Le Corbusier สถาปนิก ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เจ้าพ่องานฟังก์ชั่น ผู้สร้างความกลมเกลียวให้โลกผ่านงานสถาปัตยกรรม

คนรักงานสถาปัตยกรรมไม่มีใครไม่รู้จัก Le Corbusier สถาปนิก ชาวสวิสที่ชัดเจนกับแนวทางการออกแบบที่เน้น “การใช้งาน” เป็นหลัก จนเกิดยุคใหม่ของวงการออกแบบ ยุคที่คนทั้งโลกเข้าใจความงามของงานสถาปัตยกรรมชิ้นเดียวกันได้อย่างเป็นสากล ความงามนั้นเกิดจากฟังก์ชั่นการใช้งานภายใน ที่มาพร้อมรูปลักษณ์เรียบๆ คลีนๆ ขัดความนิยมในยุคนั้นแบบพลิกฝ่ามือ

คำที่เป็นผลพลอยได้มาจากผลงานของ Le Corbusier นอกจากคำว่า Modern ยังมีคำว่า International หรือสากล เพราะเป็นงานที่พอมองเห็นแล้วระบุไม่ได้ว่ามีรากเหง้ามาจากชนชาติใดเป็นสำคัญ แต่ให้โฟกัสที่จุดประสงค์ในการใช้งานมากกว่า เขาจึงเป็นสถาปนิกคนแรกที่จริงจังกับการศึกษาเรื่องคอนกรีตแบบมีเท็กซ์เจอร์ ที่ช่วยเพิ่มสุนทรียภาพในงานสถาปัตย์ให้ดูเป็นศิลปะมากขึ้น จากธรรมชาติของตัวคอนกรีตที่ไม่ต้องเสริมแต่งหรือปาดให้เรียบแต่อย่างใด
ชื่อจริงของเขาคือ Charles-Édouard Jeanneret เกิดในเมืองเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาในสวิส พออายุ 13 ปีก็ออกจากโรงเรียนประถมมาเรียนการเคลือบและสลักหน้าปัดนาฬิกา ซึ่งเป็นธุรกิจของพ่อ ที่ École des Arts Décoratifs ที่นั่นเองที่เขาได้รู้จักกับประวัติศาสตร์ศิลปะ งานดรออิ้ง และศิลปะเส้นโค้งวิจิตรแบบ Art Nouveau และครูผู้ให้วิชาของเขานี่เองเป็นคนแนะนำว่าเขาควรจะไปเป็นสถาปนิก ตอนอายุ 20 จึงได้เริ่มทดลองการทำงานในท้องถิ่นก่อน ก่อนจะเดินทางทั่วยุโรปกลางและแถบเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลา 3 ปี เพื่อศึกษางานสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ ด้วยตัวเอง

การเดินทางเป็นเหมือนตำราเล่มใหญ่ เขาได้สังเคราะห์องค์ความรู้จากที่มองเห็นด้วยตาให้กลายเป็นลายเซ็นของตัวเองได้อย่างน่าชื่นชม การไปเยือนแถบทัสคัน ทำให้เกิดแนวคิด Individual Living Cell หรือห้องที่อยู่อาศัยส่วนตัว จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์เบื้องตันของเขาในการทำงานที่พักอาศัย กรีกและอิตาลีเลยทำให้เรียนรู้เรื่องสัดส่วนความงามแบบคลาสสิก และแถบเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้เรียนรู้เรื่องรูปฟอร์มทางเรขาคณิต การใช้งานแสงธรรมชาติ รวมถึงงานแลนด์สเคปที่เป็นเหมือนแบ็คกราวด์ให้กับงานสถาปัตยกรรม

เขาเดินทางมาในสายโมเดิร์นตั้งแต่เริ่มทำงานช่วงแรก งานที่เห็นได้ชัดเจนคือ Citrohan House ที่ตอบบัญญัติ 5 ประการของงานโมเดิร์น ได้แก่ เสารับน้ำหนักโครงสร้าง แต่ก็ยังรู้สึกถึงพื้นที่อยู่ใต้อาคาร หลังคาระเบียงที่เปลี่ยนเป็นสวนและเป็นส่วนสำคัญของบ้าน ผังพื้นแบบเปิด ฟาซาดที่ไม่มีลวดลาย และหน้าต่างเป็นแถบที่เป็นอิสระจากกรอบโครงสร้าง ส่วนงานอินทีเรียร์ภายในก็ออกแบบให้แต่ละพื้นที่ได้แสดงตัวตนชัดเจน ตั้งแต่พื้นที่แบบเปิด ห้องนั่งเล่นเล่นระดับ ไปจนถึงห้องนอนเดี่ยว ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน ซึ่งบัญญัตินี้ก็เป็นไอเดียหลักของการออกแบบ The Villa Savoye ใน Poissy ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย



งานของเขายังเป็นตัวอย่างที่ดีในการวิเคราะห์ฟังก์ชั่น ซึ่งกลายมาเป็นพื้นฐานบทเรียนของนักเรียนสถาปัตย์ในปัจจุบัน อย่างอาคาร League of Nations ใน Geneva ที่ฉีกออกจากขนบของอาคารองค์การด้วยการไม่ใช้รูปทรงแบบนีโอคลาสสิก อย่างที่มักเห็นเสาโรมัน หรือหน้าบันชดช้อยอย่างที่เห็นตามอาคารราชการทั่วไปในยุโรป จนกลายมาเป็นโมเดลให้กับอาคารของสหประชาชาติในปัจจุบัน

แม้จะมีช่วงสงครามที่ทำให้เขาต้องพักงานสายสถาปัตย์ไปจับงานศิลปะแขนงอื่น แต่ช่วงพักนี้เองที่ทำให้เขาได้คิดค้นคอนเซ็ปต์สัดส่วนการออกแบบผ่านรูปร่างของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า Modulor และเขาก็ได้ใช้สัดส่วนนี้ในงานออกแบบอาคารได้เป็นอย่างดีในช่วงต่อมา

หลังจากได้กลับมาคืนวงการ เขาก็ต้อง Pitch งานใหญ่ๆ อาจพบกับความล้มเหลวบ้าง แต่ก็เขาได้โปรเจ็คต์ไซส์ยักษ์จากรัฐบาลฝรั่งเศสในการทำ Unité d’habitation โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในเมือง Marseille เป็นอาคาร 18 ชั้น ซึ่งประกอบด้วยห้องแบบ duplex จำนวน 23 แบบ ซึ่งแต่ละห้องก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นบ้านแต่ละหลังของตัวเองที่มาสวมเข้ากับเฟรมคอนกรีต เขาจึงใช้งานดีไซน์ชิ้นนี้แหละเพื่อแสดงวิสัยทัศน์การออกแบบที่สัมพันธ์กับสังคม


นอกจากอาคารเพื่อสังคมอื่นๆ เขาก็ยังสามารถผนวกงานแนว Functionism เข้ามาอยู่กับอาคารทางศาสนาได้ด้วย อย่างที่ Notre Dame du Haut ที่ Ronchamp เขาใช้ความถนัดด้านฟังก์ชั่นเพื่อสร้างมิติทางการมองเห็นที่มหัศจรรย์ ด้วยการเบิ้ลผนังสองชั้นเพื่อสร้างปรากฎการณ์ของลำแสงแดดและหลังคาที่เหมือนกับลอยได้


ในช่วงท้ายของชีวิต เขาได้มีโอกาสแสดงฝีมือการทำงานแบบเต็มที่โดยปราศจากข้อจำกัดทางวัฒนธรรม ด้วยตำแหน่งการเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาล Punjab ในการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ Chandigarh องค์ประกอบทั้งหมดที่อยู่ในหัวคิดของเขาถูกถ่ายทอดออกมาทั้งหมด ทั้งผนังคอนกรีตไม่เรียบ หน้าต่างที่มีชายคาขนาดยักษ์ เส้นหลังคาที่โฉบเฉี่ยว และฟาซาดสวยงามแบบงานประติมากรรม ความสำเร็จของงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ คือการได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ร่วมกับอีก 16 ผลงาน


แม้จะเสียชีวิตแบบกะทันหันขณะว่ายน้ำ แต่ Le Corbusier ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นต้นแบบงานแบบสากลเอาไว้ทั่วทุกมุมโลก ทั้งในเอเชีย ได้แก่ National Museum of Western Art ในโตเกียว ไปจนถึงสถานทูตฝรั่งเศสในบราซิลเลีย คำว่า “สากล” ในทีนี้คือ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด เมื่อมองอาคารของเขาก็สามารถเข้าใจและใช้งานมันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นับว่าเป็นการทลายเส้นพรมแดนทั้งทางพื้นที่และวัฒนธรรมด้วยงานสถาปัตยกรรมอย่างแท้จริง


อ่าน Meet the Masters ต่อ >> คลิกที่นี่ <<
เรื่อง skiixy