ปัจจัยในการติดดอก การเร่งดอก
1. ชนิดพันธุ์
ควรเลือกพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทยอย่างพันธุ์ไม้ดอกเมืองร้อน เพราะดูแลรักษาง่าย เจริญเติบโตได้ดี เช่น ดาวเรือง บานชื่น สร้อยไก่ ดาวกระจาย หรืออาจเลือกปลูกไม้ดอกเมืองหนาวชนิดที่สามารถปรับตัวทนร้อนได้ เช่น ผีเสี้อ สายพันธุ์เทลสตาร์ (Telstar) เป็นต้น ซึ่งการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวมีวิธีการปลูกเหมือนกับการปลูกไม้ดอกทั่วๆ ไป ทั้งการเพาะเมล็ด การดูแลรักษา แต่อาจแตกต่างกันที่อุณหภูมิอากาศเท่านั้น
2. สถานที่ปลูก
ควรสำรวจพื้นที่ปลูกให้เหมาะสมกับชนิดต้นไม้ที่จะปลูก ทั้งปริมาณแดด ความชื้น การถ่ายเทอากาศ ซึ่งถ้าสภาพแวดล้อมดีก็ย่อมทำให้ต้นไม้ที่ปลูกออกดอกสวยงาม โดยไม้ดอกส่วนใหญ่มักชอบแดด แต่ถ้าหากได้แสงแดดมากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้ลำต้นยืดยาว ดอกซีดจางหรือไม่ออกดอกได้ เราสามารถแก้ไขได้โดยเปลี่ยนสถานที่ปลูกหรือปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น การปลูกไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงาและเก็บกักความชื้นหรือเพิ่มปริมาณการรดน้ำเพื่อลดความร้อน
3. การตัดแต่ง
ไม้ดอกส่วนมากควรได้รับการตัดแต่งหรือเด็ดยอดเพื่อให้เกิดการแตกกิ่งใหม่จึงจะได้ทรงพุ่มแน่น ลดความสูงของต้น และเกิดตาดอกมากขึ้น สามารถทำได้โดยการใช้มือเด็ดบริเวณปลายยอดในช่วงเช้าขณะที่เนื้อเยื่อของพืชยังอวบน้ำ ทำให้เวลาเด็ดกิ่งจะหักง่ายกว่าตอนสายหรือตอนบ่าย และควรรีบเด็ดยอดเมื่อดอกชุดแรกเริ่มโรยหรือบอบช้ำ เพื่อไม่ให้แย่งธาตุอาหารจากลำต้นและดอกสมบูรณ์อื่นๆ
4. ปุ๋ย
ระยะการเจริญเติบโตของไม้ดอกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ซึ่งแต่ละช่วงมีความต้องการธาตุอาหารที่แตกต่างกัน ในช่วงแรกเป็นการเจริญเติบโตของต้นควรเน้นการบำรุงต้นและใบ โดยอาจให้ธาตุสูตรเสมอ 15 – 15 – 15 หรือ 16 – 16 – 16 เพื่อให้ต้นสมบูรณ์ ในช่วงต่อมาเป็นการเจริญเติบโตของดอกควรเน้นธาตุฟอสฟอรัส (P) เพื่อช่วยในการสะสมตาดอกและควรลดธาตุไนโตรเจน (N) เพราะหากได้รับไนโตรเจนมากเกินไปจะทำให้ลำต้นอวบผลิใบมาก และไม่ออกดอกสำหรับวิธีการให้ปุ๋ย นิยมใช้ปุ๋ยฟอสเฟตหรือหินฟอสเฟตบดละเอียดรองพื้นหรือก้นหลุมก่อนปลูก สำหรับไม้ดอกที่มีอายุเกิน 1 ปี เช่น กุหลาบ เยอบีร่า หรือใส่เป็นแถบระหว่างร่องปลูก สำหรับไม้ดอกที่ปลูกเป็นแปลง เช่น เบญจมาศ ดาวเรือง และอาจให้ปุ๋ยพ่นทางใบเป็นครั้งคราวร่วมกับการพ่นสารป้องกันโรคและแมลง
5. การรดน้ำ
ปริมาณน้ำมีผลต่อการดูดซึมธาตุอาหารจากดิน ยิ่งในช่วงออกดอก หากต้นไม้ได้รับน้ำและธาตุอาหารมากเกินไปอาจทำให้ไม่ออกดอกตามต้องการ ดังนั้นช่วงก่อนออกดอกอาจงดให้น้ำประมาณ 9 – 15 วัน เพื่อป้องกันรากดูดธาตุไนโตรเจนขึ้นมาหลังจากดอกเริ่มบานจึงค่อยเริ่มให้น้ำใหม่ เพื่อช่วยยืดอายุดอกให้ยาวนาน หรือในบางกรณี เช่น ถ้าดอกมีขนาดใหญ่มีการคายน้ำมากอาจจะต้องรดน้ำเพิ่มขึ้น และไม่ควรรดน้ำโดนดอกเพราะจะทำให้ดอกช้ำหรือเน่าได้
6. โรคและแมลง
ดอกไม้สวยๆ ย่อมคู่กับแมลง ซึ่งแมลงก็เป็นพาหะสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อโรคบางชนิดที่อาจติดมากับอวัยวะของมันจากต้นที่เป็นโรคไปสู่ต้นอื่นๆ โดยมักพบปัญหาติดเชื้อรา เชื้อ แบคทีเรีย และเชื้อไวรัส เช่น โรคใบจุด ใบไหม้ ดอกบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ดอกเน่า หรืออาจพบความผิดปกติจากสาเหตุอื่นๆ เช่น กาฝาก ที่ขึ้นไปแย่งดูดกินสารอาหารบนกิ่งไม้ทำให้ไม่มีดอกหรือเกิดอาการผิดปกติที่ดอกได้
Story สริดา จันทร์สมบูรณ์ illustrator ออ-ร-ญา
photo แฟ้มภาพบ้านและสวน