ใต้ถุนบ้าน เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งในมุมมองของคนไทย ใต้ถุนบ้านนั้นเกิดจาก “เสาสูง” หรือ “เรือนเสาสูง” ทำให้เกิดพื้นที่ใต้พื้นบ้านนั่นเอง
ใต้ถุนบ้าน เป็นพื้นที่กึ่งภายในและภายนอก มีความร่ม แต่มีลมพัดผ่าน จึงเหมาะกับภูมิอากาศของไทยที่ร้อนชื้น อย่างในช่วงบ่ายจะมีแสงแดดจัด ทำให้บริเวณด้านบนบ้านค่อนข้างร้อนมาก คนไทยในอดีตจึงมักจะลงมาทำกิจกรรมต่างๆในบริเวณใต้ถุนของบ้าน ไม่ว่าจะเป็น นั่งพักผ่อน รับแขก ทำงานหัตถกรรม และเลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญการยกใต้ถุนสูงจะช่วยระบายอากาศ ทำให้ลมพัดผ่านใต้ถุนและตัวบ้านก็ยังช่วยบังแดดอีกด้วย
การปลูกบ้านที่มีใต้ถุนบ้าน สามารถปลูกได้ทั้งพื้นที่ราบลุ่ม หรือที่ดอนสูง หากปลูกในพื้นที่ราบลุ่ม หรืออยู่ใกล้กับแม่น้ำนั้น ก็จะปลอดภัยจากสัตว์ร้าย หรือคนร้ายในยามค่ำคืน และยังเป็นการป้องกันน้ำท่วมถึงตัวบ้านอีกด้วย ที่สำคัญไปกว่านั้น เสน่ห์ของใต้ถุนบ้านยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ระหว่างผู้คน ชาวบ้านมีการพึ่งพาอาศัยและทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันอยู่เสมอ
เห็นถึงข้อดีและประโยชน์ของภูมิปัญญาพื้นถิ่นอย่างการมีใต้ถุนบ้านแล้ว เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็น่าจะชื่นชอบไม่น้อย และเพื่อเป็นไอเดียให้ได้นำไปปรับใช้กับการออกแบบบ้านของคุณ วันนี้ my home จึงรวมตัวอย่างไอเดียใต้ถุนบ้านในรูปแบบต่างๆมาฝากกันค่ะ
เจ้าของบ้าน : คุณวิทย์-ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง และ คุณแป๊ะ จาตุรงค์ ขุนกอง
เรือนไม้แบบไทยยกพื้นสูง จัดพื้นที่ใต้ถุนให้เป็นมุมนั่งเล่น มุมด้านในจัดเป็นครัวเล็กๆดูน่ารัก ถัดมาเป็นห้องน้ำสีขาวและบันไดขึ้นสู่ชั้นสอง สีขาวของตัวบ้านตัดกับสีของท้องฟ้าและสีเขียวจากต้นไม้ของสวนสไตล์อังกฤษให้ความสุขสดใสตั้งแต่แรกเห็น
จัดมุมเก้าอี้ไม้สีขาวใต้ถุนบ้านสำหรับเป็นพื้นที่ทานมื้อกลางวันแบบสบายๆ ในบรรยากาศสวยๆ โดยเลือกใช้กระเบื้องลายโบราณสีขาวปูทุกพื้นที่ให้ความรู้สึกโรแมนติกและสบายตา
เจ้าของบ้าน : คุณฐิ- ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี
บ้านสไตล์โมเดิร์นโครงสร้างเหล็ก ขนาดไม่ใหญ่นักแฝงตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ ตัวบ้านยกพื้นสูงขึ้นมาอีก 3 – 4 ขั้น เพื่อป้องกันความชื้นและช่วยถ่ายเทความร้อน เน้นการออกแบบพื้นที่ว่างและการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมมากกว่าการประดับตกแต่ง
ส่วนนั่งเล่นชั้นล่างออกแบบให้เปิดโล่งลมจึงถ่ายเทได้ดี พร้อมทั้งผนังระแนงไม้เพื่อแบ่งพื้นที่ที่ดูเป็นสัดส่วน ส่วนนี้เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเพื่อความสะดวกในการใช้งานและเคลื่อนย้ายง่าย