ไม่หยุด “คิด” กับ สมคิด เปี่ยมปิยชาติ ผู้บุกเบิกวิชาชีพถ่ายภาพสถาปัตยกรรมในไทย

rm : ช่วงนี้ยังได้จับกล้องกลับไปถ่ายสถาปัตยกรรมแบบจริงจังอีกหรือเปล่า

SP: “ไม่ได้จริงจังแล้ว ตอนนี้เป็นการถ่ายสนุก ๆ มากว่า ไม่ได้เน้นสถาปัตยกรรมมาก คือถ่ายมาเพื่อให้เห็นเรื่องราวบางอย่าง แล้วก็อย่างที่บอกน้อง ๆ คนอื่นเขาขมังเวทย์กันหมดแล้ว ตอนนี้สิ่งที่ผมพยายามอยู่คือเรื่องของงานวาด นิยายภาพ หนังสือภาพ หรือ Graphic Novel นั่นคืออีกโจทย์ที่ยากกว่าถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ซึ่งเราต้องสร้างกลุ่มคนขึ้นมาเพื่อร่วมกันดู ร่วมกันเสพ และเคลื่อนไหวเพื่อให้มีผลทางตัวเลข คนที่ทำงานด้านนิยายภาพต้องทำงานหนัก อย่างการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนเมืองนอก ผมว่าเขาอยู่ได้เพราะคนที่เขาทำแรก ๆ ทำงานหนัก จนสามารถผลักดันผลงานให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้สำเร็จ จุดอ่อนของบ้านเราคือคนเขียนบ้านเราคิดว่าทำงานหนักแล้ว แต่ผมว่าเบาไป เราทำน้อยไป พอมีคนจะซื้อกลับไม่มี พอน้อย คนก็จะหายไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันที่งานที่ทำอยู่คือสำนักพิมพ์ Fullstop Book” นอกจากโชว์ภาพถ่ายแล้ว ก็อยากทำ “Fusion book” มาผสมผสาน”

rm : คิดว่าภาพวาดเข้าใจง่ายกว่าภาพถ่ายไหม

SP : “มันก็เป็นอีกประเด็นนะ ตอนนี้ผมรู้สึกว่าภาพถ่ายมันธรรมดาแล้ว ใครก็ถ่ายได้ มาตรฐานมันมีแล้ว ผมก็ต้องวาดให้มันยากขึ้นไปอีก โดยแอบใส่สถาปัตยกรรมเข้าไปให้คนทั่วไปดูแล้วรู้สึกสวย หรือให้สถาปนิกด้วยกันดูก็ได้ เนื้อเรื่องเป็นวิถีชีวิตไม่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเลย พอสถาปนิกมาดูอาจจะบอกว่า “แม่ง เจ๋งว่ะ”  ซึ่งผมแอบยัดเข้าไปในไกด์บุ๊ค อย่างหนังสือที่พาไปเที่ยวลอนดอน เราแอบใส่สถาปัตยกรรมเข้าไปด้วย โดยคนอ่านไม่จำเป็นต้องรู้จักโบสถ์พวกนี้ อาจจะรู้แค่ว่าโบสถ์นี้สวยดี แต่สถาปนิกจะรู้กัน ส่วนตัวสำหรับผมนี่บรรลุอีกเป้าหมายแล้ว”

rm : ยากไหมที่จะเล่าเรื่องให้คนเข้าใจสถาปัตยกรรม

SP : “สื่อสารกับสถาปนิกด้วยกันไม่ยาก แต่ผมสนใจว่าจะสื่อสารกับคนส่วนใหญ่อย่างไรให้เขาเข้าใจ  ถ้านำภาพไปให้พวกสถาปนิกด้วยกันดูเขาอาจจะบอกว่า “สวยว่ะ…เจ๋ง” แต่พอเอาไปให้พี่สาวผมดูเขากลับบอกว่า “มันสวยตรงไหนเนี่ย” ทำให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า ถ้าเราสามารถสื่อสารสิ่งยาก ๆ ให้สามารถเข้าใจง่ายน่าจะดี ถ้าคนทั่วไปเขาดูแล้วสวย ผมแอบหวังลึก ๆ ว่าจะช่วยให้คนมีรสนิยมดีขึ้น พอมีรสนิยมดีขึ้นก็จะอยากได้บ้านที่สวย เขาก็ต้องหาสถาปนิกเพื่อสร้างบ้านที่ดี สถาปนิกก็จะมีงานที่ดี แล้วสุดท้ายคนถ่ายก็จะได้ถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่ดีด้วย

