ต้นไม้ล้มอย่ามองข้าม

จากหนังสือ 100 ความรู้คู่สวน โดย ครูต้อ-ธราดล ทันด่วน

สั่งซื้อได้ที่นี่

หน้าฝนทีไร มักพบปัญหาต้นไม้ใหญ่โค่นล้มตามหมู่บ้าน ทำความเสียหายให้กับบริเวณข้างเคียง ซึ่งสาเหตุที่ต้นไม้ล้มนั้นเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งแรงลมและปริมาณน้ำฝนที่สั่งสมบนเรือนยอด รวมถึงปัญหาจากโครงสร้างภายในของต้นไม้เอง  แล้วเราจะทำอย่างไรให้ต้นไม้ในบ้านเรายืนต้นสง่างามท้าลมและฝนได้

ต้นไม้ล้ม

ก่อนอื่นลองมาทำความเข้าใจกับลักษณะโครงสร้างต้นไม้เมื่อต้องกระแสลมกัน

ต้นไม้ใหญ่เมื่อโต้ลม

เมื่อต้นไม้ปะทะกับลมแรง แรงลมที่กระทำต่อเรือนยอด จะส่งผ่านลำต้นไปกระทำต่อระบบราก โดยมีจุดหมุนอยู่ที่ระดับผิวดิน ด้วยเหตุนี้ ต้นที่สูงกว่าเมื่อปะทะกับกระแสลมที่รุนแรง จะส่งผ่านแรงลงไปกระทำต่อระบบรากได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ตามหลักของคานดีด – คานงัด นั่นเอง ดังนั้น ก่อนปล่อยให้ต้นไม้สูงใหญ่มากๆต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า ระบบรากของต้นไม้ต้นนั้นๆ แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ แต่เนื่องจากรากแก้วของต้นไม้ใหญ่ในเมืองร้อน มักเสื่อมสภาพลงเมื่อต้นไม้ต้นนั้นมีอายุสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ ระบบรากแขนง โดยเฉพาะรากแขนงผิวดิน จึงมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงของต้นไม้ต้นนั้นในระยะยาว

กระแสลม รากตั้งตรงยึดดินได้ดี รากคดงอไม่มั่นคง

เมื่อปะทะกระแสลม รากแขนงด้านต้นลม จะส่งแรงไปเหนี่ยวรั้งลำต้นไว้ ในทางกลับกัน รากแขนงด้านใต้ลม จะส่งแรงผลัก ไปค้ำยันลำต้นไว้ ด้วยเหตุนี้ รากแขนงผิวดินที่มีโครงสร้างดีควรกระจายตัวออกไปทุกด้านอย่างสมดุล มีลักษณะคล้ายเส้นรัศมีที่ตรง กระจายออกไปจากไปลำต้น จึงมีความสามารถเหนี่ยวรั้งและค้ำยันต้นไม้ได้สูงสุด ส่วนรากที่โค้ง พับงอ มีความสามารถในการเหนี่ยวรั้งต้นไม้ลดลง จึงควรตัดส่วนที่โค้งงอออก เพื่อให้เกิดรากเส้นใหม่ที่ตรงซึ่งจะช่วยเหนี่ยวรั้งต้นไม้ได้ดีกว่านั่นเอง

 

ต้นไม้ล้ม เกิดจากสาเหตุใด : สาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ล้มนั้น หลักๆ มีอยู่ 2 ปัจจัย คือ

ปัจจัยภายนอก ได้แก่

  • ปริมาณน้ำฝนที่สะสมบนเรือนยอด ทำให้น้ำหนักทรงพุ่มเพิ่มขึ้น
  • แรงลมที่มาปะทะต้นไม้ โดยเฉพาะหากบริเวณที่ปลูกนั้นมีลมพัดผ่านอยู่เสมอ หรือเป็นช่องลม
  • ดินที่อ่อนตัวหลังฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้ระบบรากยึดเกาะดินได้ลดลง

 

ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่

  • ลำต้น (Trunk) เช่น การยืนต้นตาย, เอนเอียง, เสียศูนย์, ลำต้นเป็นง่าม, เนื้อไม้แตก, เปลือกมีแผล, ลำต้นผุเป็นโพรง หรือเรียวเล็กไม่เหมาะสม
  •  เรือนยอด (Crown)  มีกิ่งแห้งตายหรือกิ่งผุค้างอยู่บนเรือนยอด,  กิ่งมีโครงสร้างไม่เหมาะสม เช่น ความยาวไม่สมดุลกับขนาดของกิ่ง, โครงสร้างเรือนยอดไม่ดี เช่น ถ่วงน้ำหนักออกนอกฐานลำต้น หรือมีเรือนยอดหนาทึบเกินควร
  • ระบบราก (Root System) เปลือกรากแตก, รากเสียหายผุเป็นโพรง, เกิดการชะล้างของหน้าดิน, รากถูกงัดให้ลอยตัวขึ้น หรือ โครงสร้างไม่ดี รากขดงอ ฯลฯ

ป้องกันไว้ก่อน

 การที่ ต้นไม้ล้ม มักเกิดจากสองปัจจัยหลักประกอบกัน แม้ปัจจัยภายนอกจะป้องกันได้ยาก แต่เราสามารถเตรียมพร้อมเรื่องปัจจัยภายในได้ เพื่อให้ต้นไม้ลดความเสี่ยงลงในระดับหนึ่ง

