Zaha Hadid ลาโลกไปแบบกะทันหันในวันที่ 31 มีนาคม ปี 2016 ชนิดที่ช็อคคนทุกวงการ ด้วยวัยเพียง 65 ปี แต่เธอยังคงฝากลายเซ็นเอาไว้บนสถานที่สำคัญเกือบทุกมุมโลก แม้แต่ในเอเชียของเรา อย่าง Galaxy SOHO และ Wangjing SOHO ในปักกิ่ง, Dongdaemun Design Plaza ในโซล และ Jockey Club Innovation Tower ในฮ่องกง



Zaha Hadid คือสถาปนิกผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล Pritzker Architecture Prize ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ในวงการสถาปัตยกรรม และประวัติชีวิตเธอก็น่าสนใจไม่แพ้เส้นสายในงานออกแบบที่เธอทำ จนได้รับสมญานามว่า “ราชินีแห่งเส้นโค้ง ผู้ปลดปล่อยงานสถาปัตยกรรมเรขาคณิตแบบเดิมๆ ออกสู่การแสดงออกถึงอัตลักษณ์แบบใหม่ถอดด้าม”


Zaha เกิดที่อิรักในครอบครัวคนมีฐานะ พ่อทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมและผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองในอิรัก ส่วนแม่เป็นศิลปิน เธอรำ่เรียนในต่างประเทศทั้งในอังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ จบปริญญาใบแรกด้านคณิตศาสตร์ที่เลบานอน และมาจบมหาวิทยาลัยด้านสถาปัตยกรรมที่ลอนดอน จากพื้นเพด้านการศึกษาอาจมีส่วนทำให้เธอมองเห็นความงามของเส้นโค้ง และเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างให้เส้นโค้งเหล่านี้กลายเป็นอาคารขึ้นมาได้ ความทะเยอทะยานที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของงานแบบเดิมๆ ที่หลายคนกลัวว่าสร้างจริงไม่ได้ หรือเกินงบประมาณ เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่งานหลายชิ้นของเธอจะได้เป็นเพียงแค่ Proposal ทำได้เพียงถูกตีพิมพ์ไอเดียออกไป แต่ไมไ่ด้ถูกสร้างจริง (เหมือนอย่างโครงการสนามกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่ถูกสอบสวนเรื่องงบประมาณจนต้องพับไปให้กับ Kengo Kuma ในที่สุด)

นอกจากผลงานของเธอจะนำกว่าคนอื่นหนึ่งก้าวในงานสถาปัตยกรรมแล้ว น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเธอคือสาวมุสลิมยุคใหม่ที่ก้าวออกมาทำงานนอกบ้านได้อย่างมั่นใจ ซ้ำยังเป็นงานที่เคยถูกมองว่าเป็นงานสำหรับผู้ชายอย่างงานสถาปนิก

ด้านผลงานของเธอ ในช่วงแรกอาจยังไม่ได้เป็นเส้นโค้งจริงจังมากนัก แต่ก็ยังเห็นถึงความดื้อรั้นในทางเรขาคณิต อย่างเช่นมุมแหลมเฟี้ยวของสถานีดับเพลิง Vitra Fire Station ที่เป็นผลงานสร้างชื่อ หรือเส้นโค้งที่ตวัดเกี่ยวทอดกับเสาสูง 48 เมตรของ Bergisel Ski Jump อาจดูหวาดเสียว แต่เธอบอกว่ามันคือลูกผสมที่พลิ้วไหวระหว่างสะพานและอาคาร แสดงให้เห็นถึงสปีดเคลื่อนไหวขณะเล่นสกี


งานในยุคต่อมา เธอเริ่มกล้าที่จะเล่นกับเส้นโค้งมากขึ้น ด้วยการนำวัสดุที่ดูแข็งอย่างคอนกรีตมาครีเอตโครงสร้างพลิ้วไหวผิดธรรมชาติของวัสดุ หรือรูปร่างไม่สมมาตรที่นำมาประกอบกันเป็นอาคารอย่างสมบูรณ์ ราวกับเป็นงานประติมากรรมคอนกรีต จนมาถึงงานในช่วงหลังที่เธอได้รับมอบหมายให้ทำงานสเกลใหญ่ขึ้น จำพวกอาคารเพื่อสาธารณชน เธอเลยยิ่งสนุกกับการใช้เส้นโค้งมากขึ้น ผู้คนต่างหลงใหลในสไตล์ของเธอ จนยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อจะได้ชื่อว่า อาคารหลังนี้ออกแบบโดย Zaha Hadid


จะว่าไป ความโค้งเหล่านี้เธอไม่ได้มโนมันขึ้นมา แต่อาศัยบริบทรอบด้านเป็นเส้นที่ส่งให้อาคารสวมเข้าได้พอดี เช่นงาน Messner Mountain Museum เธอก็เล่นกับระดับสภาพภูมิประเทศตรงนั้น หรือหากสถานที่อยู่ในเมือง เธอก็จะสร้างงานที่เมื่อมองเห็นแล้วสัมผัสได้ถึงความเคลื่อนไหว โดยไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสอื่นใดนอกเหนือจากสายตา และเธอยังคงทำงานด้วยลายเซ็นเช่นนี้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
–
เรื่อง skiixy