บ้านเถียงนา ในความธรรมดาสามัญของท้องทุ่งนาอันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชนบทไทย ภาพจำที่ประทับใจของเราคือ การได้เห็นสิ่งธรรมดาสามัญอย่าง “เถียงนา”
บ้านเถียงนา หรือกระท่อมน้อยกลางนาที่มักจะเป็นเพียงอาคารเล็ก ๆ ยกพื้นและมุงด้วยหลังคาจากหรือสังกะสีแรกพบอาจจะธรรมดา แต่ในความธรรมดานั้นเองที่เราค้นพบสัจธรรมบางอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นเพียง “เล็กน้อย” แต่ “ลึกซึ้ง” เพราะเถียงนานั้นมักจะเป็นที่หลบฝน หลบแดดหรือแม้แต่ยามค้างคืนกลางทุ่งนาก็ตาม จึงเป็นที่พึ่งของชาวนาได้โดยไม่เคย เรียกร้องความงามอันใด น้ำท่วมก็ไม่เปียกเพราะยกพื้น ฝนตกแดดออกก็ยังคุ้มแดดคุ้มฝนได้ สร้างง่าย และแทบไม่ต้องดูแลรักษา เมื่อคิดจะออกแบบบ้านสักหลังหนึ่ง เราจึงคิดที่จะตีความ “เถียงนา” ให้ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ซึ่งแสดงออกถึงความ “อ่อนน้อม” ต่อบริบทเฉกเช่นกระท่อมน้อยกลางนาที่เราเคยได้เห็นมา
PLAN
- ที่จอดรถ
- ครัว
- ที่ซักล้าง
- โต๊ะงานเซรามิก
- ห้องน้ำ
- ห้องกินข้าว
- ชานระเบียง
- ห้องนั่งเล่น
- ห้องทำงาน
- ห้องนอน
บ้านเถียงนาออกแบบโดยเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนคือ พื้นที่ส่วนแห้งซึ่งเป็นเขตพักอาศัย และพื้นที่ส่วนเปียกซึ่งเป็นพื้นที่ครัว งานหัตถกรรมดินเผาและห้องน้ำ โดยพื้นที่ส่วนเปียกจะอยู่ติดกับพื้นและส่วนแห้งจะมีการยกพื้น ตัวอาคารประกอบขึ้นจากเสาคอนกรีตกลมห่างกันในระยะ 3 เมตร ซึ่งเล็กกว่าบ้านทั่วๆ ไปเพื่อจำกัดผังการใช้งานให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้นอาคารหลังนี้ไม่มีบันได แต่ใช้วิธีวางหินเพื่อก้าวขึ้นสู่ชานที่ยกพื้นซึ่งเป็นชานไม้ที่สร้างล้อมรอบต้นไม้ใหญ่สองต้นเอาไว้ โดยมีหลังคาคลุมที่เว้นช่องเอาไว้ให้ต้นไม้เติบโตหลังคาผืนเดียวกันนี้จะยาวตลอดไปจนถึงทิศใต้ซึ่งออกแบบเป็นกำแพงอิฐมอญเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดในเวลากลางวันนั่นเอง
ภายในอาคารเน้นการระบายอากาศโดยธรรมชาติหน้าต่างทุกบานเป็นแบบบานหมุนเพื่อกลับด้านรับลม ได้จากทุกทิศตามฤดูกาล เป็นการดักให้ลมธรรมชาติไหลเข้าสู่ตัวบ้านคล้ายหน้าต่างบานเกล็ดนั่นเอง เสากลม และแนวผนังแยกออกจากกันเพื่อให้ความรู้สึกบางเบาได้บรรยากาศแบบเสาไม้บ้านไทยสมัยก่อน ทั้งยังลงตัวกับโครงสร้างผนังแบบกรอบไม้อีกด้วย
บ้านเถียงนาคือความพยายามในการนำภูมิปัญญา พื้นถิ่นจากสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปตามชนบทมาปรับใช้กับการอยู่อาศัยในพื้นที่ขนาดเล็กแบบคนเมืองสมัยใหม่ในทุกๆ ส่วนจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่กลมกลืนไปด้วยกันได้อย่างลงตัว เช่น พื้นที่กินข้าวและชานบ้านที่ใหญ่พอจะสังสรรค์กันในครอบครัวได้ ในขณะที่พื้นที่ส่วนตัวมีการใช้งานในแนวตั้งและมีขนาดเล็กเพียงห้องละ 3 x 3 เมตรเท่านั้น รวมถึงการใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นซึ่งมี ราคาไม่แพงมาประยุกต์ใช้ เช่น อิฐมอญ เป็นต้น ผู้ออกแบบจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบ้านเถียงนาจะสามารถ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สนใจจะมีบ้านกลับมามองภูมิปัญญาพื้นถิ่นรอบๆ ตัวมากขึ้น บ้านหลังนี้จึงออกแบบมาให้ทั้งอยู่สบาย สร้างได้ง่าย และมีความงามเหมาะกับท้องที่ตามที่สถาปัตยกรรมควรจะเป็น เพราะผู้ออกแบบนั้นเชื่อเหลือเกินว่า “ความงามที่แท้คือความงามจากรากเหง้าของวัฒนธรรม”




Story – design Puri โดยวุฒิกร สุทธิอาภา โทร. 08-6980-5488