เสน่ห์งานฝีมือที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งผ่านมาสู่คนรุ่นหลังให้ สานต่อภูมิปัญญา และพัฒนาสิ่งที่มีอยู่จนกลายเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง
my home ได้คัดเลือก 4 คนรุ่นใหม่ที่ สานต่อภูมิปัญญา พัฒนา และเพิ่มมูลค่างานศิลป์พร้อมเรื่องราวความเป็นมาในตำนาน และกระบวนการผลิตที่น่าหลงใหลจนคุณต้องหันมาสนใจในคุณค่าศิลปะที่อยู่ใกล้ตัว
indigo dye with Mae Teeta การเดินทางในโลกสีน้ำเงินของฉันกับแม่
ฑีตา แบรนด์ ผ้าฝ้ายย้อมครามธรรมชาติที่นำ “เทคนิคการย้อมคราม” ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดสกลนครมาทำให้ร่วมสมัย และเพิ่มเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมี คุณมอญ – สุขจิต แดงใจ ผู้สืบสานต่อฝัน พัฒนาและเข้าถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์
“ผ้าย้อมครามเป็นงานหัตถกรรมที่มีมานานตั้งแต่รุ่นคุณทวด โดยคนสมัยก่อนจะทำเพื่อใส่เองและ คุณแม่จิ๋ว – ประไพพันธ์ แดงใจ คุณแม่ของมอญ มักจะได้ยินเรื่องราวเหล่านี้จากคุณยายอยู่บ่อยๆ ปัจจุบันนี้กลับพบว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้
ได้หายไปแล้ว ทำให้คุณแม่รู้สึกเสียดาย จึงตั้งใจจะฟื้นขึ้นมาใหม่ แล้วออกเดินทางไปตามหาเคล็ดลับซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี จึงได้เจอกับคุณยายท่านหนึ่งโดยท่านบอกขั้นตอน เคล็ดลับต่างๆ แต่เกิดปัญหาตรงที่ต้นครามค่อนข้างหายาก คุณยายท่านนี้ก็เลยให้พันธุ์มาเพาะเลี้ยงเอง แล้วนำมาทอ สร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ‘ฑีตา’ ซึ่งมาจากชื่อของ
คุณยายนั่นเอง”
“ตอนจบบริหารใหม่ๆ เราไม่เคยทำ และไม่เคยสนใจ แต่พอเราไปเรียนแฟชั่น เขาก็สอนแบบให้ลงมือทำ พอเรารู้จักจริงๆ แล้วเราจะรู้เลยว่ามันสวยโดยที่มนุษย์ทำให้เหมือนไม่ได้ อย่างสีน้ำเงินหรือสีเขียวที่ได้มาจากธรรมชาติ ถ้าเราไปดูตามโรงงานที่ทำสีผ้าจะเห็นได้ชัดว่า ตามโรงงานให้สีแบบที่ธรรมชาติให้เราไม่ได้ ซึ่งเราเองก็รู้สึกมหัศจรรย์มากๆ
“มอญเริ่มจากการทำตามกระบวนการแบบดั้งเดิม ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เพราะเทคนิคเหล่านี้มันคงเสน่ห์ของมันอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับเปลี่ยนการนำเสนอให้มันเข้ากับโลกสมัยใหม่มากขึ้น โดยคุณแม่ก็เป็นดีไซเนอร์ออกแบบลายผ้า ส่วนคุณยายก็ทำวิธีการย้อมผ้าแบบดั้งเดิมไป ผสมผสานระหว่างเทคนิคดั้งเดิมกับดีไซน์ใหม่ๆ จนลงตัว”
“มอญมองว่า ผ้าย้อมครามสามารถไปได้ไกลเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่โชว์เนื้อแท้ของวัสดุและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เริ่มตั้งแต่การเพาะพันธุ์ การเก็บเกี่ยว การมัด ไปจนถึงการหมักให้ได้เนื้อครามแล้วนำฝ้ายมาย้อม ทุกขั้นตอนต้องอาศัยความละเมียดละไม ซึ่งส่วนใหญ่แบรนด์เสื้อผ้าทั่วไปจะเน้นการโชว์งานดีไซน์ แต่ ‘ฑีตา’ จะโชว์กรรมวิธีและวิถีแห่งภูมิปัญญา ที่สำคัญมีความเป็น made in Thailand อย่างแท้จริง อย่างเราไปจัดแสดงงานก็จะเห็นฝรั่งตกใจ ญี่ปุ่นตกใจ ว่า โห นี่ไทยแลนด์เหรอ มีแบบนี้ด้วยเหรอ”