เสน่ห์ของดอกไม้หอมแบบไทย เพราะอะไรจึงออกดอกหอม?

ดอกไม้ไทย มีทั้งที่มีกลิ่นหอมและไม่หอม  จริงหรือไม่ ที่ไม้ดอกหอมส่วนใหญ่มักมีสีขาว เรามาเรียนรู้ไปด้วยกัน…

เสน่ห์ของ ดอกไม้ไทย – ดอกไม้ทำไมจึงหอม?

ดอกไม้ไทย ชนิดต่างๆ ที่ดอกมีกลิ่นหอมเกิดจากน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil หรือ Volatile Oil) ที่พืชสังเคราะห์ขึ้น แล้วลำเลียงไปเก็บไว้ในต่อมหรือเซลล์พิเศษ ซึ่งกระจายอยู่ในฐานรองดอก กลีบดอก เกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมีย

ดอกไม้ไทย

คนเราจะได้กลิ่นหอมของดอกไม้ก็ต่อเมื่อดอกไม้บาน เพราะน้ำมันหอมระเหยที่แทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของดอกจะระเหยออกมาทำปฏิกิริยากับอากาศ เกิดกลิ่นหอมที่ทำให้จมูกรับกลิ่นได้ ดอกไม้แต่ละชนิดจะมีกลิ่นเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป มีทั้งหอมมาก หอมน้อย หอมอ่อนๆ หอมหวาน และหอมเย็น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและน้ำหนักโมเลกุลของสารประกอบในน้ำมันหอมระเหย แต่ดอกไม้แต่ละชนิดก็มีช่วงเวลาดอกบานต่างกัน เช่น บานเวลาเย็น พลบค่ำหรือตอนเช้า ระยะเวลาดอกบานก็ไม่เท่ากันบางชนิดบานหลายวัน แต่บางชนิดบานเพียงวันเดียวก็โรย ช่วงเวลาการส่งกลิ่นก็ต่างกัน บางชนิดส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา บางชนิดส่งกลิ่นเฉพาะบางช่วงเวลา เช่นในช่วงพลบค่ำ เช้าตรู่ หรือช่วงสาย

พุดแสงอุษา เปลี่ยนจากสีขาวเป็นเหลือง และส่งกลิ่นหอมตลอดวัน

เมื่อมีจุดเด่นเป็นกลิ่นหอมแล้ว ธรรมชาติจึงสรรค์สร้างให้ดอกไม้ประเภทนี้มีสีสันไม่ค่อยสะดุดตา  ส่วนใหญ่จึงมีสีขาวหรือสีขาวนวล ขนาดดอกเล็ก  ต่างจากดอกไม้ทั่วไปที่มีสีสันฉูดฉาดเพื่อล่อแมลง แต่ก็มีไม้ดอกหอมหลายชนิดที่ดอกมีสีสันสดใส เช่น เทียนกิ่ง บานบุรีหอม ประยงค์ เล็บมือนาง ชงโคฮอลแลนด์ ชัยพฤกษ์ ที่ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆไม่หอมฟุ้งเหมือนไม้ดอกหอมที่มีกลีบดอกสีขาวทั่วไป

ดอกไม้ไทย
บุหงาสาหรี ส่งกลิ่นหอมตลอดวัน
ดอกไม้ไทย

กลิ่นหอมของดอกไม้นอกจากจะดึงดูดใจคนแล้ว ยังดึงดูดแมลงและสัตว์อื่นๆ ให้บินมาผสมเกสร พร้อมกับดูดกินน้ำหวานและเกสรดอกไม้เป็นรางวัลตอบแทน และถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า ธรรมชาติได้จับคู่ระหว่างไม้ดอกหอมกับแมลงหรือสัตว์บางชนิดไว้ให้แล้ว ตัวอย่างเช่น  ดอกไม้ที่บานกลางวัน ดอกสีน้ำเงิน สีม่วง สีเหลือง และมีกลิ่นหอมหวาน มักมีผึ้งเป็นผู้ช่วยผสมเกสร ส่วนดอกไม้ที่บานกลางวันสีสันสดใส เช่น สีแดง สีเหลือง จะพบผีเสื้อช่วยผสมเกสร ในขณะที่ผีเสื้อกลางคืนมักช่วยผสมเกสรให้กับดอกไม้บานกลางคืนที่มีกลิ่นหอมรุนแรงในช่วงพลบค่ำและมีดอกสีขาวหรือสีขาวนวล อีกทั้งผีเสื้อทุกชนิดยังสร้างอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายหลอดยาวและมีร่องนำลิ้น เพื่อช่วยในการดูดน้ำหวานเป็นอาหารอีกด้วย

