๙ IN REMEMBRANCE – ก้าวไปในความทรงจำ

ในช่วงเวลาที่ม่านหมอกแห่งความเศร้ายังคงปกคลุมหัวใจคนไทยทั้งชาติ สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่าศิลปะดูจะเป็นเหมือนไทม์แมชีนชั้นดีที่พาเราย้อนกลับไปยังวันคืนเก่า ๆ เพียงแต่ว่าไทม์แมชีนแต่ละเครื่องก็มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไปตามผู้ประดิษฐ์คินค้น บางรุ่นหรูหรา บางรุ่นก็สดใสบาดตา ในขณะที่บางรุ่นก็ได้รับการออกแบบมาให้เห็นฟังก์ชันชัดเจน

room ขออาสาพาคุณไปรู้จัก 9 ศิลปินผู้ประดิษฐ์ไทม์แมชีนแห่งศิลปะซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยความรักและความรำลึกถึง ในหลวงรัชกาลที่ 9 นอกเหนือไปจากงานศิลปะ งานออกแบบเหล่านี้ยังเป็นเหมือน “อนุสรณ์” ที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยและรำลึกถึง แล้วคุณจะพบว่าความทรงจำบนโลกใบนี้ล้วนอยู่ในทุกหนทุกแห่งและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9
H.M. Blues ชะตาชีวิต” (2016) ชิ้นงานใหม่ที่ทำขึ้นเพื่อถวายอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขวา

ภาพวาดอาจเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่งที่สามารถแทนคำพูดได้เป็นร้อยพัน แต่งานเขียนตัวอักษร Hand Lettering ของ สรวิศ ประคอง เจ้าของเพจ Sorravis P. หนุ่มนักศึกษาคณะมัณฑศิลป์จากรั้วศิลปากร งานตัวอักษรที่หยิบเอาเพลงพระราชนิพนธ์ H.M. BLUES มาดีไซน์ใหม่ในแบบฉบับของเขาที่สะกดสายตาเราด้วยการจัดวางตำแหน่งที่สะดุดตากลางหน้ากระดาษ

“เหตุผลที่เลือกใช้เพลงพระราชนิพนธ์มาสร้างสรรค์งาน เพราะความทรงจำแรกที่มีต่อพระองค์ท่านคือ เรื่องดนตรีครับ ขั้นตอนการทำงานเริ่มจากนำคำที่จะใช้เขียนมาจดไว้ก่อน แบ่งคำเป็นก้อน ๆ และเริ่มจัดคอมโพสผมคิดว่าความไม่แน่นอน การเติมแต่งสด ๆ รอยเปื้อนนิด ๆ น้ำหนักเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง เป็นเสน่ห์ของดินสอที่ดูเหมาะกับดนตรีบลูส์ดีครับ” และสำหรับใครที่ยังไม่รู้ ชายหนุ่มนักประดิษฐ์ไทม์แมชีนจากตัวหนังสือคนนี้ยังเป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรงผู้อยู่เบื้องหลังภาพเพ้นต์บนผนังห้องซึ่งเป็นหน้าปกของนิตยสาร room ฉบับนี้อีกด้วย

 

erm_166_p067-085_special-column-5
ผลงานออกแบบพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วยการนำตัวอักษรมาเรียงพิมพ์

ไทม์แมชีนของแต่ละคนมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไป บ้างเป็นภาพวาด บ้างเป็นภาพถ่าย บ้างเป็นตัวอักษร แต่
สำหรับทีมนักออกแบบช่างทดลองของเมืองไทย STUDIO AEROPLANE กลับเชื่อว่า ส.ค.ส. คือไทม์แมชีนชั้นดีในการระลึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ค.ส.พระราชทาน “ส.ค.ส.พระราชทานเป็นเหมือนการสื่อสารของท่านสู่ประชาชนโดยตรง” ออน ราชศิริส่งศรี และ ศรานนท์ ลิ้มปานานนท์ สองดีไซเนอร์ผู้หยิบเรื่องราวที่ทั้งคู่สนใจมาพัฒนางานโดยไม่จำกัดรูปแบบการทำงานของตัวเอง หลังจากได้คอนเซ็ปต์ ทีมดีไซเนอร์ก็นำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาจัดเรียงใหม่ให้ดูสะอาดตา เรียบร้อยและเรียบง่าย