  • ก่อนปล่อยให้ต้นไม้สูงใหญ่ ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่า ระบบรากของต้นไม้ต้นนั้นแข็งแรงเพียงพอ
  • หากย้ายต้นไม้ลงปลูกในช่วงที่ต้นเริ่มสูง หรือปลูกมานานแต่ทรงเอนเอียง ควรค้ำยันและตรวจสอบว่าการค้ำยันนั้นมั่นคงพอหรือไม่
  • ควรตัดแต่งกิ่งต้นไม้ไม่ให้หนาทึบ รวมถึงควบคุมขนาดของทรงต้นให้สัมพันธ์กับเรือนยอดอยู่เสมอ  เพื่อให้เกิดความสมดุล
  • หมั่นสังเกตต้นไม้ หากพบว่ามีกิ่งแห้งหรือผุบนเรือนยอด ควรตัดแต่งและสางออก ตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูฝน
  • วางโครงสร้างต้นไม้ให้รากแก้วตั้งตรงตั้งแต่ต้นยังเล็ก**
  • สำหรับต้นไม้ที่ต้องการให้สูงใหญ่ ควรอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดกีดขวาง และปล่อยให้รากแขนงมีพื้นที่แผ่กว้างเพียงพอ (สมดุลกับเรือนยอด) เพื่อช่วยยึดลำต้นอีกแรง
  • ในช่วงที่ต้นไม้เติบโต หากพบรากแขนงบนผิวดินโค้งงอไม่ได้รูป ควรตัดส่วนนั้นออก เพื่อให้เกิดรากเส้นใหม่ที่แผ่ตรงซึ่งจะช่วยเหนี่ยวรั้งต้นไม้ได้ดีกว่า

ก่อนเข้าฤดูฝนทุกครั้ง จึงควรสำรวจต้นไม้อย่างถี่ถ้วน และหาทางป้องกันในเบื้องต้น เพื่อลดปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ลง เพื่อเราจะได้มีต้นไม้ใหญ่ที่สง่างามให้ความร่มรื่นคู่บ้านอยู่ทุกฤดูกาล

tips

ต้นไม้ที่ได้จากการเพาะเมล็ดส่วนใหญ่ มีระบบรากอยู่ 2 ประเภท คือ

1.รากแก้ว (Tap root) ทำหน้าที่คล้ายเสาเข็มให้กับต้นไม้ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเจริญเติบโต เพื่อให้ได้กล้าไม้ที่มีรากแก้วเหยียดตรง ในช่วงย้ายกล้าจากแปลงเพาะเมล็ด ให้สังเกตระดับคอดินไว้ด้วย หากพบว่ากล้าไม้ต้นนั้น มีรากแก้ว(ขนาดเล็ก เรียวยาว)ยาวเกินควร ให้เด็ดปลายรากแก้วออกบ้างให้ยาวสมดุลกับขนาดลำต้น ช่วงที่ปลูกลงดิน ให้หย่อนกล้าไม้โดยให้ระดับคอดิน(เดิม) อยู่ลึกกว่าผิวดินในถุงชำเล็กน้อย ขณะที่ใช้มือข้างหนึ่งกดดินรอบๆรากให้แน่น ให้ใช้มืออีกข้างหนึ่ง ดึงต้นกล้าขึ้นมาเบาๆ จนกระทั่งระดับคอดินของต้นกล้ากลับมาอยู่ที่ผิวดินในถุงชำ แล้วจึงกดดินให้แน่นได้ หากไม่ข้ามขั้นตอนนี้ รากแก้วของกล้าไม้ทุกต้นจะเหยียดตรงตามที่ต้องการ และหากต้องการย้ายกล้าจากถุงพลาสติกลงกระถางที่ใหญ่ขึ้น ควรตัดดินบริเวณก้นถุงออกเล็กน้อย เพื่อตัดรากที่มักขดอยู่ก้นถุงออกเสียก่อน

ทั้งสองขั้นตอนนี้ ทำให้ต้นกล้าที่ลงปลูกใหม่ตั้งตัวได้เร็ว และมีอัตราการเจริญเติบโตดี

2.รากแขนง (Lateral root) ทำหน้าที่คล้ายคานคอดิน เพื่อสร้างความมั่นคงให้ต้นไม้ในระยะยาว ต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมาก จะยืนต้นได้อย่างมั่นคง ต้องมีรากแขนงผิวดินที่สมบูรณ์ รากแต่ละเส้นเหยียดตรงออกจากศูนย์กลางลำต้น และกระจายตัวออกไปทุกด้านอย่างสมดุล ทั้งนี้รากแขนงผิวดินของต้นไม้ อาจไม่โผล่เป็นสันขึ้นมาเหนือดินเสมอไป มีข้อสังเกตว่า ต้นไม้จากป่าชายเลน ป่าพลุป่าบึง เช่น ต้นหูกวาง มีแนวโน้มจะมีรากที่เติบโตเป็นสันขึ้นมาเหนือดิน แต่ต้นไม้หลายชนิดมีรากแขนงผิวดินที่จมอยู่ใต้ดิน ซึ่งสังเกตเห็นได้ยากกว่า


เรียบเรียง “ทิพาพรรณ”

ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย, สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

ภาพประกอบ วารุณี อนุรักษ์ชนะพล