหาในการทำเกษตรยังคงวนเวียนกลับมาดังเดิม

ที่นี่คือชุมชนคนอีสานที่ทำเกษตรสารพัดรูปแบบ ทั้งทำนาปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความเหนียวแน่น แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เกิดปัญหาน้ำท่วม ดินเสื่อมคุณภาพ ใช้เครื่องจักรที่มีไม่ได้เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขาดแคลนแรงงานเกษตรทำให้เกิดหนี้สินจากการลงทุนจ้างแรงงาน และขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ

ปี 2557 โครงการพลังชุมชนเกษตรสร้างสุข โดย สยามคูโบต้า ได้เข้ามาเติมส่วนที่ขาดหายให้กับกลุ่มชาวบ้านนั่นคือ ทักษะการจัดการ โดยเสริมทักษะการดูแลจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้แทนแรงงานคนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดต้นทุนในการจ้างแรงงาน เสริมความรู้สมัยใหม่ที่จะทำให้การปลูกพืช การแปรรูปสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เปิดอบรมให้ความรู้จนสามารถลงมือปฏิบัติได้เอง และอยู่เคียงข้างกลุ่มชุมชนมาจนปัจจุบัน

ปัจจุบันสินค้าเกษตรแปรรูปจากวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า พัฒนาจนได้รับความนิยมในวงกว้างทั้ง ข้าวพองธัญพืชอบกรอบ ข้าวหอมมะลิอุดร ที่นี่มีการบริหารจัดการเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มสมาชิกซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นว่า 200 คน ทั้งยังเป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบในโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุข สยามคูโบต้า อีกด้วย

ทั้ง 3 เรื่องราวจาก 3 โครงการ คือส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากพลังของการ “ให้” ที่ไม่ได้จบลงในระยะเวลาสั้นๆ แต่ยังถูกส่งต่อเป็นทอดๆ ขยายจากพื้นที่โครงการสู่ภาคสังคม ชุมชน รวมไปถึงการสร้างอนาคตที่การทำเกษตรและความยั่งยืนจะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน