เดินทอดน่อง ท่องท่าเตียน เที่ยวกรุงฯ ดูอาคารเก่า

จากโลเคชั่นสำคัญในนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน บทประพันธ์ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ที่เล่าถึงตลาดท้ายวัง เป็นแหล่งฮอตฮิตที่สาวชาววังเหล่านางสนม จะต้องมาเดินช็อปปิ้งจับจ่ายสินค้าแฟชั่นในยุคนั้น  โลเคชั่นที่หนุ่มชาวพระนครจะต้องปักหมุดดักรอสาวจ้าวเสน่ห์ในทุกเช้า ตลาดหลังวังที่ถูกกล่าวอ้างนั้นปัจจุบันคือท่าเตียน แม้เรื่องเล่าในนิยายจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นและไม่ใช่เรื่องจริงเสียทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งของบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้กล่าวอ้างเกินกว่าความจริง เพราะโลเคชั่นที่เคยเป็นทำเลทองในช่วงหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ อย่าง ท่าเตียน เคยรุ่งโรจน์ ก่อนจะแผ่วเบาตามกาลเวลา แต่ตอนนี้ ท่าเตียน กำลังฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ฟื้นคืนชีพครั้งที่ 1 จุดกำเนิดของท่าเตียนไม่ได้เริ่มต้นในยุครัตนโกสินทร์ แต่ย้อนเวลากลับไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงจัดแบ่งที่ดินบริเวณนี้ให้เป็นพักอาศัยของชาวต่างชาติที่เดินทางด้วยเรือสินค้าเข้ามาค้าขายกับกรุงศรี มีทั้งชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส จีน แต่หลังจากเปลี่ยนบรรลังก์พื้นที่ตรงนี้ก็ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการทางน้ำด่านเก็บภาษี และเป็นแหล่งค้าขายเรื่อยมา เข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อเมืองหลวงถูกย้ายจากกรุงธนบุรีมายังอีกฟากฝั่งของเจ้าพระยา เรียกกันว่าฝั่งพระนคร ท่าเรือแห่งนี้ถูกใช้เป็นโรงเก็บเรือรบขนาดใหญ่และถูกสั่งห้ามเข้าอยู่อาศัยเพื่อป้องกันอัคคีภัย หลังจากนั้นโรงเรือรบถูกย้ายไปเก็บที่เมืองนนทบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวังแด่พระประยูรญาติ ก่อนจะถูกไฟใหม่จนราบเตียน ว่ากันว่าเป็นที่มาของชื่อ ท่าเตียน นั่นเอง ฟื้นคืนชีพครั้งที่ 2 ท่าเตียนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขาย ในช่วงรัชกาลที่4 เกิดหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษและประเทศสยาม หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาเบาว์ริง เปิดทางให้การค้าเสรีระหว่างต่างชาติกับสยามประเทศได้อย่างคล่องตัว สินค้าขนส่งทางเรือจากยุโรปจะถูกส่งเข้าวังก่อนนำมาจำหน่ายที่ตลาดหลังวังหรือตลาดท้ายสนม ที่อยู่ติดกับท่าป้อมบางกอก หากอยากได้สินค้านำเทรนด์อย่าไปที่ไหนไกล […]