“ยกตัวอย่างภาพที่ผมวาด จริง ๆ เป็นงานรวมที่ผมตระเวนถ่ายสถาปัตยกรรมในยุคนู้นมาสื่อสารใหม่ โดยนำมาทำเป็นภาพวาดสถาปัตยกรรมแทรกลงไปในไกด์บุ๊ค เนื้อหาคือสื่อสารเรื่องวิถีชีวิต บางทีก็แอบใส่ภาพสถาปัตยกรรม กลายเป็นหนังสือสถาปัตย์ที่ไม่ได้มีแค่สถาปนิกดู แต่นำไปให้หมอหรือพยาบาล ให้อาชีพอื่นดูก็ได้เหมือนกัน”

ภาพ “รหัสลับจากข้างบ้าน”

rm : นิยายภาพสำคัญอย่างไร ทำไมคนต้องหันมาสนใจ

SP: “จริง ๆ ก็ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น แต่เกิดประเด็นคำถามได้ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกทั่วโลกเขามีหมดแล้ว ทำไมเราไม่มี เช่นเดียวกับช่างภาพสถาปัตยกรรม ก่อนหน้านี้ทั่วโลกเขามีหมดแล้ว ทำไมเราไม่มี เป็นเพราะว่าเรายังไม่รู้จริง สร้างมูลค่ายังไม่ได้จริง หรือยังไม่มีคนรับรู้ ถ้ามีแล้วมันก็จบไง ก็เหมือนสิ่งที่มาส่งเสริมอะไรบางอย่าง นั่นคือโจทย์แรก อีกส่วนคงมาจากความชอบของเรา เราชอบเรื่อง Visual จึงคิดว่าภาพน่าจะสื่อสารอะไรได้ ประเด็นที่สอง ทำไมงานหนัง ละคร แอนิเมชัน ฯลฯ ยังไม่จี๊ดมากพอ งานนิยายภาพ น่าจะเป็นพื้นฐานให้งานอื่น ๆ ได้ ทำไมเราถึงไม่มีแอนิเมชั่นดี ๆ หรือนานๆ ทีจะมีเรื่องหนึ่ง อยากดูต่อแล้วมันไม่มี ก็เพราะว่าเตาหลอมแรกเรื่องภาพของเรายังไม่แข็งแรงพอ แล้วที่มันยังมีไม่มากก็คือเรื่องของตัวเงินที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยง ทำไมไม่มีตัวเลข ก็เพราะคนดูน้อย จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการสร้างหรือสนับสนุนต่อ”

ภาพ “หาเส้นได้เห็นแสง หา แสงได้เห็นความเคลื่อนไหว”

rm : คิดว่าวงการภาพถ่ายสถาปัตยกรรมได้มาตรฐาน มีคนจำนวนมากเสพแล้วก็รู้สึกสวยแล้วหรือยัง

SP : “ยังนะ แต่ว่าน่าจะดีขึ้น ผมรู้สึกว่าคนที่เป็นต้นทางจะสามารถเป็นผู้นำได้ ช่างภาพสถาปัตยกรรม ผมว่าเขาจะนำกันเองด้วย นำไปจนถึงขั้นมาทำนิตยสารหรือหนังสือเอง พอหลุดพ้นจากเงื่อนไขทั้งหลายก็จะเกิดอะไรที่เหนือกว่า และจะทำให้เหนือกว่าอย่างไรก็อยู่ที่รสนิยมของคนทำ โดยต้องมีตัวเลขรายได้เข้ามาด้วยถึงจะสนุก ความท้าทายมันอยู่ตรงนี้ เพราะส่วนใหญ่ทำเท่ ๆ ดี ๆ  แล้วเจ๊งมันต้องมีอะไรผิดพลาด มันต้องไม่เจ๊ง รวยไม่รวยอีกเรื่องหนึ่ง คือต้องไม่เจ๊งก่อน ถ้ารวยได้จะดีมากเลย จะได้มีงบมาสนับสนุนโปรเจ็กต์ที่กำลังทำ

