คงเป็นปัญหาหนักใจไม่น้อยสำหรับคนที่ดูแลสวนเวลาที่ต้นไม้เกิดอาการผิดปกติ บางทีก็ยากที่จะคาดเดาได้ว่าต้นไม้เราเป็นอะไร วันนี้บ้านและสวนจึงนำ 7 โรคในสวนที่มักพบเป็นประจำ พร้อมทั้งวิธีป้องกันและกำจัด เพื่อให้คุณสังเกตอาการของต้นไม้ได้ถูกต้องและรักษาได้อย่างทันท่วงที
1. รากเน่า

รากและโคนต้นเน่าเป็นสีน้ำตาล ใบล่างๆเหลืองแล้วเหี่ยวตาย ที่โคนต้นและรากมักจะมีราสีขาวจับเป็นเส้นใยหยาบๆคล้ายเส้นด้าย และมีเม็ดราสีขาวหรือสีดำขนาดเท่าเมล็ดผักกาดเกาะติดอยู่ที่โคนต้นและราก หรือแทรกอยู่ในระหว่างก้อนดิน
การป้องกันและกำจัด
โรคนี้เมื่อเป็นที่ใดให้ขุดต้นที่เหี่ยวตายไปเผาทำลายเสีย พร้อมทั้งขุดดินบริเวณนั้นออกไปด้วย แล้วใช้ยากำจัดเชื้อราผสมน้ำรดให้ทั่ว เช่น ยาเทอร์ราคลอร์
2. ราน้ำค้าง

ใบเริ่มเป็นจุดสีน้ำตาลไหม้คล้ายโรคใบจุดสีดำซึ่งขยายวงกว้างออกไปเล็กน้อย รูปร่างของแผลที่ขยายวงกว้างออกไปส่วนมากเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่เป็นวงกลม ขนาดแผลกว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 0.2 เซนติเมตร และบนแผลสีน้ำตาลไหม้จะมีเส้นใยหยาบๆสีขาวอมเทาเจริญเป็นกระจุกอยู่ด้านล่างตรงกลางแผลสีน้ำตาลอ่อน ใบที่มีแผลเยอะจะเหลืองและร่วงอย่างรวดเร็ว
การป้องกันและกำจัด
ยาป้องกันกำจัดราส่วนมากให้ผลในการป้องกันกำจัดโรดทัดเทียมกัน แต่ต้องผสมยาเคลือบติดใบเวลาฉีดพ่นยาในฤดูฝนด้วย ยาที่ให้ผลดีมีหลายชนิด เช่น ยาไซเนบ, มาเนบ, ไดเทนเอ็ม 45, ไดโฟลาแทน 80, ดาโคนิล และพวกสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซิคลอไรด์, คอปปริไซด์ โดยฉีดพ่นยาทุก 7 วันต่อครั้ง
3. ราแป้ง

เป็นผงสีขาวจับอยู่ตามผิวใบทั้งด้านบนใบและด้านท้องใบ เนื้อเยื่อส่วนที่มีราเกาะอยู่จะพองออกเป็นคลื่น ทำให้ใบอ่อนบิดงอขึ้นหรือลง รานี้ถ้าเกาะตามใบแก่ไม่ค่อยมีอันตรายนัก เพียงทำให้ใบแก่แห้งกรอบและมีใบเหลืองผิดปกติ นานไปก็จะแห้งร่วงหล่น
การป้องกันและกำจัด
เนื่องจากโรคนี้ไม่มีความสำคัญจนถึงกับทำให้ต้นตาย และไม่ได้ทำให้ดอกเสีย จึงไม่มีการป้องกันหรือกำจัด แต่ถ้าจะใช้ยาฉีดป้องกันควรเป็นยาคาราเทน (Karathane) หรือยาชนิดอื่น ถ้าให้ได้ผลดีควรใช้ยาเคลือบติดใบผสมฉีดพ่นด้วยสัก 2 – 3 ครั้ง
4. ราสนิม

