เที่ยว “บึงกาฬ” จังหวัดใหม่ที่น่าหลงใหล เมืองเล็กๆ ที่น่าจดจำ

วันนี้เราจะพาไปเที่ยวแบบชื่นใจกันที่จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ที่นี่ก็คือ จ.บึงกาฬ และสถานที่แรกที่เราจะพาไปเที่ยวกันนี้ต้องบอกว่าตั้งอยู่ริมสุดเขตประเทศไทย มีแม่น้ำโขงกั้นกลางข้ามไปก็จะเป็นประเทศลาว สถานที่นี้ก็คือ วัดอาฮงศิลาวาส

สำหรับการเดินทางมายังวัดอาฮงศิลาวาสต้องบอกว่าไม่ยากเลย หากเราเริ่มต้นจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีให้ใช้ถนนมิตรภาพ วิ่งผ่าน จ.หนองคาย จากนั้นก็เลี้ยวขวาเพื่อเข้าสู่ถนนหมายเลข 212 มุ่งหน้ามายัง ต.ไคลี จ.บึงกาฬ ก็จะพบกับวัดอาฮงศิลาวาสที่ตั้งอยู่ทางซ้ายมือแล้วล่ะค่ะ

วัดอาฮงศิลาวาสนี้นอกจากจะเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนั้นสามารถที่จะมาเที่ยวชมความสวยงามของวัดได้แล้ว ที่นี่ยังมีโบสถ์หินอ่อนที่ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชและพระบรมสารีริกธาตุค่ะ

และนอกจากพระพุทธชินราชและพระบรมสารีริกธาตุแล้ว นักท่องเที่ยวนั้นยังได้มีโอกาสกราบไหว้พระพุทธรูปทองคำแท้ที่มีความเก่าแก่อีกถึง 2 องค์ นั่นก็คือหลวงพ่อสุโขทัย และหลวงพ่อเชียงแสนค่ะ

วัดอาฮงศิลาวาสนี้นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้มากราบไหว้ขอพรพระเพื่อความเป็นสิริมงคลและได้ชมจุดชมวิวที่ถือได้ว่าเป็นสะดือของแม่น้ำโขงแล้ว ที่นี่ยังมีอีกหนึ่ งสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ภายในวัดนั่นก็คือ สวนหินธรรมชาติอาฮง หรือสวนหินยักษ์ ภายในสวนนี้นักท่องเที่ยวสามารถมาถ่ายภาพ หรือมานั่งพักผ่อนได้เลยค่ะ มีหินก้อนใหญ่ๆ มากมาย และต้องบอกว่ามีอยู่ที่วัดนี้วัดเดียวเท่านั้นนะคะ สวยงามแถมบรรยากาศยังดีมากๆ ด้วยค่ะ

เราไปเที่ยวกันต่อที่ชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง ซึ่งชุมชนแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีการรักษาภูมิปัญญาการทอผ้าดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นอาชีพของบรรพบุรุษเอาไว้จนถึงปัจจุบันค่ะ

ที่นี่นอกจากเราจะได้เห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในเรื่องของการทอผ้า และการใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่ในการนำมาทำสีย้อมผ้าแล้วนะคะ ที่นี่ยังเป็นสถานที่ที่เราจะมารับโจทย์ชื่นใจกันด้วย ที่นี่ก็คือกลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ ค่ะ ชาวบ้านที่นี่ได้เอาเปลือกไม้ต่างๆ อย่าง ชมพู่มะเหมี่ยว ต้นคูณ มาทำเป็นสีย้อมผ้า และร่วมกันคิดค้นพัฒนานำเอาความรู้ดั้งเดิมมาผสมผสานออกมาเป็นผ้าขาวม้าทอมือที่สวยงามมีคุณภาพมากๆ ค่ะ

ทีนี้เราลองมาดูขั้นตอนและวิธีการย้อมผ้าของชาวบ้านกันนะคะ ชาวบ้านเค้าก็จะเอาเปลือกไม้นำมาต้มและย้อมผ้าให้ได้สีสันสวยงามตามธรรมชาติค่ะ จากนั้นก็นำผ้าไปหมักด้วยโคลนเพื่อให้ผ้านุ่มขึ้น โคลนที่ได้ก็เอามาจากแม่น้ำโขงค่ะ ชาวบ้านเชื่อกันว่าโคลนที่นั่นเป็นโคลนที่มีคุณภาพและมีความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วยค่ะ และเมื่อผ้านี้ถูกนำมาทอแล้วเนื้อผ้าจะมีความนุ่มมากกว่าผ้าที่ย้อมจากสารเคมีค่ะ

และนอกจากผ้าลวดลายต่างๆ ที่มีจำหน่ายแล้ว ชาวบ้านยังมีการต่อยอดนำผ้าขาวม้าลวดลายต่างๆ มาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำหรับจำหน่ายค่ะ แต่ชาวบ้านบอกเองว่าเสื้อผ้าที่ตัดออกมานั้นอาจจะยังมีรูปแบบที่ไม่ค่อยทันสมัยเท่าใดนัก ชาวบ้านจึงอยากมีรูปแบบใหม่ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น และนี่ก็คือโจทย์ชื่นใจที่เราจะมาช่วยคิดแพทเทิร์นและออกแบบเสื้อผ้าให้กับชาวบ้านค่ะ

สถานที่ชื่นใจต่อมาที่เราจะพาไปก็คือชุมชนบ้านหอคำค่ะ ซึ่งเป็นช่วงเวลายามเย็นพอดี ที่นี่ไม่ได้มีแค่บรรยากาศริมฝั่งโขงเท่านั้นนะคะ แต่ว่ายังเต็มไปด้วยชีวิตชีวาของผู้คนทั้ง 2 ประเทศ ที่มาค้าขายและจับจ่ายใช้สอยกัน ที่นี่ก็คือตลาดนัดริมโขงบ้านหอคำค่ะ ชาวบ้านจะนำพืชผัก ผลไม้ มาจำหน่ายกันมีทั้งของสด และที่เป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมให้ซื้อกลับไปรับประทานด้วยค่ะ หากนักท่องเที่ยวที่อยากมาสัมผัสบรรยากาศตลาดนัดริมโขงบ้านหอคำนี้ต้องมาในช่วงเวลา 3 – 4 โมงเย็นเป็นต้นไป และตลาดจะเริ่มวายประมาณ 1 ทุ่มค่ะ ที่สำคัญตลาดนัดแห่งนี้มีเฉพาะเย็นวันจันทร์และวันพฤหัสบดีเท่านั้นค่ะ

ที่นี่เปรียบเสมือนด่านประเพณีบ้านพี่เมืองน้องระหว่างไทยกับลาว ชาวลาวทางฝั่งโน้นก็จะข้ามมาซื้อยาบ้าง มาหาหมอบ้าง แลกเปลี่ยนสินค้าไปมาสู่กัน ซึ่งถ้าหากพี่น้องชาวลาวข้ามมาก็จะมีจุดตรวจเพื่อให้มาลงชื่อเอาไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบ เวลากลับก็ต้องมาแจ้งที่จุดเดิมเพื่อความปลอดภัยนั่นเองค่ะ

อีกหนึ่งกิจกรรมที่มีให้บริการของที่นี่ก็คือ การล่องเรือแม่น้ำโขงเพื่อชมพระอาทิตย์ตกดินค่ะ นักท่องเที่ยวสามารถลงเรือได้ที่บริเวณหน้าวัดหอคำ ซึ่งก็คือบริเวณเดียวกับที่ตั้งตลาดนั่นเองค่ะ ต้องบอกว่าบรรยากาศการล่องเรือนั้นดีมากๆ เรียกว่าชิลสุดๆ เลยค่ะ

และใครที่หลงใหลกับบรรยากาศสุดฟิน นอกจากกิจกรรมล่องเรือชมโขงยามเย็นแล้ว ที่ชุมชนบ้านหอคำนี้ยังมีโฮมสเตย์เก่าแก่ที่ชื่อ รับลมชมโขง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เต็มอิ่มกับบรรยากาศริมแม่น้ำโขง เพราะโฮมสเตย์แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับริมแม่น้ำโขงเลยค่ะ และที่โฮมสเตย์รับลมชมโขงนี้นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้พักริมแม่น้ำโขงแล้ว ต้องบอกว่าที่นี่ยังมีบริการเรื่องของอาหารท้องถิ่นแบบจัดเต็ม อาหารแบบบ้านๆ แต่รสชาติขอบอกว่าแซ่บหลายค่ะ

เช้าวันใหม่เรายังอยู่กันที่ชุมชนบ้านหอคำค่ะ เราจะพาไปดูอีกหนึ่งของดีที่เรียกได้ว่าเป็นสินค่า OTOP ของจังหวัดนี้เลยก็ว่าได้ และรับรองได้เลยว่าจะต้องถูกใจสหายสายเปรี้ยวแน่นอนค่ะ ที่นี่ก็คือ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหอคำค่ะ

ที่นี่จะเป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันผลิตลูกหยีแปรรูปที่ขึ้นชื่อมากๆ ค่ะ และเราก็ได้มีโอกาสไปดูขั้นตอนการเก็บลูกหยีสดๆ จากต้นกันเลยค่ะ ซึ่งลูกหยีของที่นี่นั้นจะมีขนาดใหญ่มากๆ และจะร่วงลงมาจากต้นลงมาที่โคนต้นให้ชาวบ้านได้เก็บเอาไปแปรรูปเป็นสินค้าค่ะ

