บ้านใต้ถุนสูง

บ้านภูภัทรา บ้านโมเดิร์นทรอปิคัลที่แม้จะอยู่บนเนินเขาแต่ก็ยังต้องการใต้ถุน

บ้านใต้ถุนสูง
บ้านใต้ถุนสูง

เรียกว่าเป็นลายเซ็นในการออกแบบไปแล้วสำหรับ Spacetime Architects บริษัทสถาปนิกที่มีลายเส้นเฉพาะตัว แสดงตัวตนผ่านการผสมผสานวัสดุและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิอากาศในบ้านเรา ให้ออกมามีรูปลักษณ์ร่วมสมัยได้อย่างประทับใจ กับอีกหนึ่งผลงาน บ้านใต้ถุนสูง ในชื่อ บ้านภูภัทรา ซึ่งเป็นชื่อที่ผู้ออกแบบตั้งตามชื่อโครงการที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่งบนทำเลทองของเขาใหญ่ โดยมีคำจำกัดความของบ้านว่า Modern Tropical House

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Spacetime Architects

บ้านใต้ถุนสูง

ผู้ออกแบบนำโจทย์จาก คุณนิรมลนพ.วีระศักดิ์ว่องไพฑูรย์ เจ้าของบ้านที่ต้องการ “บ้านขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป อยู่แล้วรู้สึกผ่อนคลาย และสามารถปลูกพืชผักสวนครัวได้” มาเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบ จนได้ บ้านใต้ถุนสูง รูปร่างหน้าตาโฉบเฉี่ยวทันสมัยสไตล์โมเดิร์น มีเส้นสายเท่าที่จำเป็นไม่กระโดดออกจากบริบทโดยรอบ และยังคำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งานไปพร้อมกัน

ดังนั้นขั้นตอนการออกแบบบ้านบนพื้นที่จัดสรรกว่า 300 ตารางวาจึงเริ่มจากการพิจารณาเรื่องบริบทรอบ ๆ เป็นอันดับแรก ซึ่งทำให้พบว่าที่ดินมีความลาดเอียงค่อนข้างมาก อีกทั้งยังถูกเพื่อนบ้านและอาคารงานระบบของโครงการมาบดบังวิวส่วนหนึ่ง ผู้ออกแบบจึงตัดสินใจสร้างบ้านแบบยกใต้ถุนสูง 3.40 เมตรคล้ายการสร้างบ้านเรือนไทยสมัยก่อน เพื่อแก้ปัญหาความลาดชันของพื้นที่และช่วยให้ไม่มีสิ่งใดมาบดบังมุมมอง สามารถเปิดรับวิวเขาใหญ่ได้เต็มที่กว่าการออกแบบในแนวทางอื่น

บ้านใต้ถุนสูง บ้านใต้ถุนสูง

ตัวบ้านวางทิศทางตามแนวตะวันออก – ตะวันตกโดยออกแบบให้ชั้น 2 ของบ้านหันไปรับวิวทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศที่เหมาะสมลงตัว มองเห็นวิวเขาใหญ่ได้เต็มตา ลำดับต่อไปของการออกแบบคือการวางตำแหน่งฟังก์ชันโดยยึดมุมมองเรื่องวิวเป็นหลัก โดยผู้ออกแบบได้กำหนดการเข้าถึงด้วยการวางบันไดทางขึ้นไว้ทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นด้านหลังของบ้าน ก่อนเข้าสู่พื้นที่อเนกประสงค์ที่รวมห้องครัว พื้นที่นั่งเล่น และส่วนรับประทานอาหารเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีห้องนอน 2 ห้องประกบซ้าย – ขวา และจบด้วยระเบียงที่กว้างถึง 5 เมตรซึ่งยื่นออกไปทางทิศตะวันออก ตอบโจทย์การพักผ่อนอย่างเต็มที่

บ้านใต้ถุนสูง บ้านใต้ถุนสูง

เมื่อฟังก์ชันลงตัวแล้ว การเลือกวัสดุเพื่อให้บ้านภูภัทรากลมกลืนกับบริบทแต่โดดเด่นในตัวเองจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ออกแบบให้ความใส่ใจ ด้วยการใช้โครงเหล็กเป็นฐานและใช้ไม้จริงเป็นวัสดุปูพื้น ยกเว้นบริเวณห้องครัวและห้องน้ำซึ่งเป็นคอนกรีตหล่อในที่จึงจำเป็นต้องเลือกปูพื้นบริเวณนี้ด้วยแกรนิตสีเรียบแทน แม้องค์ประกอบจะแตกต่าง แต่ก็สามารถเชื่อมอารมณ์ความเป็นสัจวัสดุได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังช่วยแบ่งพื้นที่การใช้งานภายในบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกำแพงกั้นใด ๆ

บ้านใต้ถุนสูง บ้านใต้ถุนสูง บ้านใต้ถุนสูงบ้านใต้ถุนสูงบ้านใต้ถุนสูง บ้านใต้ถุนสูง

จากความลงตัวทั้งเรื่องสัดส่วน รูปลักษณ์ และฟังก์ชันการใช้งาน จึงทำให้บ้านภูภัทรากลมกลืนกับธรรมชาติรอบด้าน ในขณะเดียวกันก็ยังดูโดดเด่น ทำให้พบว่า สุดท้ายแล้วคำว่าโมเดิร์นทรอปิคัลที่เราจำกัดความให้บ้านหลังนี้อาจแปลเข้าใจได้ง่าย ๆ เพียง บ้านที่เหมาะกับบริบทบนพื้นฐานการออกแบบที่เรียบง่าย ก็เป็นได้

บ้านใต้ถุนสูง

เรื่อง Ektida N.
ภาพ ศุภกร, นันทิยา
สไตล์ ประไพวดี
เรียบเรียง pari

เจ้าของ : คุณนิรมล – นพ.วีระศักดิ์ ว่องไพฑูรย์
ออกแบบ : คุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล และคุณพิริยะ ไทยลิ่มทอง บริษัทสถาปนิก สเปซไทม์ จำกัด (Spacetime Architects Co., Ltd.) FB: spacetime.kalatesa