การก่อ ” สร้างและต่อเติมบ้านหน้าฝน ” หลายท่านคงมีความกังวลใจว่าควรจะให้ผู้รับเหมาทำดีหรือไม่ หรือเมื่อให้ลงมือทำแล้วจะมีปัญหาตามมามากน้อยเพียงใด “บ้านและสวน” มีข้อคิดดีๆเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านในช่วงหน้าฝนมาฝากกัน
การ ” สร้างและต่อเติมบ้านหน้าฝน “
เมื่อเซ็นสัญญาเพื่อลงมือก่อสร้างกันแล้ว ผู้รับเหมาจะเป็นผู้รับภาระต่างๆเกี่ยวกับงานก่อสร้างไปทั้งหมด แม้ฤดูฝนจะทำงานได้ลำบากกว่าฤดูอื่น แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากการก่อสร้างบ้านต้องใช้ระยะเวลานานเกือบปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งปัญหาที่พบในงานก่อสร้างช่วงหน้าฝนนั้นแบ่งได้เป็น 6 ส่วน คือ
ส่วนที่อยู่ใต้ดิน
ฝนตก น้ำจะไปไหน ก็ไหลลงดินไปนั่นเอง น้ำพวกนี้จะส่งผลกระทบต่องานก่อสร้างที่อยู่ใต้ดิน เช่น งานทำฐานราก หรือถังเก็บน้ำใต้ดิน
- ฐานราก ขณะก่อสร้างช่วงฝนตกจะมีน้ำขังก็ต้องสูบน้ำออกไปทิ้ง การขุดดินเพื่อทำฐานรากก็ต้องเผื่อความกว้างไว้รอบตัวอย่างน้อย 50เซนติเมตร และต้องทำบ่อซับไว้ด้วย เพื่อรองรับน้ำฝนที่ไหลมาจากฐานราก แล้วจึงใช้เครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออกไป
- ถังเก็บน้ำใต้ดิน เมื่อฝนตกหนักมากมีโอกาสที่จะทำให้ดินที่ขุดไว้พังทลายได้ เราต้องป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ เช่น ถ้าต้องขุดดินที่มีระดับความลึกมากกว่า 2 เมตรขึ้นไป ต้องมีการลงแผงเหล็กกันดินเพื่อป้องกันดินถล่มด้วย
ส่วนที่อยู่รอบๆไซต์งาน
ไม่ใช่แค่เรื่องสกปรกเท่านั้น แต่รวมถึงความยากลำบากในการขนส่ง การระบายน้ำ ซึ่งมีผลต่อการทำงานด้วย
- การถมดิน ช่วงฤดูฝนมีปัญหาแน่นอนเพราะขนส่งได้ลำบาก เช่น รถติดหล่มมีผลทำให้งานก่อสร้างล่าช้า ฯลฯ
- ถนนสกปรก รถบรรทุกดินหรือรถขนวัสดุก่อสร้างก่อนที่จะออกไปจากไซต์งานจะต้องล้างสิ่งสกปรกต่างๆที่ติดมากับล้อรถออกให้หมดฉะนั้นจึงควรเตรียมสถานที่ไว้สำหรับล้างรถโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้น้ำเจิ่งนอง
- การระบายน้ำ เตรียมระบบระบายน้ำให้ดีเพื่อป้องกันการอุดตัน เช่น ต้องปิดฝาท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้เศษวัสดุก่อสร้างตกลงไป แต่ถ้าเกิดการอุดตันขึ้นจริงๆ ต้องเตรียมคนงานมาช่วยจัดการลอกท่อ
ความปลอดภัยจากไฟฟ้า
- คัตเอ๊าต์หรือแผงสวิตช์ไฟที่ใช้ในงานก่อสร้างต้องอยู่ในบริเวณที่ฝนสาดไม่ถึง หรือมีอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันฝนสาด
- สายไฟ ห้ามอยู่ติดกับพื้นดิน ควรมีเสาสูงมารองรับสายไฟ เพื่อช่วยป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า