ลูกหยีสดๆ ที่ได้จะถูกนำไปตากแดดและแกะเปลือกก่อนที่จะนำไปแปรรูป ซึ่งชาวบ้านที่เป็นสมาชิกในกลุ่มก็จะมาช่วยกันแกะเปลือกและเม็ดของลูกหยีก่อนที่จะนำไปเชื่อม และไม่ว่าจะเป็นการเก็บลูกหยี การแกะเปลือก หรือการเชื่อม ล้วนแล้วแต่เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน และเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านอีกด้วย

ลูกหยีที่ผ่านขั้นตอนการเชื่อมและคลุกเคล้าน้ำตาลจนได้ที่แล้ว ก็จะถูกนำไปเข้าเตาอบซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญมากๆ เลยล่ะค่ะ จนไปถึงขั้นตอนการแพ็คใส่ถุงเพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวเป็นของฝากลูกหยียักษ์ 3 รส ของดีของ จ.บึงกาฬค่ะ

และก็มาถึงภาระกิจที่เราได้รับจากชาวบ้านในเรื่องความต้องการออกแบบแพทเทิร์นใหม่ๆ และดีไซน์เสือ้ผ้าแบบใหม่ๆ ให้กับกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ เพื่อให้มีความทันสมัยและโดนใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นกว่าเดิม

ตอนนี้ทีมชื่นใจก็ได้เดินทางมาถึงแล้วและผู้ที่มารับหน้าที่ดีไซเนอร์ครั้งนี้ก็คือ คุณมิน วิภาวี อังศุวัชราการ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Lalanta และอีกหนึ่งท่านที่ต้องบอกว่าขาดไม่ได้เลยและถือว่าเป็นกูรูด้านแพทเทิร์นของแท้ นั่นก็คือ คุณต้าร์ พัฒน์ชญา ธนากุลอธิพันธ์ แพทเทิร์นเมกเกอร์ ผู้ที่จะรับหน้าที่เป็นครูสอนเทคนิคและวิธีการทำแพทเทิร์นเสื้อผ้าให้กับชาวบ้านค่ะ

กูรูของเราก็ได้ทำการพูดคุย สอบถามความต้องการและปัญหาที่มีของชาวบ้าน และมีการแนะนำเรื่อของการดูกลุ่มลูกค้าว่ามีความต้องการอะไร จากนั้นก็ได้อธิบายถึงขั้นตอนการออกแบบแพทเทิร์น และดีไซน์ให้ชาวบ้านได้ทราบ ซึ่งกูรูของเราก็ได้ทำการออกแบบแพทเทิร์นและดีไซน์เสื้อผ้าแนวใหม่ให้ชาวบ้านได้ดูและได้ลองให้ชาวบ้านได้ลองทำกันเองด้วยค่ะ

และหลังจากได้ไอเดียและเทคนิคต่างๆ แล้ว ก็ได้เวลาที่ชาวบ้านจะลงมือเขียนแพทเทิร์นและออกแบบด้วยฝีมือของตัวเอง โดยมีกูรูคอยแนะนำ ชาวบ้านทุกคนต่างตั้งอกตั้งใจทำกันมากๆ เรียกได้ว่าทำกันทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำเลยล่ะค่ะ

ในที่สุดเสื้อผ้าที่กูรูของเราและชาวบ้านได้ช่วยกันคิดและออกแบบ และร่วมกันลงมือทำขึ้นนั้นก็เสร็จเป็นที่เรียบร้อย ต้องบอกว่าเป็นชุดที่ออกมาสวยงาม เก๋ไก๋มากๆ เลยค่ะ เพราะทุกขั้นตอนตั้งแต่การย้อมผ้า การทอผ้า การออกแบบตัดเย็บ ทุกขั้นตอนทำขึ้นมาจากความตั้งใจจากการนำภูมิปัญญาเดิมมาประยุกต์ใช้ แถมยังได้แนวทางรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยอย่างที่ใจต้องการของชาวบ้านรู้สึกภูมิใจมากๆ ทีมงานชื่นใจที่ได้มาช่วยชาวบ้านต่อยอดสินค้าให้ความฝันของชาวบ้านนั้นเป็นจริงขึ้นมา เรียกว่าภูมิใจทั้งผู้ให้ สุขใจทั้งผู้รับเลยล่ะค่ะ

ติดต่อเยี่ยมชุมชน

  • กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านสะง้อ โทร. 084-408-2865, 095-664-7134
  • กิจกรรมล่องเรือชมโขง โทร. 093-056-0784
  • รับลม ชมโชง โฮมสเตย์ โทร. 085-007-2460
  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหอคำ โทร. 085-007-2460