อยากต่อเติม… แต่กลัวบ้านทรุด

ปัญหาจากทางบ้าน:

ต่อเติมบ้านไว้เมื่อหลายปีก่อน แต่บ้านทรุดตัวและมีรอยร้าวตรงพื้นที่เชื่อมระหว่างบ้านเก่ากับบ้านใหม่ กำลังจะวางแผนต่อเติมบ้านอีกครั้งปีหน้า แต่กลัวว่าบ้านจะทรุดตัวไม่เท่ากันเหมือนคราวที่แล้ว จึงอยากทราบว่าต้องทำอย่างไรถึงจะช่วยป้องกันการทรุดตัวและแก้ปัญหาบ้านร้าวได้

The EDITORS:

โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่า การต่อเติมบ้านก็คือแค่การเพิ่มพื้นที่ของบ้านขึ้นมาเฉยๆ แต่ที่จริงเราต้องเปรียบให้เหมือนกับการปลูกบ้านเล็กๆ อีกหลังขึ้นมาข้างบ้านเก่าเลยทีเดียว การทรุดตัวของบ้านนอกจากการเห็นรอยแตกร้าวที่ภายนอกแล้ว ยังอาจส่งผลถึงสิ่งที่เรามองไม่เห็น อย่างปัญหาหลังคารั่วซึม หรืองานท่อและงานระบบต่างๆ อีกด้วยดังนั้นเราจึงควรพิจารณาเรื่องต่างๆ พร้อมไปด้วยดังนี้ค่ะ

 

1.1

1.2

  1. ต้องใช้เสาเข็มที่มีความยาวเท่ากับอาคารเดิมหรือยาวกว่าประมาณ 2 เมตร ไม่ว่าจะต่อเติมบ้านออกไปเป็นจำนวนชั้นเท่ากับอาคารเดิมหรือเพียงแค่ชั้นเดียวก็ตาม เพราะไม่ว่าอย่างไร อย่างน้อยปลายของเสาเข็มที่รองรับส่วนต่อเติมจะต้องอยู่บนชั้นดินเดียวกับอาคารเดิม จึงจะทำให้การทรุดตัวไม่แตกต่างกันมากนัก และถ้าเป็นไปได้ควรใช้เสาเข็มชนิดเดียวกัน เพราะเสาเข็มแต่ละชนิดถึงจะระบุไว้ว่ารับน้ำหนักเท่ากัน แต่ก็จะมีอัตราการทรุดตัวไม่เท่ากัน
  2. ต้องแยกโครงสร้างอาคารเดิมกับโครงสร้างส่วนต่อเติมให้ออกจากกันโดยเด็ดขาด เพราะถึงแม้ว่าจะใช้เสาเข็มชนิดเดียวกัน มีความยาวเท่ากันแต่อัตราการทรุดตัวของอาคารใหม่ก็จะมีมากกว่าอาคารเก่าอยู่ดี และเมื่อเราแยกโครงสร้างออกจากกันแล้ว ก็จะเกิดเป็นร่องเล็กๆ ตลอดแนว หากรอยต่อนั้นอยู่ภายในอาคารก็ให้ใช้วิธียาแนว เพื่อปิดช่องระหว่างรอยต่อนั้นๆ ด้วยซิลิโคน และให้หมั่นตรวจสอบสภาพซิลิโคนเหล่านั้นอยู่เสมอเพื่ออัดฉีดใหม่เมื่อซิลิโคนเสื่อมสภาพ หรือถ้าอยู่ภายนอกอาคาร ก็อาจออกแบบให้เป็นทางระบายน้ำแล้วโรยกรวดหรือหินสีเพื่อตกแต่งและปิดรอยต่อไปในตัว
  3. ในกรณีที่จุดเชื่อมต่อเป็นหลังคา ต้องแยกโครงสร้างเช่นเดียวกับจุดเชื่อมต่ออื่นๆ ทำปีกนกเพื่อบังน้ำฝนบริเวณรอยต่อ และไม่ควรให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของหลังคาของส่วนต่อเติมอยู่สูงกว่าหลังคาของอาคารเดิม เพราะอย่างไรก็ตามส่วนต่อเติมก็จะมีอัตราในการทรุดตัวสูงกว่าอาคารเดิม และหากมีฝ้าเพดานภายในก็ควรใช้วิธีการเล่นระดับลดหลั่นหรือดร็อปฝ้าเพดานเพื่อซ่อนรอยต่อ
  4. หลีกเลี่ยงการเดินงานระบบต่างๆโดยเฉพาะระบบประปา ด้วยวิธีการซ่อนในโครงสร้างผ่านบริเวณจุดเชื่อมต่อดังกล่าว หากจำเป็นควรใช้วิธีการเดินระบบแบบระบบลอยเพื่อให้สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่าย และใช้ข้อต่อชนิดที่ยืดหยุ่นได้ (ข้ออ่อน) เพื่อช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเมื่ออาคารเกิดการทรุดตัวคนส่วนใหญ่มักมองว่าการต่อเติมบ้านเป็นเรื่องไม่ยาก เมื่อพูดคุยกับผู้รับเหมาหรือช่างก็สามารถต่อเติมได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การต่อเติมบ้านเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ยุ่งยากตามมาได้ง่าย ดังนั้นเมื่อคิดจะต่อเติมบ้านควรต้องปรึกษาสถาปนิกหรือวิศวกรก่อนจะลงมือต่อเติมเสมอนะคะ