อาการของโรคปรากฏเป็นแผลนูนสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเหลืองอมน้ำตาล แผลเกิดทางด้านใต้ใบ และเกิดประปรายทั่วใต้ใบ หรือเกิดเรียงเป็นวงกลมซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น ภายในแผลเต็มไปด้วยสปอร์สีเหลืองส้มหรือสีน้ำตาล รอบๆแผลเนื้อเยื่อมีสีเหลือง ใบที่มีหลายแผลอาจจะมีปลายใบแห้ง ต้นที่เป็นโรคจะแคระแกร็นและมีใบม้วนงอ
การป้องกันและกำจัด
ควรใช้สารเคมีจำพวกกำมะถันฉีดพ่น แต่ระวังใบไหม้ อาจจะใช้ยาคาราเทน (Karathane) หรือยาแคปแทน (Captan) เฟอร์แบม (Ferbam) หรือไซเนบ (Zineb) ในอัตราส่วน 2 – 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ปีบ ฉีดพ่นทุกๆ 7 – 10 วัน
5. ใบจุด

อาการเริ่มแรกใบจะเป็นจุดสีแดงหรือน้ำตาล ซึ่งขยายวงกว้างออกไปเป็นจุดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร เนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเนื้อ มีขอบแผลสีน้ำตาลแดงหรือสีม่วงแดงเห็นได้ชัดเจน ในเวลาที่มีอากาศชื้นจะพบผงสีน้ำตาลดำปกคลุมบางๆบนแผล ใบที่มีหลายแผลจะค่อยๆแห้งไป ถ้าแผลเกิดตามกิ่งและลำต้นด้วย ต้นจะทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ
การป้องกันและกำจัด
ต้องทำการฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรา ยาป้องกันกำจัดเชื้อราทุกชนิดให้ผลดีทัดเทียมกัน แต่มีข้อควรระวังคือ ต้องฉีดพ่นยาให้ทั่วใบที่เกิดอยู่แถวระดับดินให้มากที่สุด ยาที่ฉีด เช่น คิวปราวิต, แคปแทน, ไซเนบ และมาเนบ ซึ่งยาพวกนี้มีขายทั่วไป ยาประเภทดูดซึม เช่น ยาเบนเลท ให้ผลดีในฤดูฝนตกชุก เพราะไม่ถูกน้ำฝนชะล้างเหมือนยาอื่นๆ ถ้าใช้ยาชนิดเคลือบใบก็ควรผสมยาเคลือบติดใบในฤดูฝนด้วย
6. แอนแทรกโนส

ใบที่เป็นโรคเริ่มปรากฏอาการเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อน ขยายวงกว้างออกไปอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ถ้าอากาศชื้นมาก แผลจะขยายกว้างออกไปมาก อาจทำให้ใบเน่าไปครึ่งค่อนใบในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าอากาศแห้ง ใบก็จะแห้ง และโรคก็จะลดน้อยหรือหยุดชะงักไปได้ระยะหนึ่ง
การป้องกันและกำจัด
อาจจะต้องฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อราประมาณ 10 – 15 วันต่อครั้ง เพื่อป้องกันโรคนี้ระบาด ยาที่ให้ผลการป้องกันและกำจัด ได้แก่ จำพวกสารประกอบทองแดง เช่น คิวปราวิต, คอบปริไซด์, คอปเปอร์ออกซิคลอไรด์ หรือจะใช้ยา ไซเนบ, มาเนบ หรือยาประเภทดูดซึมบางชนิดก็ได้
7. ใบด่าง

ใบด่างสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวแก่ หรือสีเหลืองสลับสีเขียวเป็นแห่งๆ ไม่สม่ำเสมอกันทั่วใบ ใบมีขนาดเล็กและหงิกงอ ดอกมีสีไม่สม่ำเสมอกันด้วย
การป้องกันและกำจัด
ให้ถอนทำลายต้นที่เป็นโรคเสีย
เขียน : Gott