ไทยโทน

Thaitone – สีไทยโทน “อัตลักษณ์แห่งโทนไทย…รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์”

ไทยโทน
ไทยโทน

“แท้จริงแล้ว สีไทยโทน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อน เห็นได้จากงานจิตรกรรมของไทยที่มีสีสันที่สวยงาม แม้ผ่านเวลามานับร้อยปี สีของภาพจิตรกรรมบนฝาผนังก็ยังคงความงดงามไม่เสื่อมคาย”

สีไทยโทน เกิดจากเรื่องราวที่ถูกบันทึกลงในวรรณกรรม บทประพันธ์ วัฒนธรรม และความเชื่อในสมัยก่อน รวมถึงภูมิปัญญาช่างศิลป์ของไทยที่สรรหาสีจากธรรมชาติ นำมาสกัด คัดแยกสี และบรรจงผสมกันเพื่อให้ได้สีที่มีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ซึ่งในอดีตนั้นกลุ่มสีของไทยที่ปรากฎในงานจิตรกรรมมีแม่สี ถึง 5 สี รวมเรียกหมู่สีนี้ว่า “กลุ่มสีเบญจรงค์” ประกอบไปด้วย สีดำ สีขาว สีแดง สีเหลือง และสีคราม แต่ละสีสามารถนำมาผสมให้ได้สีสันที่สวยงามได้เพิ่มขึ้นอีก 10 สี ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ตามงานศิลปะแบบไทย เช่น งานภาพจิตรกรรมฝาผนัง งานศิลป์ของช่างสิบหมู่

ปัจจุบันสีไทยโทนมีถึง 168 เฉด และยังมีชื่อเรียกที่น่าสนใจไม่น้อย โดยชื่อสีไทยส่วนใหญ่นั้นมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปรุงสกัดจากวัสดุธรรมชาติ อย่างเปลือกไม้ แร่ธาตุ พืช หรือเกิดจากการเทียบสีกับธรรมชาติ เพื่อให้คนจินตนาการและนึกภาพออก ส่วนใหญ่นำไปเทียบกับต้นไม้ไทย ดอกไม้ไทย วัตถุไทย

สีไทยโทน

ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่และนักออกแบบ หันมาให้ความสนใจและนำไปต่อยอดไอเดียการผลิตผลงานของตัวเอง พร้อมกับปลุกกระแสรู้จักกับอัตลักษณ์ของสีสไตล์ไทย เกิดเป็นความภูมิใจที่บ้านเรามีทั้งตัวอักษรและมีสีใช้เอง

ลิ้นจี่ Linchi

สีไทยโทน

ฝรั่งเรียกว่า crimson เป็นสีแดงเข้มแดงก่ำ ใช้แต้มริมฝีปาก จีนเรียก อินจี่ (rouge) ใช้เขียนเส้นอ้อตัด พวกงิ้วนิยมนำมาทาปาก ทำจากแมลงโคชินิล (Chochineal)เหมือนแดงตัวเบี้ยเป็นสีที่แทนค่าของอัญมณี หนึ่งในสีนพเก้าคือโกเมน และเป็นสีกายของวิสันตราวี (หนึ่งในลิง 18 มงกุฎทหารเอกของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์)

ขาวกะบัง Khaokabang

สีไทยโทน

เป็นเครื่องเขียนสีขาว เป็นสีที่ทำจากดินขาว ที่เรียกว่า Braytarเป็นสีที่มีน้ำหนักมาก นำมาแช่น้ำแล้วกรองให้สะอาดนำไปเกรอะจนแห้ง ป่นให้ละเอียดมากๆ แล้วนำไปผสมกาวทาได้ เป็นสีขาวหม่นอมเทาเล็กน้อย

รงทอง Rongtong

สีไทยโทน

รงทองได้มาจากยางของต้นรงทอง เป็นสีที่ไม่ต้องผสมกาว

คราม Khram

สีไทยโทน

เป็นสีที่มีขั้นตอนการทำยุ่งยากและซับซ้อน โดยนำใบของต้นครามมาหมักกับปูนเป็นสีที่แทนค่าสีของอัญมณีในสีนพเก้าคือนิล

น้ำไหล Namlai

สีไทยโทน

สีฟ้าน้ำทะเล เกิดจากการผสมระหว่างสีครามและสีขาวเจือเหลืองรงเล็กน้อย เป็นสีฟ้าอ่อนอมเขียว

ควายเผือก Kwaaipueag

สีไทยโทน

ควายเผือกหรือสีสำราล สีสำลาน สีขาวออกไปทางชมพูอมเหลือง เป็นสีที่เกิดจากการผสมสีแดงลิ้นจี่กับสีฝุ่นหรือสีขาวผ่อง เจือรงเล็กน้อย ใช้การเทียบสีจากสีผิวควายเผือก

เขียวใบแค Khiaobaikae

สีไทยโทน

เป็นสีเขียวเข้มค่อนข้างดำ เกิดจากการผสมระหว่างยางรงกับเขม่าหรือหมึกจีน หรือไม่ก็เอาสีรงผสมกับสีคราม บางเอกสารก็บอกว่าเกิดจากการนำใบแคแก่สีเข้มมาตำให้ละเอียด ละลายน้ำ ตากให้แห้ง แล้วเอามาเขียนรูปได้

แดงชาด Dangchad

สีไทยโทน

สีแดงมาจาก “ชาด” ที่เป็นแร่ Cinnabar (HgS)ถือว่าเป็นแม่สีในสีไทย เป็นสีที่นิยมใช้มากในวัฒนธรรมเอเชียเป็นสีกายของสุครีพในเรื่องรามเกียรติ์

บัวโรย Buaroi

สีไทยโทน

สีผสมระหว่างสีดินแดงกับสีครามเจือด้วยฝุ่น เป็นสีกายของโกมุท หนึ่งในลิง 18 มงกุฎ ทหารเอกของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์

ขอบคุณข้อมูลจากโครงการวิจัยเรื่อง “ไทยโทน” หรือ “Thaitone” ของ คุณไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือติดตามเรื่องราวความเป็นมาของสีไทยโทนได้ที่  facebook : Thaitone

เรื่อง  : นภสร ศรีทอง

สไตล์  : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์