6 ชุมชนเปี่ยมสุข แรงบันดาลใจในการอยู่อาศัยร่วมกัน

“บ้านและสวน” ร่วมกับ 2 สำนักงานสถาปนิกชุมชนอย่าง “ใจบ้านสตูดิโอ” และ “ฮอมสุข สตูดิโอ” ออกตามหา 6 ชุมชนตัวอย่างเปี่ยมสุขที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจในการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างยั่งยืน

เพราะ “ชุมชน” คือ การอยู่อาศัยร่วมกัน ซึ่งเกิดจากบุคคลรวมกันเป็นครอบครัว พัฒนาขึ้นเป็นหมู่บ้านและชุมชนตามลำดับ แต่สภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้นิยามของคำว่า “ชุมชน” เปลี่ยนไปอย่างมาก โลกอินเทอร์เน็ตกำลังทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป เราไม่ได้เป็นเพียง “ผู้บริโภค” ที่ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์ที่ถูกระบบกำหนดมา แต่ยังมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นอิสระมากขึ้น สามารถกำหนดชีวิตได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ดังนั้นคำว่า “ครอบครัว” จึงอาจไม่ใช่แค่ครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยายของเครือญาติสายเลือดเดียวกันอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงเพื่อนสนิทหรือคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกันมาอยู่ร่วมกัน ดูแลกันเหมือนญาติพี่น้อง สุดท้ายคำว่า “ชุมชน” จึงไม่ใช่เพียงแค่สถานที่ แต่คืออุดมการณ์ที่มีความสนใจร่วมกัน เป็นการเชื่อมโยงผู้คนในมุมมองที่กว้างกว่าความหมายเดิมของคำว่า “ชุมชน”

ชุมชนเปี่ยมสุข

เพื่อทำความเข้าใจความหมายของชุมชนในยุคสมัยใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น “บ้านและสวน” ร่วมกับ 2 สำนักงานสถาปนิกชุมชนอย่าง “ใจบ้านสตูดิโอ” และ “ฮอมสุข สตูดิโอ” ออกตามหา 6 ชุมชนตัวอย่างเปี่ยมสุขที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจในการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างยั่งยืน บ่อยครั้งที่เราตีความว่าชุมชนเป็นเรื่องสังคมหมู่บ้านของชาวชนบท แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับชุมชนค่อนข้างมาก เพราะชุมชนที่ดีต้องมีการสร้างกลไกการอยู่อาศัยร่วมกัน เพื่อการประหยัดทรัพยากร และไม่ต้องครอบครองสิ่งใดจนเกินความจำเป็น

ปัจจุบันชุมชนเริ่มพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ๆ การอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องของ “ความสัมพันธ์ที่เราเลือกเองได้” ซึ่งให้อิสระแก่กลุ่มผู้อยู่อาศัย ได้กำหนดความหมายของการอยู่ร่วมอาศัยที่ดีร่วมกัน ซึ่งทิศทางของการเปลี่ยนแปลงได้เชื่อมโยงขอบเขตของการใช้งานพื้นที่ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น คนกับธรรมชาติ บ้านกับที่ทำงาน ปัจเจกกับสาธารณะ หรือแม้แต่เมืองกับชนบท จุดร่วมเหล่านั้นได้สร้างคุณค่า “ร่วม” ที่ชัดเจนกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งชุมชนที่เราเลือกมาเป็นตัวอย่างนี้น่าจะทำให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจคำว่า “ความสุข” และ “ชุมชนที่ยั่งยืน” มากขึ้นครับ

1. บ้านต้นเต๊า ณ บ้านบัวโฮมสเตย์ “ความเป็นชุมชนที่บอกเล่าผ่านภาษาสมัยใหม่”

บ้านบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองฯ จังหวัดพะเยา ก่อตั้ง ปี พ.ศ. 2560

บ้านต้นเต๊า ณ บ้านบัวโฮมสเตย์ เป็นบ้านพักอาศัยและเป็นห้องพักสำหรับแขกผู้มาเยือนที่ต้องการสัมผัสวิถีของชุมชนเกษตรพอเพียงที่อิงกับธรรมชาติ มุมหนึ่งของบ้านเปิดเป็นร้านกาแฟเล็กๆ มีอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากในชุมชนเอง

บ้านต้นเต๊าเปรียบเสมือนห้องรับแขกของบ้านบัว กล่าวคือเมื่อมีนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชม ที่นี่จะทำหน้าที่ให้บุคคลภายนอกได้เข้าใจความเป็นชุมชนแห่งนี้ ก่อนจะไปเยี่ยมชมฐานเรียนรู้ต่างๆที่ชุมชนจัดไว้ให้ผู้สนใจการเกษตรแบบพอเพียงได้เรียนรู้กัน

จุดเด่น บ้านบัวเป็นหมู่บ้านต้นแบบวิถีเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ

หัวใจของชุมชน ความเข้าใจในคุณค่าทางทรัพยากรทางธรรมชาติและภูมิปัญญาของชาวบ้าน ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความเข้มแข็งและสามัคคี เมื่อบ้านต้นเต๊าได้เข้ามาร่วมกับชุมชน จึงเหมือนเป็นประตูที่สื่อสารความเป็นบ้านบัวออกไปในวงกว้างได้มากขึ้น ซึ่งนอกเป็นการสร้างรายได้เข้ามาภายในชุมชนแล้ว ยังส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนความเป็นบ้านบัวมากยิ่งขึ้น

จากใจผู้อยู่อาศัย “เพราะชุมชนบ้านบัวมีลักษณะแบบนี้ ถ้าเกิดเราไปอยู่ที่อื่น เราก็เดินต่อไม่ได้ เราจึงพูดได้เต็มปากว่า บ้านต้นเต๊าคือผลผลิตของชุมชนบ้านบัวอย่างแท้จริง”

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชุมชน  วิถีชุมชนแบบดั้งเดิมบนภาษาและวิธีการสื่อสารสมัยใหม่ สามารถไปด้วยกันได้หากเข้าใจในคุณค่ากันมากพอ

2. ชุมชนสวนพันพรรณ “เพราะชีวิตไม่ควรจะเป็นเรื่องยาก”

บ้านแม่โจ้ ตำบลบ้านเป้า อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้ง ปี พ.ศ. 2550

พันพรรณ คือ สวนเกษตรอินทรีย์เล็กๆที่เป็นทั้งบ้านซึ่งมีสมาชิกถาวรอาศัยอยู่ และพื้นที่สำหรับผู้พักอาศัยชั่วคราว เช่น อาสาสมัคร เอ็นจีโอต่างๆ ที่นี่เป็นทั้งศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และศูนย์ฝึกอบรมการอยู่แบบพึ่งพาตนเอง เช่น การสร้างอาหารหรือดูแลตัวเองโดยเน้นวิถีธรรมชาติ ปัจจุบันมีผู้ที่ตระหนักถึงภัยทางอาหารซึ่งกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆจากทั่วโลกได้แวะเวียนเข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างต่อเนื่อง

จุดเด่น นอกจากจะโด่งดังเรื่องบ้านดินแล้ว ที่นี่ยังเน้นให้ผู้คนรู้จักพึ่งพาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านเองจากดิน การเพาะปลูก การดูแลสุขภาพ ไปจนถึงการทำของเล็กๆน้อยๆในชีวิต เช่น สบู่ใช้เอง แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของพันพรรณคงจะเป็นธนาคารเมล็ดพันธ์ที่คุณโจน จันได ได้เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่นแท้เอาไว้ เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้สูญหายไปจากโลกนั่นเอง

หัวใจของชุมชน ความเรียบง่ายของวิถีชีวิตและวิธีการอบรมในแบบพันพรรณ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าจริงๆแล้วชีวิตเป็นเรื่องง่าย และมองเห็นความอิสระต่อการได้ทดลองในสิ่งที่ตนสนใจ เช่น การทดลองปลูกพืช ผู้อยู่อาศัยสามารถพูดคุยเพื่อขอพื้นที่ในการทดลองวิธีเพาะปลูกที่ตนสนใจได้ และเมื่อทดลองทำก็อาจมีคนสนใจหรือต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตามมา

จากใจผู้อยู่อาศัย “ชุมชนที่นี่จะอยู่ในลักษณะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และผู้คนที่มาที่นี่ค่อนข้างหลากหลาย แต่ละคนที่มาก็มีความรู้ติดตัวมา ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กัน”

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชุมชน  ความรู้ที่แท้จริงคือการแบ่งปัน และคำว่าชุมชนอาจเกิดจากทั้งผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ และผู้ที่แวะเวียนเข้ามา ซึ่งทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนอุดมการณ์อันดีร่วมกัน

3. ชุมชนเชียงดาวและบ้านมะขามป้อม “ศิลปะเพื่อการสร้างสรรค์ชุมชน”

ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้ง ปี พ.ศ. 2550

จากมะขามป้อมการละครสู่มะขามป้อมเชียงดาว Art Space ก้าวที่เติบโตซึ่งผ่านเวลามานานกว่า 10 ปี ที่นี่คือพื้นที่ศิลปะสร้างสรรค์สังคมภายใต้ความเชื่อที่ว่า ศิลปะสามารถสะท้อนความงาม ความจริง สามารถปลุกเร้าแรงบันดาลใจ กระตุ้นความใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์และความยุติธรรม พื้นที่ศิลปะแห่งนี้จึงเป็นเหมือนสะพานซึ่งเชื่อมโยงผู้คนทุกชนชั้นทุกเชื้อชาติ ทั้งในชุมชนและนอกชุมชนให้ได้มาพบปะกันผ่านการเสพงานศิลป์ในรูปแบบละคร สวนประติมากรรม นิทรรศการภาพวาด ภาพถ่าย ลานหนังสือ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้สนุกกับการลงมือสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยตนเอง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทัศนคติต่อกันและแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้างมากกว่าเพียงในชุมชน เพราะที่นี่ไม่ได้สนใจแต่เพียงเรื่องของศิลปะ แต่ยังเป็นเวทีสำหรับผู้คนในชุมชน รวมทั้งชนกลุ่มน้อยอย่างชาวเขาที่ไม่ค่อยมีผู้สนใจรับฟังพวกเขาเหล่านั้นอีกด้วย

จุดเด่น คนทั่วไปรู้จักมะขามป้อมในฐานะกลุ่มละครที่ใช้กระบวนการละคร ทั้งละครหุ่น ละครเวที ศิลปะท่าทาง สื่อพื้นบ้าน และลิเก เพื่อพัฒนาชุมชน ทำให้ชาวบ้านเกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวคิดและการทำงานร่วมกัน โดยการฝึกอบรมชาวบ้านและเยาวชนในชุมชนให้ผลิตสื่อด้วยตัวเอง ซึ่งเปรียบได้กับครอบครัว โรงเรียน และแหล่งรวมพลของผู้คนที่รักในงานศิลปะและการสร้างสรรค์

หัวใจของชุมชน เมื่อศิลปะได้ชักนำเยาวชนในพื้นที่ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน ปัจจุบันเยาวชนเหล่านั้นได้เติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญที่หยั่งรากความเข้าใจลงไปในชุมชนอย่างลึกซึ้ง และยั่งยืนมากกว่าเดิม

จากใจผู้อยู่อาศัย “ใครอยากเรียนรู้อะไรก็เข้ามาคุย เข้ามาใช้พื้นที่ได้ ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของเสียทีเดียว มีอะไรเราก็มาแชร์กัน เราก็ได้จากเขา เขาก็ได้จากเรา จนเกิดเป็นชุมชน”

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชุมชน  กลไกของศิลปะสามารถสร้างความเชื่อมโยงของคนทุกคนได้มากกว่าที่คำพูดเพียงอย่างเดียวจะนำพาไปได้ และความเข้าใจตรงนั้นสามารถนำมาใช้ช่วยสร้างสังคมให้เข้าใจกันได้มากขึ้น

อ่านต่อหน้า 2