พอพูดถึงชื่อ Nendo ชาวไทยก็น่าจะนึกออกกันถึงสถาปนิกหนุ่มชาวญี่ปุ่นใส่แว่นสูงโปร่ง ผู้ปรับโฉมสยามดิสคัฟเวอรี่ใหม่ด้วยดีไซน์สุดโดดเด่นจนโด่งดังไปทั่วโลก แต่สำหรับคนในแวดวงออกแบบล่ะก็ พ่อหนุ่มคนนี้คือนักออกแบบที่มีผลงานออกมามากที่สุดคนหนึ่งของโลก และผลงานแต่ละชิ้นของเขาล้วนแล้วแต่คอลแลบบอเรทกับแบรนด์ดังๆ ระดับโลกทั้งนั้น
จริงๆ แล้ว ชื่อจริงของเขาคนนี้คือ ‘Oki Sato’ ส่วนชื่อ ‘Nendo’ นั้นเป็นชื่อสตูดิโอของเขา ซึ่งมาจากภาษาญี่ปุ่นที่ว่า 粘土 แปลว่า ดินเหนียว เหมือนเป็นการบอกเล่าตัวตนของเขาที่อยากจะเป็นเหมือนดินเหนียวที่ยืดหยุ่น จะปั้นขึ้นรูปหรือจะเปลี่ยนรูปใหม่เมื่อไหร่ก็ได้


ซะโตะเกิดที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ก่อนจะมาจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ และในปีเดียวกันกับที่จบปริญญาโท เขาก็ได้ก่อตั้งสตูดิโอ ‘Nendo’ แห่งแรกขึ้นที่โตเกียว ก่อนจะไปเปิดออฟฟิศที่มิลานในอีก 3 ปี ต่อมา หลังจากนั้นไม่นานเขาได้รับรางวัล “The 100 Most Respected Japanese” หรือ 100 ชาวญี่ปุ่นที่ได้รับความนับถือสูงสุด จาก Newsweek Magazine และอีกที่สุดแห่งความสำเร็จคือการได้เป็น Designer of the Year หรือดีไซเนอร์แห่งปี จากงาน Maison & Objet ของฝรั่งเศสหลังจากทำงานได้เพียง 13 ปี จึงนับได้ว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จรวดเร็วมากคนหนึ่งในวงการออกแบบ

ผลงานของซะโตะ ดูเผินๆ อาจดูเหมือนเรียบง่ายไม่มีอะไร หรือแม้แต่จะเป็นของเล็กน้อยที่ใช้กันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่เพียงเขานำเอาความพิเศษรูปแบบใหม่ของสิ่งเหล่านั้น รวมกับอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกซ่อนอยู่ ก็ผสมผสานกลายเป็นของที่มีฟังก์ชั่นพิเศษขึ้นมาได้ชนิดที่คาดไม่ถึง อย่างเช่นประตู 7 แบบ ผลงานสร้างชื่อของเขา ที่จับเอาประตูไม้ธรรมดา มาแปรเป็นฟังก์ชั่นสำหรับการใช้งานหลายๆ แบบ เป็นโคมไฟ ชั้นวางของ เป็นประตูสำหรับเด็กเล็ก หรือกระทั่งประตูเข้ามุมสำหรับผู้ใช้งานวีลแชร์


ซะโตะวางแผนไว้ว่า หลังจากประสบความสำเร็จกับงานสายโปรดักต์จนวนเวียนจัดนิทรรศการมากมายทั่วโลกแล้ว ช่วง 2-3 ปีให้หลังจึงอยากโฟกัสไปงานด้านสถาปัตยกรรมและงานอินทีเรียร์ดีไซน์ดูบ้าง ด้วยโปรเจ็กต์สยามดิสคัฟเวอรี่ และกำลังออกแบบสถานีใกล้ๆ กับเกียวโต ที่มีทั้งสวนสาธารณะ คาเฟ่ และโรงภาพยนตร์ นอกจากนั้น ยังเริ่มขยายสายงานไปด้านการให้คำปรึกษาเรื่องการสร้างแบรนด์ให้กับบริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นหลายแห่ง ตั้งแต่อัตลักษณ์องค์กร สถานที่ ข้าวของ ไปจนถึงการสร้างแบรนด์

เบื้องหลังความสำเร็จของเขา คือไม่หยุดที่จะคิดงาน เพราะงานออกแบบสำหรับเขาแล้ว ก็เป็นเหมือนกับการหายใจ และการกินข้าว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดของมนุษย์เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ และหากคิดงานทีละโปรเจ็คท์ พอทำเสร็จไปแล้ว มันก็จบไป เขาเลยชอบที่จะคิดทีละหลายๆ โปรเจ็คท์ไปพร้อมๆ กัน จึงไม่แปลกเลยที่ 15 ปีของการทำงาน เขาจะมีผลงานเกินครึ่งพันเข้าไปแล้ว !


เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผลงานของเขาออกมาได้มากมายขนาดนี้คือ 3D Printer ที่ช่วยทุ่นเวลาในการปั้นดีไซน์ต้นแบบและแก้ไขผลงานให้สมบูรณ์แบบได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งยังช่วยให้จบงานได้เร็วขึ้น ซะโตะเองถึงกับบอกว่าเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้แหละเป็นเครื่องมือเปลี่ยนชีวิตนักออกแบบของเขาเลย นักออกแบบจึงต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ แบบรายนาที แล้วรู้จักเลือกชนิดที่เหมาะสมกับแต่ละงานมาทดลองใช้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร สำหรับเขาแล้ว ทุกดีไซน์ล้วนต้องเริ่มจากการลับคมความคิด และลงมือสเก็ตช์ “สารตั้งต้น” งานดีไซน์ด้วยมือทั้งนั้น

อ่านต่อ Meet The Masters : Zaha Hadid สถาปนิกสาวกับเส้นโค้งเหนือความคาดหมาย
–
เรื่อง Skiixy