“แต่จะสร้างงานอย่างไรให้คนกล้ามาลงทุน ทุกอย่างต้องคิดย้อนกลับมาที่งานดี ๆ ส่วนใหญ่มักมาจากต้นทางที่ดี นิยายภาพก็เหมือนกัน เท่าที่ดูรวม ๆ หนังสือที่ดีจริง ๆ ยังไม่สมดุล หรือคนอยากทำให้เท่มีเยอะ แต่ยังเป็นอาชีพไม่ได้ เพราะยังทำอาชีพอื่นเป็นหลัก และทำสิ่งที่ต้องการเป็นรอง แต่คนที่ทำสำนักพิมพ์จริง ๆ จัง ๆ ก็ไปง่วนอยู่กับตัวเลข ลืมความเท่ มันไม่สมดุล ซึ่งพี่คิดว่าถ้าทั้งสองอย่างสามารถดำเนินควบคู่กันไปได้จะดีมาก

“ซึ่งต้องขึ้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง  สำหรับประเทศเราต้องยอมรับว่าคนเสพมีอยู่ในปริมานระดับหนึ่ง ยังไม่ถึงขั้นหล่อเลี้ยงได้ คนทำจึงต้องทำงานหนักเพื่อให้คนเสพติดสื่อประเภทนี้ แล้วคนจะรู้สึกว่านิยายภาพก็เป็นหนังสืออย่างหนึ่ง ตอนนี้เขาบอกว่าเป็นหนังสือแปลก ชอบพูดว่าแปลจากต่างประเทศหรือเปล่า แต่ในกลุ่มคนทำงานแขนงนี้กลับเริ่มมองเห็นคุณค่า ช่วยให้หนังสือมีมูลค่าเหมือนให้คุณค่าของงานดีไซน์มากขึ้น ช่วยเชื่อมต่อและส่งเสริมไปถึงกลุ่มดีไซเนอร์ ช่างภาพ นักเขียน ง่าย ๆ สมัยก่อนสถาปนิกยังไม่คิดว่าจะต้องจ่ายเงินให้ช่างภาพด้วยหรอ เพราะรายได้เขามีแค่ระดับหนึ่ง เขาไปเก็บค่าแบบได้ไม่สูงพอสำหรับนำมาจ่ายตรงนี้ จริง ๆ ไม่ต้องเยอะขนาดนั้นก็ได้ แค่ให้มันสมดุลแล้วเดินต่อไปได้ก็พอแล้ว เมื่องานออกมาดีคนก็จะเชื่อแล้วว่าจ้างช่างภาพดีกว่าถ่ายเอง”

rm : มีวิธีทำงานอย่างไรเพื่อผลักดันให้แวดวงการทำงานของตัวเองไปถึงคนเสพและกล้าซื้อ

SP : “ตอนนี้เท่าที่ดู แต่ละคนแต่ละหน่วยเล็ก ๆ ต้องทำให้ตัวเองแข็งแรง บ่นหรือวิจารณ์มันง่าย แต่ละหน่วยทำ ๆ แล้วก็มาแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรมันถึงจะไม่เจ๊ง เสร็จแล้วก็ทำให้ดีกว่าคนที่ทำมาก่อนหน้า ทำแล้วรวยได้ไหม ถ้าได้เดี๋ยวคนทำก็จะมาเอง ถ้าทำไม่ได้คนที่จะมาทำเขาก็จะเห็นว่ามันเจ๊งไง เลยแพ้ ปัญหามันอยู่ตรงนี้ อย่างหนัง ทำดี แต่บางทีไม่ขาย  ผมมองว่าเราต้องทำเรื่องพื้นฐาน หรือ Criteria ให้ดีก่อน อย่างหนังตลกเขาบอกขายดีก็ขายกันไป แต่มันขาดความลึก มันขาดคนคิดตรงนี้”

rm : ย้อนกลับไปสมัยแรก พี่คิดเรียกตัวเองว่าเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมไหม

SP: “ตอนนั้นพยายามไม่เรียกตัวเองว่าเป็นช่างภาพอยู่แล้ว ผมอยากเป็น “นักถ่ายภาพ” ซึ่งเป็นเรื่องนัยยะซ้อนของภาษา “ช่าง” ต้องยอมรับว่ามิติมันไม่มากเท่า “นัก” “ช่าง” คนคือคนที่ง่วนอยู่กับเครื่องมือ ใช้ทักษะ แต่ถ้าเป็น “นัก” คือมันเติมทีเด็ดเข้าไปอีก  เครื่องมือไม่ต้องพูดถึง มันอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่เผอิญเรานั่งคิดเล่น ๆ ว่าทำไมต้องเรียก “ช่าง” ก็เข้าใจได้ว่ามาจากการที่เราทำงานกับเครื่องมือ ให้ความสำคัญกับเครื่องมือมากกว่า จนเกิดคำถามว่าทำไมไม่เป็น “นักถ่ายภาพ” ล่ะ ที่อยากจะให้เป็น “นัก” เพราะอยากจะสะกิดน้อง ๆ ในแวดวงให้ต้องคิดต่อ เราต้องเหนือขึ้นไปมากกว่าคนใช้เครื่องมือ เครื่องมือเป็นแค่ส่วนหนึ่งของร่างกาย ความเป็น “ช่าง” อยู่ในหัวอยู่แล้ว จริง ๆ ต้องเป็น “นัก” ใช้มือ สมอง และหัวใจสร้างงาน”

rm : ทุกวันนี้พี่คิดจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักอะไรดี

SP:  “ผมคือ “นักทำหนังสือ” ในการทำงานเราต้องคุมการพิมพ์ด้วยตัวเอง พับกระดาษอย่างไร มีรายละเอียดที่เราเล่นได้อย่างไร รวมไปถึงจะทำให้หนังสือมันเดินทางไปอย่างไร รวมถึงการขายด้วย เรียกว่าเป็นนักทำหนังสือน่าจะชัดกว่า”

“แต่หนังสือที่ทำ เราไม่ได้ทำให้ศิลปินดูอย่างเดียว แต่ทำเพื่อให้คนทั่วไปได้ดู การถ่ายภาพก็เช่นกันอย่าไปทำให้ตัวเองทื่อ ถ่ายสถาปัตยกรรมก็อย่าไปให้แต่สถาปนิกดูฝ่ายเดียว แต่ทำเพื่อให้คนทุกคนดูแล้วเข้าใจความงามทางสถาปัตยกรรม รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จนสามารถสร้างรสนิยมและคุณภาพชีวิตที่ดีได้ พอคนเข้าใจทุกอย่างดีขึ้น ฟุตบาทก็จะมีทางเดิน ต่างจากตอนนี้ที่แม้แต่จะปั่นจักรยานก็ยังไม่ได้ เล่นโรลเลอร์สเกตก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีใครเรียกร้อง เนื่องจากคนทั่วไปไม่เคยเห็นตัวอย่างงานออกแบบดี ๆ มาก่อน จึงต้องทนอยู่กับปัญหาต่าง ๆ อย่างจำเจ ฉะนั้นจึงต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ เพื่อให้ผู้คนเริ่มเห็นคุณค่าความงามของงานออกแบบ ถ้าคนที่เห็นคุณค่าจริง ๆ ได้มีโอกาสขึ้นไปเป็นผู้ที่สามารถกำหนดทิศทางได้ก็จะดี”

อ่านต่อ

Beyond Perception : 9 รูป 9 เรื่อง เล่าเรื่องสถาปัตยกรรมผ่านภาพ

อ่าน Meet the Masters ท่านอื่นๆ ต่อ >> คลิกที่นี่ <<


เรื่อง: กรกฎา, Pari
ภาพ: ศุภกร