บ้านตากอากาศชั้นเดียว

Holiday Home บ้านแห่งความสุข

บ้านตากอากาศชั้นเดียว
บ้านตากอากาศชั้นเดียว

ชีวิตดีๆ ออกแบบได้ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่กับสิ่งไหนแล้วมีความสุข วันนี้เราจึงนำเรื่องราวการสร้าง บ้านแห่งความสุข ที่ทำให้ฝันเป็นจริงของ คุณต้อง โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทยแถมยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนการแปลและเป็นครูโยคะอีกด้วย

แต่ถึงแม้จะมีงานล้นมือ คุณต้องก็สามารถจัดสรรเวลาได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงสามารถแบ่งเวลามาปลูกบ้านริมแม่น้ำที่จังหวัดสุพรรณบุรีให้เป็น บ้านแห่งความสุข พื้นที่พักผ่อนในวันหยุดได้อย่างลงตัว

บ้านแห่งความสุข

คุณต้องเล่าให้ฟังว่า “พี่โชคดีอย่างหนึ่งที่รู้ว่าเราชอบอะไรตั้งแต่แรก รู้ตั้งแต่สมัยเรียนว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตของเราคืออะไร อย่างบ้านริมน้ำก็เป็นอีกหนึ่งความฝันของเรา เพราะทุกครั้งที่เราได้นั่งอยู่ริมน้ำจะมีความรู้สึกว่าไม่อยากกลับ อยากอยู่ตรงนี้นานๆ อาจเป็นเพราะองค์ประกอบทุกอย่างมันทำให้เรารู้สึกสงบ จึงปรึกษากับครอบครัวว่าอยากซื้อที่ริมน้ำเก็บไว้สักผืน ถ้าหากวันหนึ่งที่พร้อมแล้วจะได้กลับมาอยู่ บังเอิญพ่อของพี่เคยบวชอยู่วัดแถวนี้พอดี จึงเริ่มสอบถามชาวบ้านแถวนี้ดู จนมาเจอที่ตรงนี้ ซึ่งมันมีขนาดพอดีกับที่เราต้องการ บวกกับความรู้สึกแรกที่เห็นแล้วรู้ทันทีว่าใช่ เพราะไม่เพียงเป็นที่ติดริมน้ำแต่บริเวณรอบๆ เต็มไปด้วยต้นไม้ แถมยังอยู่ไม่ไกลจากถนนมากนัก ทุกอย่างมันดูลงตัว จึงตัดสินใจซื้อที่ผืนนี้เก็บไว้

บ้านแห่งความสุข

“ในช่วงระหว่าง 20 ปีหลังจากซื้อที่ พี่ก็จะมาที่นี่บ่อยๆ ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯทำให้การเดินทางสะดวก ทุกครั้งที่มาก็จะนำต้นไม้มาปลูก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมล็ดที่เพาะไว้หรือกิ่งตอนที่ชำไว้ อย่างต้นหางนกยูง ต้นทองหลาง แล้วพี่ก็ปล่อยให้เขาโตตามธรรมชาติ พอผ่านไป 20 ปี ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็สูงใหญ่ให้ร่มเงา เหมือนกับชีวิตของเรา พอถึงเวลาที่พร้อมก็กลับมาสร้างฝันให้เป็นจริง”

บ้านแห่งความสุข

บ้านหลังเล็กสีขาวริมแม่น้ำท่าจีนออกแบบในสไตล์อิงลิชคันทรีโครงสร้างเหล็กผสมไม้ ผนังไม้ไฟเบอร์ซีเมนต์โทนสีเขียวอ่อนดูอบอุ่นสบายตา เป็นบ้านชั้นเดียวมีหลังคาทรงจั่วกรุด้วยแผ่นหลังคาชิงเกิ้ล พร้อมกับติดฝ้าชายคาระบายอากาศเพื่อช่วยระบายความร้อนที่สะสมอยู่ใต้หลังคา ทำให้บ้านเย็นและน่าอยู่มากขึ้น “พี่ชอบบ้านสไตล์โคซี่ที่ดูอบอุ่น เรียบง่าย และหลังไม่ใหญ่มากจนเกินไปมันเป็นความรู้สึกที่ซึมซับมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ที่เมืองนอก จากนั้นก็เลยให้ทางสถาปนิกออกแบบให้ ซึ่งแบบแรกที่เสนอมามันใหญ่เกินไป พี่ไม่อยากเป็นหนี้ตลอดชีวิต จึงปรับให้พอดีกับความต้องการ ส่วนการตกแต่ง ด้วยความที่พี่ทำงานอยู่ในวงการนักเขียนจึงไม่ค่อยถนัดเรื่องนี้เท่าไร แต่โชคดีที่ได้เติ้ล (คุณเติ้ล พีระพัฒน์ พีระมาน) คอยเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในทุกๆ เรื่อง”

คุณเติ้ลเสริมว่า “ต้องบอกก่อนเลยว่าพี่ไม่ใช่สถาปนิกหรืออินทีเรียร์ แต่พอจะมีความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะและงานออกแบบมาบ้าง และพี่ก็เป็นคนชอบแต่งบ้านอยู่แล้วจึงเป็นเหมือนผู้ช่วยอีกทาง ส่วนสไตล์ที่พี่ต้องชอบก็ค่อนข้างชัดเจน ทุกครั้งที่เขาเจอรูปแบบหรือตัวอย่างบ้านก็จะส่งมาให้พี่ช่วยดู เราจึงรู้ว่าเขาจะชอบบ้านที่ดูเรียบง่ายดูอบอุ่น มีระเบียงหน้าบ้าน จึงมาลงตัวที่สไตล์นี้ พี่เริ่มหาข้อมูลบ้านสไตล์อิงลิชคันทรี ซึ่งเป็นรูปแบบบ้านของคนอังกฤษ แต่ด้วยความเคยชินของวิถีชีวิตแบบคนไทยพี่จึงต้องปรับพื้นที่และฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของทุกคนในบ้าน”

