บ้านโมเดิร์น สีขาว หน้าตาสุดล้ำกว่าใครในย่าน จนถูกขนานนามว่า ‘บ้านยานอวกาศ’ อันเป็นฉายาที่รู้กันระหว่างแขกที่จะมาเยี่ยมเยียนใช้บอกกับรปภ.หน้าหมู่บ้าน เเต่นอกจากจะสุดคูลด้วยรูปลักษณ์ที่ดูไม่ซ้ำใครเเละสีขาวที่โดดเด่นแล้ว ยังมีโจทย์สำคัญนั่นคือ บ้านนี้ต้องไร้จิ้งจก!
จากคอนเซ็ปต์การออกแบบที่พอใครต้องฟังเเล้วก็ต้องร้องว้าววะสถาปนิกจะมีวิธีการอย่างไร ภายใต้บ้านยานอวกาศหน้าตาไม่ธรรมดา เเตกต่างกว่าบ้านหลังอื่น ๆ ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกันทุกหลัง ก่อนอื่นต้องไปฟังที่มาจากคุณอรวรรณ อัคคชญานนท์ เจ้าของบ้าน โดยเธอเล่าว่าคุณพ่อคุณเเม่ต้องการให้ลูกมาอยู่ใกล้ ๆ กัน จึงติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงติดกันเพื่อสร้างบ้านในแบบลูกชอบ จนกลาย บ้านโมเดิร์น สีขาว คูลที่สุดในหมู่บ้านอย่างที่เห็น
ขณะที่ภายใต้กลับมีความเรียบนิ่ง ซึ่งผู้ออกแบบจาก Ayutt and Associates Design นำทีมโดย คุณอยุทธ์ มหาโสม ได้เล่าให้ room ฟังถึงที่มาของการรับออกแบบบ้านหลังนี้โดยมี ‘ความท้าทาย’ เป็นแรงผลักดันสำคัญว่า
“ผมรับออกแบบบ้านหลังนี้ เพราะเจ้าของบ้านกลัวจิ้งจกมาก ความท้าทายในการออกแบบคือ ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้มีจิ้งจกเข้ามาในบ้าน” ซึ่งการจะทำให้บ้านในเขตเมืองร้อนชื้นอย่างประเทศไทยไม่มีจิ้งนั้นกลับเป็นเรื่องที่ยากกว่าที่คิด เริ่มแรกผู้ออกแบบจึงต้องหาข้อมูลเยอะมากทั้งเรื่ององศาของหลังคาและบ้าน”
เพื่อไม่ให้เอื้อต่อการเกาะของจิ้งจก การออกแบบเพื่อไม่ให้จิ้งจกเข้าบ้านจึงสรุปกันได้ว่า (ร่วมกับเจ้าของบ้าน) เป็นการยากมากที่จะทำให้บ้านไม่มีจิ้งจก ฉะนั้นทางผู้ออกแบบให้ทุกส่วนของบ้านมองเห็นจิ้งจกได้ชัดแล้วกัน อย่างน้อยเจ้าของบ้านก็จะได้เห็นจากที่ไกลๆ ไม่เจอในระยะกระชั้นชิด ซึ่งอาจจะเป็นลมได้
นั่นจึงเป็นที่มาให้บ้านสไตล์โมเดิร์นหลังนี้เป็นสีขาวเสียส่วนใหญ่ นั่นเพื่อจะได้เห็นจิ้งจกชัดนั่นเอง ผสมผสานกับการนำเรื่องไฟส่องสว่างมาใช้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการฉายหนังตะลุงของภาคใต้ ที่ไฟจะช่วยทำให้เกิดเงาที่ใหญ่ขึ้นได้นั่นเอง
นอกจากเรื่องการออกแบบบ้านโมเดิร์นในเมืองไทยเพื่อรับมือกับจิ้งจกแล้ว ฟังก์ชั่นที่สำคัญและน่าสนใจในการออกแบบ ยังมีเรื่องของการที่เจ้าของบ้านอยู่และชินกับการใช้ชีวิตในคอนโดมาก่อน ต้องการบ้านที่ทำความสะอาดได้ง่าย อยู่แล้วสบาย ที่เก็บของเยอะและไม่เก็บฝุ่น ทำให้บ้านหลังนี้มีฟังก์ชั่นที่กระทัดรัดเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง
บ้านโมเดิร์นสีขาวหลังนี้ ใช้เวลาออกแบบ 1-2 เดือน และก่อสร้างเพียง 1 ปีครึ่ง เท่านั้น อีกทั้งภายใต้พื้นที่ 450 ตร.ม. นั้น ผู้ออกแบบยังเพิ่มห้องอีก 1 ยูนิต เปรียบเสมือนคอนโดขนาด 1 ห้องนอนเล็กๆ ใส่ไปในบ้านบริเวณชั้น 1 สำหรับคุณพ่อของเจ้าของบ้าน โดยห้องชุดส่วนนี้จะใช้โครงสร้างชุดเดียวกันกับตัวบ้านหลักซึ่งเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่จะไม่ใช้ผนังร่วมกัน การจะไปห้องชุดนี้ได้นั้นต้องเดินผ่านระเบียงบ้าน ทั้งนี้เพื่อความเป็นส่วนตัว อีกทั้งสเปซที่เกิดขึ้นระหว่างบ้านยังเป็นช่องลมให้ทุกห้องภายในบ้านได้รับลมธรรมชาติ เป็นการแก้ปัญหาคลาสสิคของบ้านจัดสรรที่ตัวบ้านนั้นส่วนใหญ่มักจะกั้นลมกันเอง
ส่วนการตกแต่งภายในนั้น คุณอยุทธ์ ก็รับหน้าที่ออกแบบและเลือกเฟอร์นิเจอร์เช่นกัน โดยเลือกออกแบบใน ‘สไตล์ไทยโมเดิร์น’ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของรูปลักษณ์ของบ้านที่เป็นสไตล์โมเดิร์น โดยสไตล์ไทยโมเดิร์นนั้นจะเป็นการเลือกวัสดุที่ดูดีและง่ายต่อการดูแลรักษาหลอมรวมกับองค์ประกอบแบบไทยๆ ของเฟอร์นิเจอร์อย่างหมอนอิง งานอาร์ตเวิร์ค เสื่อและของตกแต่ง เพื่อให้รู้สึกว่าบ้านอบอุ่นและลดทอนความแข็งของเส้นสายของงานสถาปัตยกรรมลงไปได้
เราได้ยินมาบ่อยครั้งกับประโยคที่ว่า ‘ใช้งานดีไซน์แก้ปัญหา’ แต่นี่เป็นครั้งแรก ที่เราพบกับการนำงานดีไซน์มาแก้ปัญหากับ ‘จิ้งจก’ ปัญหาที่ดูเหมือนเล็กเหลือเกินสำหรับบางคน แต่กลับเป็นเรื่องที่ส่งผลสุขภาพโดยตรงกับอีกคนหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เหนือการคาดเดา และงานดีไซน์อาจไม่ได้ช่วยแก้ทุกปัญหาได้โดยตรง แต่อย่างน้อยก็ทำหน้าที่ช่วยให้เจ้าของบ้านอุ่นใจและอยู่อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : ศุภกร