การสร้างคอกสุนัข

ข้อคำนึงในการสร้างคอกสุนัข

การสร้างคอกสุนัข
การสร้างคอกสุนัข

ท่านผู้อ่านอาจจะเคยเลี้ยง ฝึก ประกวด หรือแม้แต่เคยเพาะพันธุ์สุนัข แล้วคุณก็เริ่มรู้สึกว่างานอดิเรกนี้เริ่มจะเพิ่มปริมาณสุนัขขึ้นในบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มถึงเวลาที่คิดถึง การสร้างคอกสุนัข

แต่แม้ว่าความคิดนี้น่าสนใจ แต่ก็อย่ารีบเริ่มต้นจนกว่าคุณจะคิด วิเคราะห์แล้วว่าคุณพร้อมแล้วจริง ๆ ซึ่ง การสร้างคอกสุนัข ควรต้องคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยนะครับ

1.เรื่อง “โซนนิ่ง”

สิ่งที่ควรต้องหาความรู้ก่อนเป็นอย่างแรกคือในท้องที่ที่คุณวางแผนที่จะสร้างคอกสุนัขนั้น มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดทางกฎหมายในการสร้างคอกสุนัขหรือไม่ อย่าทำแค่โทรไปถามองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แต่ควรทำหนังสือไปสอบถามและได้รับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษร หรือคุณควรไปสอบถามด้วยตนเองและได้อ่านข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ถ่ายสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วยจะยิ่งดี)
ถ้าคุณคิดจะซื้อที่ดินเพื่อสร้างคอกสุนัข ขอเน้นว่า “อย่า” เชื่อหรือฟังเพียงคำจากนายหน้าขายที่ดินในเรื่องนี้ เพราะการอยากขายที่ดินอาจทำให้เขาไม่บอกความจริงแก่คุณทั้งหมด แต่ให้เข้าไปสอบถามข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตัวคุณเอง และในระหว่างที่อ่านข้อมูลนั้น อย่าลืมมองหาช่องโหว่ของกฎหรือระเบียบด้วย (เช่นในบางท้องที่ห้ามสร้างคอกหรือกรงถาวรบนพื้นดิน แต่ถ้าสร้างกรงบนรถบรรทุกหรือรถพ่วงก็สามารถทำได้เพราะตามตัวบทของระเบียบแล้วไม่ได้ห้าม เป็นต้น) การตรวจสอบทั้งหมดเหล่านี้ก่อนจะลงมือสร้างคอกสุนัขจะช่วยให้คุณประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายและปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้
บางคนอาจจะคิดว่าการย้ายไปทำคอกสุนัขที่ต่างจังหวัดอาจจะทำได้ง่ายกว่าและไม่เคร่งครัดในเรื่องกฎ ระเบียบมากมาย ตรงนี้ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนนะครับ บางท้องที่คุณอาจจะเลี้ยงปศุสัตว์ ช้าง ม้า วัว ควาย ได้เป็นฝูงในท้องถิ่นนั้น แต่กฎหมายอาจจะจำกัดปริมาณสุนัขที่จะเลี้ยงก็ได้
(ในกรณี “โซนนิ่ง” นี้ ในประเทศไทยเราน่าจะไม่ได้มีกฎหมายหรือข้อบัญญัติใด ๆ ห้ามไว้เหมือนในสหรัฐอเมริกา เพียงแต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของกฎหมายด้านสุขอนามัย เช่นเรื่องเสียง เรื่องกลิ่น ที่ต้องไม่รบกวนเพื่อนบ้านหรือชุมชน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องศึกษากฎ ระเบียบ ข้อบัญญัติให้ดีเหมือนกันครับ)

2.รูปแบบของคอกสุนัข

เวลาพูดถึง “คอกสุนัข” เรามักคิดกันถึงลักษณะของกรงที่ตั้งเป็นระเบียบและแข็งแรงที่มีทั้งพื้นที่ในร่มและลู่วิ่งกลางแจ้ง อาจจะมีพื้นที่กันแดดและพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเย็นสบาย มีท่อน้ำและพื้นที่ซักล้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่จริง ๆ แล้วคอกสุนัขสามารถเป็นได้ทุกรูปแบบตามแต่จินตนาการและปริมาณเงินที่คุณมีไว้เพื่อทำคอกสุนัข สิ่งที่ง่ายที่สุดและประหยัดที่สุดคือการทำห้องสุนัข ซึ่งคือการใช้ห้องว่างที่มีอยู่ในบ้าน (ที่อาจจะสามารถมีทางเชื่อมออกไปตรงสวนได้) แค่ทำกรงกั้นหรือผนังกั้น แล้วก็ทำพื้นที่ทนต่อเล็บสุนัข ก็เพียงพอแล้ว สุนัขก็ยังอยู่ในสายตาและได้ยินเสียงของคนในครอบครัว ซึ่งทำให้เขาไม่รู้สึกว่าโดนจับแยกออกไปจากบ้าน ส่วนพวกเครื่องปรับอากาศก็ไม่ต้องไปทำระบบเพิ่มเพราะในห้องนั้นอาจจะมีอยู่แล้ว หรือในตัวบ้านก็จะมีอุณหภูมิที่สบายกว่านอกบ้าน
อีกทางเลือกหนึ่งที่คล้ายกันแต่ได้พื้นที่มากกว่า คือการปรับเปลี่ยนโรงรถให้เป็นคอกสุนัข ข้อดีคือในโรงรถมักจะมีพวกท่อน้ำและพื้นที่ซักล้าง แล้วก็มีพื้นเป็นซีเมนต์ให้อยู่แล้ว ส่วนพวกห้องอเนกประสงค์หรือห้องใต้ดินก็สามารถปรับมาเป็นคอกสุนัขได้เช่นกัน มีตัวอย่างของต่างประเทศ เช่นคอกสุนัขพันธุ์ บอร์เดอร์ คอลลี่ คอกหนึ่งทำห้องใต้ดินไว้เป็นคอกสุนัข และสอนให้สุนัขของเขาวิ่งขึ้นมาเองในเวลาที่จะออกไปกลางแจ้ง ข้อดีของการมีคอกสุนัขอยู่ในบ้านอีกประการหนึ่งคือเวลาอากาศเลวร้าย (ร้อนจัด หนาวจัด หรือฝนตกหนัก) คุณก็ไม่ต้องฝ่าอากาศเหล่านั้นออกไปให้อาหารสุนัข นอกจากนี้ ถ้าใช้ห้องใดห้องหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านเป็นคอกสุนัข พื้นที่ตรงนั้นก็จะช่วยรองรับความสกปรกที่สุนัขได้มากจากการไปวิ่งเล่นนอกบ้าน การคลุกดินคลุกทราย ให้อยู่ในพื้นที่ส่วนนี้ ซึ่งก็จะทำให้การทำความสะอาดพื้นที่ส่วนอื่นของบ้านเป็นไปได้ง่ายขึ้น
