มาเรียนรู้เทคนิคเพาะสปอร์เฟินก้านดำกัน

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมไม้ประดับหลายชนิดที่ซื้อมาปลูกเลี้ยง ทั้งที่ปลูกลงในกระถางตั้ง กระถางแขวน และปลูกลงดินตกแต่งสวน นานวันเข้ากลับเกิดลูกออกหลานทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้ลงมือขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเฟินประดับบางชนิดที่งอกแซมตามต้นไม้และกระถางพืชอื่นจนกลายเป็นวัชพืชที่ต้องปลิดทิ้ง

นั่นเป็นเพราะเฟินและพืชในกลุ่มใกล้ชิดที่เรียกรวมกันว่า Pteridophytes เป็นพืชไร้ดอกที่แพร่พันธุ์ในธรรมชาติโดยอาศัยสปอร์ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋วคล้ายฝุ่น เมื่อสปอร์ได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็สามารถเกิดเป็นต้นใหม่จำนวนมากในเวลาไม่นาน

เฟินก้านดำจัดเป็นพรรณไม้อันดับต้น ๆ ที่หลายคนนิยมสะสมและปลูกเลี้ยงเพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับสวน เนื่องจากมีเอกลักษณ์ตรงก้านใบสีดำมันวาว ใบอ่อนช้อยบอบบางทั้งยังมีสีเขียวหลากเฉด สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมกันในปัจจุบันคือการเพาะสปอร์ เนื่องจากได้ผลผลิตจำนวนมาก อีกทั้งยังเจริญเติบโตเร็ว หากผลิตเป็นการค้าก็สามารถนำออกจำหน่ายได้เร็วกว่าเฟินสกุลอื่น

สำนักพิมพ์บ้านและสวนจึงนำเทคนิคเพาะสปอร์เฟินก้านดำที่ได้ผลดี จากคำแนะนำของคุณภัทรา แสงดานุช ผู้เขียนหนังสือ เฟินก้านดำ ADIANTUM มาฝากกัน

เทคนิคเพาะสปอร์เฟินก้านดำ

Step 1 ตักพีทมอสส์ใส่ในกล่องพลาสติกใสโดยกะให้หนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร กดให้เรียบ แล้วใช้น้ำต้มเดือดฆ่าเชื้อโรคและสปอร์จากเชื้อรา รวมทั้งสปอร์เฟินไม่พึงประสงค์ชนิดอื่น ๆ โดยอาจสเปรย์ด้วยกระบอกฉีดน้ำ หรือค่อย ๆ รดลงไปก็ได้ จากนั้นปิดฝากล่องทันที วางทิ้งไว้จนคลายความร้อนก่อนนำมาเพาะสปอร์

Step 2 ใช้พู่กันที่แห้งแตะผงสปอร์ แล้วค่อย ๆ เคาะให้กระจายลงไปบนพีทมอสส์ หรือใช้วิธีเคาะแผ่นกระดาษเบา ๆ เพื่อให้สปอร์ร่วงลงไป ไม่ควรโรยสปอร์หนาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้แย่งพื้นที่กันในการเจริญเติบโต

Step 3 สเปรย์บาง ๆ ด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ (อาจใช้สารป้องกันเชื้อราผสมน้ำอัตราส่วนเจือจาง) ขั้นตอนนี้จะชะล้างผงสปอร์ที่อาจปลิวไปติดอยู่ข้างกล่องให้ไหลลงไปบนวัสดุเพาะ และช่วยให้สปอร์ที่อาจร่วงลงไปเป็นกระจุกกระจายตัวมากขึ้น เสร็จแล้วรีบปิดฝา นำไปไว้ในที่มีแสงสว่างเพียงพอ หากร่มเกินไปสปอร์อาจงอกช้าหรือไม่งอก แต่ก็ต้องระวังอย่าให้ถูกแสงแดดจัดโดยตรง

Step 4 สปอร์จะเริ่มงอกคล้ายกับพรมสีเขียวภายในเวลา 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดเฟิน แล้วค่อย ๆ เติบโตขึ้นเป็นโพรแทลลัส ก่อนพัฒนาเป็นใบจริง

