ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น
เป็นฉนวนที่ใช้พ่นบนวัสดุอีกชิดเพื่อทำหน้าที่กันความร้อน อย่างเช่นแผ่นหลังคาบ้าน ฝ้าเพดาน และผนังห้อง อายุการใช้งานยาวนาน ซึ่งแบ่งชนิดได้ดังนี้

1 เซรามิคสะท้อนความร้อน (Ceramic Coating) เป็นแผ่นฟิล์มที่ได้จากอนุภาคเซรามิคมาผสมกับอะคริลิกและส่วนผสมอื่นๆ สำหรับพ่นรอบๆ อาคาร ทั้งภายในและภายนอก ส่วนใหญ่จะนิยมเคลือบหลังคาและดาดฟ้า กระเบื้องมุงหลังคาบางยี่ห้อก็เคลือบ Ceramic Coating มาเรียบร้อย ในขณะเดียวกันสีทาภายนอกก็ยังเพิ่มฉนวนกันร้อนชนิดนี้ผสมเข้าไปในเนื้อสีด้วย ช่วยกันร้อนได้อีกเช่นกัน นอกจากจะกันร้อนได้แล้ว Ceramic Coating ยังกันน้ำซึมได้อีกด้วย

2 เยื่อกระดาษ (Cellulose) แม้จะไม่ค่อยได้ยินชื่อเท่าใดนักแต่ฉนวนกันร้อนเยื่อกระดาษก็มีคุณสมบัติไม่น้อยหน้าวัสดุอื่นๆ ทั้งควบคุมอุณหภูมิด้วยเส้นใยที่ผสมกันเป็นปุยนุ่น น้ำหนักเบา ป้องกันเสียงเข้าออก ไม่ลามไฟ และยังมีคุณสมบัติเฉพาะคือไม่เป็นแหล่งอาหารของหนู แมลงสาบ ปลวก ฉีดได้ในหลายพื้นผิวทั้ง เหล็ก ไม้ เหมาะสำหรับติดตั้งบริเวณใต้หลังคา โพรงหลังคา และฝ้าเพดาน
สร้างบ้านเย็นด้วย 9 ภูมิปัญญาการสร้างบ้านแบบไทย ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับบ้านในเมืองร้อน
จะเลือกฉนวนกันร้อนต้องดูอะไรบ้าง

1 ค่ากันความร้อน วิธีพิจารณาอันดับแรกคือค่ากันความร้อนของวัสดุแต่ละชนิดซึ่งมักจะระบุไว้ในฉลากของบรรจุภัณฑ์ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ “ค่า R ตัวเลขสูงๆ ค่า K ต้องต่ำๆ” ซึ่งค่า R คือ Resistivity หรือค่าความต้านทานความร้อนของฉนวน ตัวเลขที่กำกับไว้จะบอกว่า ฉนวนชนิดนั้นต้านทานความร้อนที่เข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งตัวเลขมากยิ่งดี มีหน่วยเป็น m2K/W หรือ hr.ft2. F/Btu
ส่วนคือ K คือ K-value หรือ conductivity เป็นค่าที่บอกว่า ฉนวนชนิดนั้นมีคุณสมบัตินำความร้อนมากน้อยแค่ไหน ตามธรรมชาติแล้ว อากาศร้อนจะเข้าไปแทนที่อากาศที่เย็นกว่าเสมอ แต่ถ้าวัสดุนั้นมีค่าการนำความร้อนต่ำ อากาศร้อนก็จะผ่านตัวฉนวนเข้ามาที่ตัวบ้านได้น้อยลง ค่า K ตัวเลขยิ่งต่ำก็ยิ่งดี มีหน่วยเป็น W/m.k.
สูตรของการคำนวณคือ R = ความหนาของวัตถุ / ค่าการนำความร้อน(K)
อีกส่วนสำคัญคือ ค่า Thermal Capacity หมายถึงความสามารถในการเก็บหรือสะสมความร้อนของตัวฉนวน ยิ่งตัวเลขน้อยๆ ก็แสดงว่าฉนวนชนิดนั้นสะสมความร้อนไว้ในตัวฉนวนต่ำ ส่วนใหญ่แล้วค่า Thermal Capacity ยิ่งต่ำก็ยิ่งดี มีหน่วยเป็น kcal/m.h Oc
2 ชนิดของฉนวนกับตำแหน่งที่ติดตั้ง ตำแหน่งสำหรับติดตั้งฉนวนก็มีส่วนสัมพันธ์กันกับชนิดของฉนวนด้วย อาทิฉนวนใยแก้วทำหน้าที่ดูดซับความร้อน ซึ่งมีความหนาและราคาค่อนข้างสูงมักจะติดตั้งตรงใต้หลังคาซึ่งเป็นแหล่งสะสมความร้อนหลักๆ ในขณะที่ฉนวนอะลูมิเนียมฟอยล์ที่สะท้อนความร้อน มีความบาง น้ำหนักเบา จะเหมาะกับติดตั้งบริเวณผนังส่วนที่โดนแดดอย่างผนังในทิศตะวันตก หรือติดตั้งตรงหลังคาโรงจอดรถ ครัวต่อเติมที่ต้องใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา การเลือกชนิดของฉนวนติดตั้งบนฝ้าเพดานต้องอย่าลืมว่าฉนวนกันร้อนจะต้องไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนู หรือเสี่ยงต่อแมลงกัดแทะอันก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
3 ราคา นอกจากราคาต่อตารางเมตรที่จะต้องพิจารณาในการเลือกซื้อในขั้นต้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือค่ากันความร้อนที่บอกไว้ในขั้นต้น ให้ลองเปรียบเทียบราคาของฉนวนกันร้อนที่เลือกในใจกับราคาของฉนวนกันร้อนชนิดอื่น เช่น ฉนวน A กันความร้อนได้น้อยกว่าฉนวน B ครึ่งหนึ่งแต่ราคาถูกกว่าไม่เกินครึ่ง ซึ่งหากเลือกฉนวน A ต้องใช้จำนวนมากกว่าถึงสองเท่าจึงจะกันร้อนได้ดีเท่าฉนวน B เมื่อเฉลี่ยราคาแล้วกลายเป็นว่า ฉนวน A ราคาสูงกว่า เป็นต้น

แหล่งจำหน่ายฉนวนกันร้อนสามารถหาซื้อได้ในร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างทั่วไป ซึ่งสินค้าบางชนิดก็มีตัวแทนจำหน่ายเฉพาะพร้อมบริการติดตั้งด้วย สามารถเลือกตามกำลังทรัพย์ที่เหมาะสมได้
เรื่อง : JOMM YB