ว่าด้วยเรื่อง…ความหอมของดอกไม้ไทย

ในปัจจุบันน้ำหอมจากดอกไม้ไทยมีมากมายหลากหลายแบรนด์ ในวันนี้บ้านและสวนขอพาไปชมและรับความรู้จาก น้ำหอมไทยแบรนด์ Butterfly ที่ผลิตน้ำหอมจากดอกไม้ไทย รวมถึงกลิ่นต่างๆที่มีเอกลักษณ์และสะท้อนถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง

คุณ ชิน-สุชิน แก้วอุดร เจ้าของแบรนด์กล่าวว่า น้ำหอมของเราเกิดจากเทคนิคการทำน้ำอบ น้ำปรุงในสมัยโบราณผสมกับการทำน้ำหอมแบบสากล โดยนำเอาเกสรดอกไม้มาดึงกลิ่น และกลั่นด้วยไอน้ำแล้วนำไปหมัก จนได้มาเป็นน้ำหอมหนึ่งขวด” โดยนำสิ่งที่จับต้องได้ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของไทย อย่างเช่น ดอกไม้ ใบไม้ เครื่องเทศ มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำกลิ่น และผสมผสานออกมาเป็นกลิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบต่างๆทั้ง กลิ่นสดชื่น กลิ่นไม้หอม กลิ่นดอกไม้ กลิ่นขนมหวาน กลิ่นผลไม้ และกลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นหอมเหล่านี้ล้วนมีเรื่องราว คุณสุชินเชื่อว่า น้ำหอมมีชีวิต และเราสามารถช่วยปลูกฝังอาชีพของเกษตรกรได้อีกด้วย

กลิ่นที่ภูมิใจนำเสนอนั่นก็คือ “กลิ่นโคลนสาบควาย” ที่ชวนให้จินตนาการถึงควายที่เล็มหญ้าในท้องทุ่งนาอันเขียวขจี กลิ่นของหญ้า กลิ่นของโคลน แปลงมาเป็นน้ำหอมสูตรพิเศษเฉพาะตัวสุดๆ  ดยพรรณไม้ที่สามารถนำมากลั่นเป็นน้ำหอมกลิ่นไทยโบราณ ได้แก่ ดอกสารภี ใบเนียม ไม้กฤษณา ต้นกำยาน ส้มโอ บัวหลวง ปีป และดอกส้ม เป็นต้น

ดอกไม้ไทย

สารภี 

ไม้ต้นสูงได้ถึง 8 เมตร เปลือกต้นสีเทา ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ สีขาว ส่งกลิ่นหอมตลอดวัน หากปลูกในที่มีอากาศเย็นจะมีช่อดอกใหญ่และบานพร้อมกันทั้งต้น สามารถปลูกเป็นไม้กระถางในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนได้ แต่จะออกดอกน้อยและช่อดอกเล็ก

ดอกไม้ไทย

บัวหลวง 

ไม้เหนือน้ำ มีเหง้าใต้ดิน มีหลายพันธุ์ ทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน สีขาวหรือสีชมพู กลีบดอกใหญ่ กลางดอกมีฐานรังไข่และเกสรจำนวนมากและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตอนเช้าหรือกลางคืน ก้านดอกยาวชูขึ้นเหนือน้ำและมีหนามเล็กๆ ออกดอกตลอดปี แต่ดกในฤดูร้อนและฤดูฝน


เรื่อง: Bundaree D.

ภาพ: คลังภาพบ้านและสวน, ณัฐวัฒน์ ส่องแสง

อ่านต่อ : หอมกลิ่นไทย