Step 5 ในระยะโพรแทลลัสหากเจริญเติบโตจนเบียดกันแน่นเกินไป ควรแยกปลูกโดยใช้วัสดุอุปกรณ์แบบเดิม ให้ใช้ปากคีบแยกออกมาเป็นกระจุก ปลูกเรียงแถวเว้นระยะห่าง 1-2 เซนติเมตร จะช่วยให้เฟินเจริญเติบโตเร็วขึ้น

Step 6 หลังจากเฟินเริ่มงอกใบจริงเป็นกอเล็ก ๆ สามารถแยกปลูกลงถาดเพาะชำหรือกระถางอนุบาล ในระยะนี้ยังต้องควบคุมความชื้นโดยหุ้มด้วยถุงพลาสติกใสหรือเลี้ยงในตู้อบ หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ เปิดให้ลูกไม้ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมภายนอกทีละนิด เมื่อผลิใบชุดใหม่และแข็งแรงดีแล้วจึงนำออกมาเลี้ยงข้างนอกตามปกติ

ภาชนะใช้แล้ว เช่น กล่องขนมก็สามารถนำมาเพาะสปอร์ได้
ตู้ปลาเก่าดัดแปลงเป็นตู้อบลูกเฟิน

Tips

– เฟินก้านดำบางชนิดให้สปอร์น้อยมากและบางครั้งไม่แตกออกมาเอง หากวางทิ้งไว้ 2-3 วันแล้วยังไม่ได้สปอร์ อาจใช้นิ้วมือคลึงใบเฟินเบา ๆ เพื่อให้อับสปอร์หลุดร่วงออกมา ซึ่งแน่นอนว่ามีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่สปอร์ปะปนมาด้วย แต่หากได้สปอร์ที่สมบูรณ์ก็สามารถเพาะขึ้นได้เช่นกัน

– สามารถใช้ตะกร้าหรือภาชนะอื่น ๆ เพาะสปอร์ได้ โดยหุ้มด้วยถุงพลาสติกใสเพื่อควบคุมความชื้น

– หากพื้นที่วางกล่องเพาะสปอร์ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ สามารถติดตั้งหลอดไฟนีออนโกรลักซ์ซึ่งใช้สำหรับตู้ปลา ช่วยเพิ่มแสงสว่างและเร่งการเจริญเติบโตได้


ระหว่างการเพาะสปอร์เฟินก้านดำ อาจพบปัญหาเชื้อราและตะไคร่ ซึ่งมีลักษณะเป็นใยสีขาวหรือเป็นเมือกลื่น ๆ สีเขียวคล้ำขึ้นปกคลุมในกล่อง แก้ปัญหาโดยการฉีดพ่นด้วยสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น แคปเทน (captan) เบโนมิล (benomyl) โดยผสมน้ำอัตราส่วนเจือจางกว่าที่ระบุในฉลาก นอกจากนี้ ยังอาจพบปัญหาสปอร์ไม่งอกซึ่งอาจเพราะเก็บสปอร์ตอนที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือส่วนที่นำมาเพาะนั้นไม่ใช่สปอร์แต่เป็นเพียงสิ่งปะปนอื่น ๆ ก็ได้ หรือปัญหาโพรแทลลัสไม่งอกใบจริง นั่นอาจเพราะอยู่ในที่ร่มเกินไป แน่นเกินไป หรือแห้งเกินไป แก้ปัญหาโดยการย้ายที่วางกล่องเพาะให้ได้รับแสงมากขึ้น แยกปลูกให้มีพื้นที่สำหรับการเจริญเติบโต หรือสเปรย์น้ำเพิ่มให้มีความชุ่มชื้นเพียงพอ

เชื้อราเป็นปัญหาสำคัญในการเพาะสปอร์

นอกจากเทคนิคเพาะสปอร์เฟินก้านดำแล้ว สามารถเรียนรู้เทคนิคการผ่าแยกกอ การชำต้นอ่อนที่เกิดจากตาพิเศษปลายใบ รวมถึงการปลูกเลี้ยงเฟินก้านดำให้สำเร็จได้เพิ่มเติมในหนังสือ เฟินก้านดำ ADIANTUM โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน

เฟินก้านดำ Adiantum

เรื่องและภาพ: ภัทรา แสงดานุช

เรียบเรียง: อังกาบดอย