ระวังบ้านพัง ! 8 วิธีตรวจสอบโครงสร้างบ้าน ผ่านรอยร้าว

รอยร้าว เป็นวิธีตรวจสอบโครงสร้างบ้าน เบื้องต้นว่ายังมีสภาพแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ ที่สังเกตง่ายที่สุด และสำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นนั้น แนะนำให้สังเกตภาพรวมของตัวบ้าน ว่าอยู่ในแนวดิ่ง หรือตั้งฉากกับพื้น หรือไม่ โดยเฉพาะโครงสร้างเสา และคานรับน้ำหนัก จะต้องไม่แอ่น หรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องสังเกต คือลักษณะรอยแตกร้าวต่างๆ ภายในตัวบ้าน โดยมีหลักการสังเกตดังนี้

ระวังบ้านพัง ! 8 วิธีตรวจสอบโครงสร้างบ้าน ผ่าน รอยร้าว

รอยร้าว

01 รอยร้าวที่ขอบวงกบประตูหน้าต่าง มักเกิดกับวงกบประตู – หน้าต่างไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีการยืดหดตัวง่าย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องอุณหภูมิ และความชื้น ส่งผลให้ปูนฉาบบริเวณนี้ เกิดรอยร้าวได้
ระดับความอันตราย ไม่มี

E_RM_110_p146-147-12

02 รอยแตกลายงาทั่วผนัง อาจเกิดจากการผสมปูนฉาบผนังไม่ดี หรือผนังมีการหดตัว จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิระหว่างกลางวัน และกลางคืนมาเป็นเวลานาน จนทำให้เนื้อปูนฉาบแตกเป็นรอยร้าวลายงา
ระดับความอันตราย ไม่มี

E_RM_110_p146-147-5

03 รอยร้าวบริเวณรอยต่อระหว่างผนังกับโครงสร้างเสาและคาน เกิดจากขั้นตอนการก่อสร้างผนังที่ไม่ได้เสียบเหล็กหนวดกุ้ง เกาะยึดกับโครงสร้างเสาด้านข้าง หรือเสียบแต่ไม่แน่นพอ ทำให้ผนังเกิดรอยร้าว ระหว่างรอยต่อของเสา ดูแล้วไม่สวยงาม
ระดับความอันตราย น้อย

E_RM_110_p146-147-6

04 รอยแตกลายงาบนพื้น พบได้ในพื้นที่ที่ไม่ได้ปูวัสดุปิดผิว เช่น พื้นหินขัด พื้นคอนกรีตขัดมัน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากหินขัด และผิวคอนกรีตมีความหนามากเกินไป รอยแตกลายงาแบบนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่สามารถนำมาวัดความแข็งแรงของโครงสร้างพื้นได้
ระดับความอันตราย ไม่มี

E_RM_110_p146-147-11

05 รอยร้าวแนวดิ่งบนผนัง เป็นรอยร้าวที่เกิดจากการแอ่นตัวของพื้น และคานที่อยู่ใกล้บริเวณนั้น เนื่องจากรองรับน้ำหนักมากเกินไป หากพบรอยร้าวแนวดิ่ง ควรรีบเคลื่อนย้ายของที่มีน้ำหนักมากๆ ออกไปทันที
ระดับความอันตราย มาก

E_RM_110_p146-147-9

06 รอยร้าวมีสนิมบริเวณเหล็กเสริมใต้พื้น เกิดจากการไม่ได้หนุนลูกปูนขณะเทคอนกรีต พบได้บ่อยในกรณีที่พื้นหลังคาดาดฟ้ามีน้ำขัง จนซึมเข้ามาถึงเหล็กภายในพื้นคอนกรีต และขยายตัวดันให้คอนกรีตหุ้มเหล็ก หลุดร่วงลงมา ทำให้พื้นไม่สามารถรับน้ำหนักมากๆ ได้
ระดับความอันตราย มาก

E_RM_110_p146-147-10

07 รอยร้าวทแยงมุมบนผนัง เกิดจากการทรุดตัวของฐานราก หรือเสาบ้านที่อยู่ใกล้ผนังบริเวณนั้น รอยร้าวลักษณะนี้บ่งบอกถึงความไม่แข็งแรงของโครงสร้างบ้าน ควรรีบเรียกช่างผู้ชำนาญ หรือสถาปนิก มาตรวจสอบ และแก้ไขโดยด่วน
ระดับความอันตราย มากที่สุด

E_RM_110_p146-147-8

08 รอยร้าวใต้ท้องพื้นรูปกากบาทและรอยร้าวบริเวณกลางพื้น เป็นรอยร้าวที่เกิดจากพื้น รับน้ำหนักมากเกินไป จนเกินขีดความสามารถ เป็นสัญญาณเตือนภัย ก่อนพื้นจะพังทลายลงมา
ระดับความอันตราย มากที่สุด

อ่านเรื่องรอยร้าวเพิ่มเติม ที่นี่ ระวัง! รอยร้าวอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

เรื่อง รัฐพล ศักดิ์ดามพ์นุสนธิ์
ภาพ แฟ้มภาพนิตยสาร บ้านและสวน
ข้อมูล สมาคมสถาปนิกสยามฯ
เรียบเรียง Parichat K.