บริเวณหน้าบ้านออกแบบให้เป็นระเบียงแบบยาวเต็มพื้นที่ และเมื่อเปิดประตูเข้ามาสู่ภายในจะพบกับบรรยากาศที่อบอุ่น ด้วยผนังโทนสีขาวตัดกับเฟอร์นิเจอร์โทนสีน้ำตาลและสีเทาที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบ พร้อมกับเพดานสูงทำให้ดูโปร่ง ภายในแบ่งออกเป็น 5 ส่วน มุมแรกคือมุมรับแขกที่เชื่อมต่อกับมุมรับประทานอาหาร ตกแต่งผนังด้วยของสะสมที่เจ้าของบ้านรัก ทอดยาวมาสู่มุมครัวที่อยู่ด้านในสุดของตัวบ้าน ครัวที่ออกแบบให้อยู่ทางทิศใต้มีประตู และหน้าต่างบานใหญ่ สามารถรับแสงเวลากลางวันได้เป็นอย่างดีในส่วนของห้องนอน แบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องนอนใหญ่เป็นห้องของคุณต้อง ที่รวบรวมฟังก์ชันการใช้งานไว้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นมุมนอนที่จัดวางเตียงไม้สีธรรมชาติเข้ากับชุด เฟอร์นิเจอร์ได้อย่างลงตัว รวมถึงมุมทำงานที่คุณต้องวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นว่าต้องการให้หันหน้าออกสู่แม่น้ำ และมีระเบียงสำหรับพักผ่อนอย่างเป็นส่วนตัวอีกด้วย

“พี่ตกแต่งห้องนอนในสไตล์เดียวกันหมด ยกเว้นห้องนอนของพ่อกับแม่ที่ตกแต่งไว้เพียงบางส่วน เพราะอยากจัดห้องให้พ่อกับแม่ในแบบที่ท่านชอบ ซึ่งถ้าเปิดเข้าไปจะเห็นว่ามีความแตกต่าง จากห้องอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง พี่ไม่อยากจะไปกำหนดอะไรมาก อยากให้ท่านอยู่แล้วสบายใจที่สุด” ความพิเศษของบ้านหลังนี้ไม่ได้อยู่ที่ความลงตัวของตัวบ้านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมให้ชีวิตลงตัวมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กว้างขวาง มีที่ให้ปลูกต้นไม้รวมไปถึงบริเวณริมน้ำที่เจ้าของจัดวางศาลาไม้สีขาวขนาดใหญ่ในสไตล์วินเทจไว้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการเล่นโยคะที่แสนสงบจนไม่อยากออกไปไหน

“ช่วงเวลาที่เราทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ พี่ก็ใช้ชีวิตปกติเหมือนคนเมืองทั่วไป แต่พอสร้างบ้านหลังนี้เสร็จ ทุกๆ วันหยุดพี่ก็มักจะขับรถมาพักที่นี่ อย่างวันศุกร์หลังเลิกงานก็ขับรถมาเลย พอเช้าวันจันทร์ก็ขับรถไปทำงานตามปกติ มันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้พี่รู้สึกว่าได้พักผ่อนจริงๆ ซึ่งปกติพี่เล่นโยคะเป็นประจำอยู่แล้วและเป็นครูสอนโยคะด้วย ศาลาริมน้ำจึงทำหน้าที่เป็นห้องเรียนโยคะของพี่ไปทันที เพราะศาลาที่พี่เลือกมามีขนาดค่อนข้างใหญ่ สามารถเล่นโยคะได้หลายคน ที่สำคัญบรรยากาศตรงนี้ดีมาก ตอนกลางวันก็มีลมเบาๆ ยิ่งถ้าช่วงเย็นมุมนี้จะมองเห็นพระอาทิตย์ตกลงสู่แม่น้ำ มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษมาก”

“และไม่เพียงแต่พี่กับพี่เติ้ลที่มีความสุขเท่านั้นแต่ความสุขนี้ได้ส่งผ่านไปถึง ลูกหยี สุนัขที่พี่เลี้ยงไว้ด้วย เพราะพื้นที่กว้างขวางทำให้เขามีที่วิ่งเล่นคลุกดินคลุกทราย เขาดูมีความสุขมาก ตอนกลางวันวิ่งเล่น ตกกลางคืนนอนเร็วและตื่นเช้าพลอยให้พี่ทำตามไปด้วย ที่สำคัญเขายังทำหน้าที่ปกป้องบ้านจากสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว”

บ้านแห่งความสุข

ของแต่งบ้านที่ช่วยให้บ้านดูสมบูรณ์ขึ้นส่วนใหญ่มาจากของสะสมของเจ้าของบ้าน รวมถึงของแต่งบ้านหลายๆ ชิ้นที่ทั้งพี่ต้องและพี่เติ้ลช่วยกันเลือกระหว่างซื้อ หรือตำแหน่งที่จะนำมาจัดวางก็จะปรึกษากันทุกครั้ง “บ้านหลังนี้ทำให้พี่ได้รู้จักกระบวนการหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการสร้างบ้านหลายๆ เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็ต้องเรียนรู้ เพราะการสร้างบ้านมันมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่อาศัยความชอบและสิ่งที่เราเป็น จึงทำให้เราสนุกและมีความสุขที่ได้สร้างมันขึ้นมา”


Owner
/ design คุณต้อง – โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ

Story นภสร ศรีทอง

Photo ศุภวรรณ สอาด

STYLE อรญา ไตรหิรัญ

เรียบเรียง Jaranya.lw


อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม