ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนสายออกแบบ หรือผู้สนใจด้านงานดีไซน์ น่าจะต้องเคยได้ยินชื่อของ Frank Lloyd Wright อยู่บ่อยๆ เพราะเขามักถูกนำมาเป็นกรณีศึกษาเสมอ ในฐานะผู้พลิกโฉมหน้างานสถาปัตยกรรมในสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่นิยมเส้นสายความวิจิตรในแบบยุโรป กลายมาเป็นความเรียบง่ายแบบเรขาคณิต เสมือนเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของงานสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น

แฟรงค์เกิดที่รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากพ่อและแม่หย่าร้างกันตอนอายุ 18 ปี เขาจึงต้องเรียนพร้อมกับทำงานไปด้วยในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน พออายุ 20 ปี ก็ลาออกมาทำงานเต็มตัวอยู่ 2 ที่ ก่อนจะได้ไปทำงานกับ Louis Sullivan สถาปนิกเบอร์ใหญ่ของโลกเป็นเวลาถึง 6 ปี
ผลงานในช่วงแรกๆ ของเขา เกิดขึ้นในบ้านที่ซื้ออยู่กับภรรยาตอนแต่งงานเมื่ออายุ 22 ปี เขาทำการทดลองเรื่องรูปทรงเรขาคณิตกับงานสถาปัตยกรรมในสตูดิโอที่บ้านของเขา จนกลายมาเป็นรูปแบบของบ้านที่เรียกว่า Prairie House บ้านทรงสี่เหลี่ยมทอดตัวตามแนวยาว ตัวหน้าต่างที่เรียงต่อเนื่องกันช่วยขับเน้นให้ตัวบ้านดูยาวมากขึ้น และประกบด้วยหลังคาลาดต่ำที่วางตัวทอดยาวตลอดทั้งตัวบ้านฃ


หลังจากนั้น แฟรงค์ได้โยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น ก่อนจะหวนกลับมาตั้งรกรากในสหรัฐฯ อีกครั้ง พร้อมแนวความคิดด้านสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานด้วยแนวคิดจากนานาประเทศที่เขาได้ไปเยือนมา ผลที่ออกมากลายเป็นบ้าน Textile Block House จำนวน 4 หลัง สะท้อนผ่านบล็อกช่องลมและแพตเทิร์นบนผนังตกแต่งแบบนูนต่ำติดตั้งทั่วทั้งผืนผนังบ้าน เป็นรูปติดตาที่แฝงกลิ่นอายความเป็นพื้นบ้าน โดยไม่ได้รบกวนรูปทรงเรขาคณิตโดยรวม อันเป็นลายเซ็นของเขาไปได้เลย เพราะจุดประสงค์อีกอย่างที่แฝงอยู่ในบ้านเหล่านี้ คือการค้นหานวัตกรรมการก่อสร้างบ้านแบบโมดูล่าร์ เพื่อต้องการให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการสร้างบ้านที่เป็นวิธีง่ายๆ และราคาไม่แพง แล้วยังเชื่อมโยงไปถึงแนวคิดการออกแบบที่เคารพธรรมชาติที่รอจะปรากฎโฉมในงานยุคต่อมา



ระหว่างทำงานทดลองแบบสุดเหวี่ยง แฟรงค์ก็ไม่ลืมที่จะตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการต่างๆ เสมอ จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนได้ก่อตั้งโรงเรียนสถาปัตยกรรมที่ชื่อว่า Taliesin Fellowship โปรแกรมช่างฝึกหัด ให้ได้เรียนรู้ถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่ง ผสานเข้ากับตัวงานสถาปัตยกรรม โดยวิชาที่สอนไม่ใช่แค่การออกแบบอาคารหรือเทคนิคการก่อสร้าง แต่ยังรวมถึงเรื่องการทำฟาร์ม สวน ทำอาหาร ธรรมชาติ และทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ
ผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซที่ไม่พูดไม่ถึงไม่ได้ของแฟรงค์ คือบ้านน้ำตก หรือ The Fallingwater House อันเป็นนิยามที่ชัดเจนของคำว่า Organic Architecture หรือการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยหลอมรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติที่รายรอบ นอกเหนือจากเรื่องความสวยงามของรูปทรงอาคาร แฟรงค์นับเป็นคนแรกๆ ที่นำเอาคำว่า บริบท มาร่วมในงานออกแบบสถาปัตยกรรม ไม่เพียงแค่บริบทของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติอย่างน้ำตก โขดหิน หรือต้นไม้ใบหญ้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึง วิธีการใช้งานและความรู้สึกของผู้พักอาศัยขณะใช้งานภายในอาคาร รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของวัสดุอย่าง กระจก หรือบันไดทางเดินคอนกรีตที่ทอดยาวลงไปบนผิวน้ำ เป็นตัวกลางที่เชื่อมสายตาไปสู่ทัศนวิสัยภายนอก นับเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสเปซทั้งภายนอกและภายในที่ลื่นไหลและกลมเกลียวไปกับสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออก





ผลงานออกแบบกว่า 1,114 ชิ้นตลอดชั่วชีวิตการทำงานเกือบ 70 ปีของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการทดลองหลายต่อหลายครั้ง เพื่อสร้างงานออกแบบที่มอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้ทั้งกับผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยอาศัยหลักการทั้งในทางทฤษฎีการออกแบบ และเทคโนโลยีการก่อสร้าง จนเกิดผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ ที่มากกว่าความเป็นสไตล์ แต่คือองค์ความรู้ จนทำให้เกิดเป็น Frank Lloyd Wright Foundation คลังข้อมูลมหาศาล และยังเป็นสถานที่สนับสนุนศิลปินและสถาปนิกหน้าใหม่เพื่อสร้างโลกของงานออกแบบให้เติบโตยิ่งขึ้นไป

เรื่อง skiixy
ภาพปก: https://en.wikipedia.org/wiki/Frank_Lloyd_Wright