D Hostel Bangkok
การท่องเที่ยวแบบประหยัดกำลังเป็นที่นิยม ประกอบกับข้อจำกัดด้านพื้นที่ในย่านท่องเที่ยวซึ่งไม่สามารถสร้างอาคารใหม่ได้ การรีโนเวตอาคารเก่าโดยปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอนุรักษ์อาคารให้ยังมีชีวิตอยู่ได้ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลายเป็นเทรนด์ที่พักมาแรงตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็คเกอร์

เช่นเดียวกับ D Hostel Bangkok ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุผลเดียวกัน เมื่อ คุณเบนซ์ – ธันยาภรณ์ เปี่ยมวิริยะกุลและครอบครัว ได้ซื้ออาคารพาณิชย์ยุคเก่ามาชุดหนึ่งในทำเลเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นย่านท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เขาจึงใช้ประสบการณ์ที่ตนเองและครอบครัวเคยดูแลและบริหาร “Feung Nakorn Balcony” บูทีคโฮเทลจนประสบความสำเร็จ มาปรับปรุงอาคารนี้ให้กลายเป็นที่พักในรูปแบบที่ต่างออกไป โดยได้ คุณนิว – กิตติธัช นรเศรษฐกร สถาปนิกจาก Klickken Studio เป็นผู้ชุบชีวิตอาคารหลังเก่าหลังนี้ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง


เนื่องจากที่ตั้งของอาคารแวดล้อมด้วยอาคารพาณิชย์แบบโบราณ ที่นิยมใช้การทำบัวคิ้ว และประดับงานปูนปั้นที่หัวเสาเลียนแบบองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมแบบยุคคลาสสิก สถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบตัวอาคารของโฮสเทลให้สอดคล้องกับบริบทใกล้เคียง เห็นได้จากการออกแบบหน้ากากอาคารหรือฟาซาดที่ถือเป็นไฮไลท์เด่น ซึ่งมีที่มาจากกฎหมายการสร้างโรงแรมที่จำเป็นต้องมีบันไดหนีไฟ เพื่อความปลอดภัยของแขกผู้เข้าพัก ทำให้ผู้ออกแบบต้องเพิ่มเติมบันไดหนีไฟให้อยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร ด้วยการนำโครงเหล็กสีดำมายึดเข้ากับตัวอาคารภายนอก จากนั้นใช้เหล็กกล่องสีขาวออกแบบให้เป็นลายเส้นแบบสองมิติ ที่ลดทอนมาจากรูปด้านหน้าของอาคารสไตล์โคโลเนียลทำหน้าที่เป็นหน้ากากอาคารขนาดใหญ่ สะท้อนภาพลักษณ์งานสถาปัตยกรรมในยุคคลาสสิกด้วยภาษาของงานออกแบบในศตวรรษที่ 21 ผสมผสานกับสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ ดูกลมกลืนกับบริบทรอบ ๆ ได้อย่างลงตัว


Did you know?
การจะเปลี่ยนอาคารพาณิชย์มาเป็นอาคารสำหรับพักอาศัยรวมมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้อาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตรหรืออาคารที่สูง 3 ชั้นและมีดาดฟ้าเหนือชั้นที่ 3 ที่มีพื้นที่เกิน 16 ตารางเมตร นอกจากการมีบันไดในอาคารตามปกติแล้ว จำเป็นต้องมีบันไดหนีไฟที่ทำด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และต้องมีทางเดินไปยังบันไดหนีไฟได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
เจ้าของ : คุณเบนซ์ – ธันยาภรณ์ เปี่ยมวิริยะกุลและครอบครัว
ออกแบบ : คุณนิว – กิตติธัช นรเศรษฐกร สถาปนิกจาก Klickken Studio
พิกัด :
103 ถนนบุญศิริ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
โทร. 0-2622-2556 www.dhostelbkk.com
–
เรื่อง และ ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
เรียบเรียง Parichat K.