แทนที่จะสร้างคอกสุนัข บางทีการปรับเปลี่ยนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เป็นคอกสุนัขก็เป็นแนวคิดที่ดี ตัวอย่างเช่นโรงนาก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีพื้นที่มาก และมีโครงสร้างหลากหลาย หรือคอกม้าก็สามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ในร่มกว้างขวางที่ไว้วิ่งเล่นได้ ซึ่งสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ก็มักจะมีการสร้างไว้เรียบร้อยแล้ว และอาจมีการสร้างระบบประปาและไฟฟ้าไว้แล้วด้วย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกจำนวนมาก บางคนที่มีทักษะด้านช่างก็อาจจะปรับห้องเก็บเครื่องมือ เล้าไก่ หรือพวกเพิงมาเป็นคอกสุนัขได้เหมือนกัน (กรณีนี้ประเทศไทยเราคงไม่มีโรงนาแบบเดียวกับของฝรั่ง แต่บางบ้านในต่างจังหวัด ที่มีคอกวัว ควายอยู่ใต้ถุนบ้าน ก็น่าจะปรับปรุงส่วนนี้มาเป็นคอกสุนัขได้ดีเช่นกัน)
แต่ถ้าจะสร้างคอกสุนัขจากวัสดุที่เป็นโลหะ การมีฉนวนก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะโลหะเปล่า ๆ จะปล่อยทั้งความร้อนและความเย็นมากพอสมควร อาจจะร้อนเหมือนโดนอบในหน้าร้อน และหนาวเข้ากระดูกในหน้าหนาว แต่ฉนวนก็ต้องปิดทับด้วยไม้อัดหรือผนังอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการกัดแทะหรือการขุด แล้วถ้าไม่มีอะไรจะเอามาปรับเปลี่ยนเป็นคอกสุนัขล่ะ? การซื้อพวกสิ่งปลูกสร้างสำเร็จรูปมาลงเลยก็เป็นแนวที่ดี แม้ว่าจะราคาไม่ใช่ถูก ๆ (อาจจะประมาณครึ่งหนึ่งของการเอาสิ่งปลูกสร้างมาสร้างเอง) แต่ก็สะดวกและมีพร้อมเลยทั้งผนัง 4 ด้าน ประตู หลังคา ยกมาลงทีเดียวเลย
ต่อมาก็มาพูดถึงการสร้าง “คอกสุนัขในฝัน” ก่อนที่จะปรึกษาสถาปนิก หรือร่างแบบคอกสุนัขที่คุณเองต้องการ ลองปรึกษากับทุกคนที่คุณรู้จักที่มีคอกสุนัข โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงสุนัขสายพันธุ์เดียวกับคุณ ลองถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญและอะไรไม่จำเป็นเลย ประสบการณ์เป็นครูที่ดีที่สุด และการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นก็จะลดค่าใช้จ่ายและเวลาได้มากกว่าเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเราเอง ตัวอย่างเช่น เคยมีคอกสุนัขคอกหนึ่งสร้างด้วยอิฐบล็อคที่เอาไว้แบ่งพื้นที่ให้สุนัขวิ่งในร่มแต่ละลู่ เจ้าของได้วัดพื้นที่อย่างดีตรงความกว้างของประตูตาข่ายด้านหน้าของลู่วิ่ง แต่เจ้าของดันลืมวัดขนาดของบานพับที่ต้องมีเพิ่มเข้ามาตรงประตู ทำให้สุดท้ายก็ต้องใช้สิ่วกระเทาะอิฐบล็อคแต่ละลู่ เพื่อให้มีขนาดพอดีกับขนาดของประตู
อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องอากาศ และพื้นผิวตรงจุดที่คุณจะสร้างคอกสุนัข (พื้นระนาบ เป็นเนิน หรือพื้นที่ลาด) รวมทั้งลองดูฮวงจุ้ยด้วยว่าคอกจะหันหน้าไปทางด้านไหนเช่นเพื่อประโยชน์จากการรับแสงอาทิตย์ตอนเช้า ตอนบ่าย หรือเพื่อรับลม แม้สิ่งเหล่านี้จะดูไม่สำคัญ แต่มันก็สร้างความแตกต่างได้ ตัวอย่างเช่น คอกสุนัขที่ทำหลังคาระนาบกับพื้น แต่ปลูกอยู่ในพื้นที่ที่ฝนตกบ่อย แบบนี้ก็จะไม่มีความเฉียงของหลังคาให้น้ำฝนไหลตกลงมาทำให้เกิดน้ำขัง และเจ้าของก็ต้องจัดการหานั่งร้านหรือบันไดมาเพื่อใช้ปีนขึ้นไปจัดการเก็บกวาดหิมะบนหลังคา หรือถ้าทำหลังคาแต่ไม่กันแดดที่ส่องลงตรงกรง แบบนี้ก็อาจทำให้สุนัขร้อนเกินไปจนเกิดอาการ heat stroke ได้ เป็นต้น
ต่อมาที่ต้องคำนึงถึงคือลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์ที่คุณเลี้ยง เขาเป็นพันธุ์ที่ปีนเก่ง กระโดดสูง ชอบขุดหรือเป็นนักหลบหนีตัวยง หรือไม่ ชอบส่งเสียงหรือเงียบ เรียบร้อยหรือชอบต่อสู้กับสุนัขอีกตัวที่อยู่อีกด้านของกรงกั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้สุนัขอยู่ในกรงร่วมกันเกินกว่า 1 ตัว หรือว่าต้องต่างตัวต่างอยู่ เขามีเส้นขนที่ต้องเตรียมพร้อมให้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะโชว์อยู่เสมอหรือไม่ ในคอกสุนัขที่เราจะสร้างเหมาะให้สุนัขอยู่สักกี่ตัว และขนาดที่โตเต็มที่ของสุนัขสายพันธุ์ที่เราเลี้ยงมีขนาดเท่าไร สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการคิดคำนวณว่าคอกสุนัขของเรา รวมถึงลู่ที่ใช้วิ่งออกกำลังกายควรจะเป็นลักษณะแบบไหน ตัวอย่างเช่น คุณควรจะมีหลังคาตรงส่วนลู่วิ่งเพิ่มเติมจากตรงส่วนพื้นที่กรงด้วยหากคุณเลี้ยงพวกนักปีนป่าย และคุณควรจะฝังรั้วลึกลงไปในดินพอสมควร หรือควรต้องทำพื้นเป็นซีเมนต์ในส่วนของลู่วิ่งหากคุณเลี้ยงพวกสุนัขนักขุด ความสูงของรั้วก็สำคัญ รั้วที่สูง 1 เมตรอาจจะเพียงพอสำหรับพวกสุนัขตัวเล็ก ขณะที่พวกขนาดกลางอาจจะกระโดดออกได้ และพวกขนาดใหญ่อาจจะแค่เขย่งข้ามไป เรื่องพวกนี้ต้องปรับเป็นการเฉพาะตัว
และไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดของคอกสุนัขคือความลาดชันของพื้นทั้งในส่วนของกรงและส่วนของลู่วิ่ง ขอให้ลืมพื้นที่ระนาบไปซะเพราะเวลาคุณล้างทำความสะอาดคุณคงอยากให้น้ำระบายออกไปและแห้งให้เร็วที่สุด อนึ่ง (ขึ้นอยู่กับขนาดของคอกที่คุณมี) คุณเองอาจอยากให้มีระบบบำบัดของเสียหรือเชื้อโรค ที่จะกำจัดของเสียที่มาจากสุนัขของคุณ
อะไรคือสิ่งที่ “ต้องมี” ในการสร้างคอกสุนัข ? สิ่งที่อยู่ใน list เช่น รั้วกั้นที่แข็งแรง พื้นสะอาดที่ทำความสะอาดง่าย ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ไฟส่องสว่างและระบบไหลเวียนอากาศที่เพียงพอ (ไม่ว่าจะโดยเครื่องปรับอากาศหรือโดยธรรมชาติ) รวมทั้งระบบกันยุงที่มีประสิทธิภาพ ถ้ามีพื้นที่เพียงพอ การแยกส่วนของลูกสุนัขหรือมีห้องพิเศษแยกออกไปก็จะดีมาก พื้นที่ส่วนนี้อาจใช้เลี้ยงลูกสุนัขหรือไว้ดูแลสุนัขป่วย หรือเอาไว้กักสุนัขที่เพิ่งได้มาเพื่อการตรวจสอบว่าไม่มีโรคภัยอะไรจะเข้ามาติดต่อสุนัขตัวอื่น
สำหรับเกือบทุกสายพันธุ์ การมีอ่างอาบน้ำแบบยกสูงขึ้นมาเป็นสิ่งจำเป็นมาก ถ้าคุณยังคงรักสุขภาพแผ่นหลังของคุณ (ลองจินตนาการว่าถ้าต้องก้มอาบน้ำสุนัขครั้งละหลายตัวติดต่อกันเป็นปีๆ อาการปวดหลังเรื้อรังมาเยือนก่อนเวลาอันควรแน่ครับ) แต่สำหรับพวกสายพันธุ์ยักษ์ใหญ่เช่น เกรตเดน หรือเซนต์เบอร์นาร์ด การมีฝักบัวหรือสายยางที่สามารถดึงสายออกมาถือได้ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะแค่ดึงสายลงมายืนอาบน้ำกับสุนัขของคุณได้
อย่าลืมหาพื้นที่ที่แห้งและไม่ร้อนเกินไปสำหรับเก็บอาหารสุนัข อุปกรณ์ และยาต่าง ๆ ซึ่งควรเป็นพื้นที่ที่สุนัขเข้าไปไม่ได้ และสำหรับกรณีความหรูหราสวยงาม การมีพื้นที่เอาไว้โชว์รายละเอียดการประกวด ใบพันธุ์ประวัติ รูปถ่ายการประกวด และโชว์รางวับที่ได้รับจากการประกวด ก็ดูเท่ดีไปอีกแบบ
การมีพื้นที่ของครัวออกมาต่างหากสำหรับสุนัขที่มีทั้งตู้เย็น อ่างล้างจาน หรือไมโครเวฟ ก็แปลว่าการเตรียมอาหารให้สุนัขก็สามารถเตรียมจากส่วนนี้ได้เลยไม่ต้องมาตระเตรียมจากในบ้าน โดยเฉพาะกรณีคนที่ให้ อาหารแบบ BARF หรืออาหารปรุงเอง
แม้ว่าวัสดุที่ใช้สร้างคอกสุนัขจะมีได้มากมายหลากหลาย แต่อิฐบล็อคก็เป็นสิ่งที่ใช้งานในกรณีนี้ดีที่สุด และใช้งบประมาณในการบำรุงรักษาต่ำ ถ้าต้องการจะสร้างคอกสุนัขเพื่อทำฟาร์มหรือคอกสุนัขอย่างจริงจัง วัสดุชนิดนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดี

3.ลู่วิ่งด้านนอก

มาถึงส่วนพื้นที่วิ่งด้านนอก วัสดุที่จะใช้ทำพื้นผิวมีไม่จำกัด คอนกรีตเป็นสิ่งที่ใช้กันมากที่เพราะล้างทำความสะอาดง่ายและป้องกันพวกชอบขุดได้อย่างดี
พื้นหินกรวดเป็นสิ่งที่หลายคนชอบ เพราะมีความเชื่อว่า จะช่วยให้อุ้งเท้าสวยงาม ถ้าใช้เป็นพื้นผิวที่ปูถัดจากการปูทรายในชั้นแรกก็จะระบายให้แห้งได้เร็ว แต่คงไม่ดีแน่ถ้าคุณจะใช้เลี้ยงสุนัขจอมขุดที่ต้องการขุดเพื่อสำรวจและค้นหาขยะหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ดิน ยิ่งถ้าเป็นช่วงฝนตกคงจะยิ่งสกปรกไปกันใหญ่ ทางออกในกรณีนี้คือปูอิฐบล็อคไว้แล้วค่อยเอาหินกรวดโรยทับอีกที สิ่งสกปรกก็จะน้อยลงแถมการระบายความชื้นก็ยังระบายได้ดี และในกรณีที่ป้องกันขนที่ร่วงแล้วฟุ้งกระจาย ผู้เพาะพันธุ์บางคนใช้สแลคปูพื้น (ภาษาอังกฤษเรียกว่า plastic matting) ปูทับบนหินกรวดก็ช่วยแก้ปัญหาได้ดี
แผ่นหินสำหรับปูพื้นที่ปูไว้ด้านบนของทรายก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ขณะที่บางคอกเห็นว่าอิฐมอญปกตินี่แหละง่ายที่สุด ปูง่าย ขยับเพื่อเปลี่ยนรูปแบบง่าย ล้างทำความสะอาดง่าย แห้งง่าย ปรับเข้าได้กับเกือบทุกลักษณะพื้นผิวและดีต่อเท้าสุนัข แต่ก็อาจราคาค่อนข้างสูง
รั้วที่ใช้ล้อมส่วนของพื้นที่ลู่วิ่ง รั้วตาข่ายเป็นอุปกรณ์ยอดนิยม ความสูงและขนาดของรั้วตาข่ายขึ้นอยู่กับขนาดของสายพันธุ์ที่จะใช้เลี้ยง ส่วนของหลังคาพื้นที่ลู่วิ่งก็แล้วแต่ว่าจะให้มีหรือไม่ แต่ถ้ามีไว้ก็จะดีกว่า แผ่นหลังคาแบบโปร่งแสงก็จะปล่อยให้แสงเข้าบางส่วนขณะที่ก็ยังกันแสงได้บางส่วนและกันฝนได้ สแลนกันแดด (ฝรั่งเรียกว่า shade cloth) ก็เป็นวัสดุราคาถูกที่ช่วยกรองแสงแดดในเวลาที่แสงแดดส่องตรงลงมา ช่วยให้ความร้อนลดลง
สำหรับประตูปิดเปิดเพื่อเข้าในส่วนของลู่วิ่งก็ต้องคำนึงถึงเช่นกัน เจ้าของคอกสุนัขพันธุ์บอร์ซอยที่แคนาดาติดตั้งประตูปิดเปิดในส่วนของลู่วิ่งในฤดูร้อนแต่ปรากฏว่าพอฤดูหนาวมาถึงและหิมะตกหนัก เขาต้องทำการขุดหิมะออกทุกครั้งที่ต้องการเดินเข้าออกตรงส่วนนี้ ดังนั้นการสร้างธรณีประตูให้มีความสูงขึ้นมาก็แก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ รวมทั้งยังป้องกันไม่ให้ลูกสุนัขเล็กวิ่งหลุดออกมาได้กรณีที่เราเผลอทำประตูเปิดไว้
ส่วนทางประตูที่เข้าจากด้านลู่วิ่งสู่กรงนอนด้านใน ตรงนี้ใช้วัสดุอะไรก็ได้ที่ง่าย ๆ อาจเป็นแค่ประตูปิดเปิดของสุนัขที่สามารถวิ่งเข้าออกเองก็ได้ หรือถ้าอยากทำแบบสามารถขังสุนัขไว้ด้านในกรงนอนได้ด้วย ก็อาจสร้างล็อคตรงประตูเข้าออกในส่วนนี้ หรืออาจทำเป็นพูลลี่ ที่ใช้ระบบไฟฟ้าเพื่อควบคุมให้ปิดเปิด เพื่อไม่ต้องลำบากในการเดินเข้าไปปิดเปิดด้านในกรง

4. ต่างสายพันธุ์ ต่างความต้องการ

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “คอกในอุดมคติ” ที่สามารถเหมาะสมไปกับสุนัขทุกสายพันธุ์ คอกที่ดีมากสำหรับพันธุ์หนึ่งอาจเป็นหายนะสำหรับอีกพันธุ์หนึ่งก็ได้ คอกสุนัขจึงเป็นสิ่งเฉพาะตัวที่ควรวางแผนและสร้างให้เหมาะสมกับสิ่งที่สายพันธุ์ต้องการ และง่ายต่อการใช้งานของเจ้าของ

หวังว่าบทความนี้ จะช่วยสร้างแนวคิดในการทำคอกสุนัขให้แก่ผู้ที่สนใจจะสร้างคอกสุนัข เพื่อสร้างคอกที่เหมาะกับสุนัขของตัวเองได้นะครับ

จากบทความ “The ABCs of Kennel Planning”
โดยคุณ Alice Bixler ในหนังสือ DOG WORLD เดือนมกราคม ปี 2008

แปล ให้ทรรศนะ และปรับบริบทให้เข้ากับประเทศไทยโดย นายพันธุ์นุชิต โปษยานนท์ (ครูนล)
ผู้ก่อตั้ง เจ้าของ ผู้ฝึกสอนชั้นเรียนสุนัข Nol’s Puppy Class และ Nol’s Private Dog Class
www.facebook.com/nolpuppyclass