“ตั้งใจให้ภาพออกมาดูแล้วเข้าใจง่าย และไม่เป็นความรู้สึกส่วนตัว (Subjective) และนามธรรม (Abstract) จนเกินไป ก็เลยลองเขียนโปรแกรมขึ้นมาโดยใช้กติกาว่าให้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เตรียมไว้มาเรียงกันตามน้ำหนักความอ่อนเข้มของภาพ รวมเวลาคิดทดลองและทำประมาณ 30 นาที เพราะเป็นการทดลองที่ใช้ความรู้สึกล้วน ๆ ครับ”

 

 

erm_166_p067-085_special-column-8

งานของนักรบ มูลมานัส นักทำภาพประกอบรุ่นใหม่ที่มีดีกรีเป็นถึงบัณฑิตหนุ่มเอกภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สะสมคลังความรู้และความทรงจำเกี่ยวกับความเป็นไทยและความเป็นไปของโลก ก่อนถ่ายทอดเป็นงานศิลปะแนวคอลลาจมากเลเยอร์ที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบทางวัฒนธรรม

ผลงานคอลลาจชิ้นแรกนั้น นักรบเลือกสื่อสารใน เชิงสัญลักษณ์โดยใช้พระมหาชนก แทนการนำพระบรมฉายาลักษณ์มาตัดปะลงไปโดยตรง “เราตั้งใจเล่าเรื่องท่านผ่านตัวละครพระมหาชนกที่กำลังว่ายน้ำข้ามทะเล แต่หยิบจับรูปลักษณ์ของนางฟ้าในตำนานตะวันตกมาใส่ไว้ในชิ้นงานแทนการใช้ภาพนางฟ้าแบบที่คนไทยเคยจำ ส่วนงานหลัง ๆ ก็เริ่มใช้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านมากขึ้น แต่ยังคงผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้าไปตามสไตล์เรา ส่วนภาพที่เลือกมา บางครั้งเราก็จะเลือกใช้ภาพที่มีความแกรนด์ มีพลัง เพราะอยากให้ความรู้สึกที่ดูยิ่งใหญ่ แต่พอนำมาใช้เราก็ปรับบางอย่างให้ดูป็อปดูคลาสสิก จับต้องได้มากขึ้น”

 

erm_166_p067-085_special-column-12

erm_166_p067-085_special-column-14
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระ-ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่วาดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2014
erm_166_p067-085_special-column-13
พระบรมสาทิสลักษณ์ที่วาดหลังการเสด็จสวรรคต

เพราะความสุขคือเครื่องปรุงสำคัญที่ ต้องการ – วลัยกรสมรรถกร ศิลปินนักวาดภาพประกอบสีน้ำสกัดจากดอกไม้ธรรมชาติลายเส้นละมุน ในวันที่ความเศร้าบุกเข้ายึดพื้นที่ความรู้สึกของคนไทย ต้องการตัดสินใจลุกขึ้นมาบอกเล่าความรักที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อนที่เริ่มต้นใช้สีน้ำธรรมชาติ ภาพเหมือนบุคคลภาพแรกที่เราอยากวาดมากที่สุดคือในหลวง เป็นบุคคลแรก บุคคลเดียวในใจเรา เพราะสำหรับเรา ท่านคือคนที่เรารักและชื่นชมที่สุดในทุกพระราชกรณียกิจ และทุกความเสียสละที่ทรงทุ่มเทเพื่อคนไทย แม้ช่วงนั้นยังใช้สีธรรมชาติไม่อยู่มือเท่าปัจจุบัน แม้ว่าภาพที่ได้ตอนนั้นจะออกมาซีด ๆ จาง ๆ แต่ระหว่างที่เราวาดภาพท่าน เรามีความสุข และที่เรารู้สึกดีที่สุดคือ ตอนที่เรารีเสิร์ชพระราชกรณียกิจของท่านสมัยก่อนก่อนที่จะเริ่มวาด หลังจากนั้นก็วาดภาพท่านมาเรื่อย ๆ”
พระบรมสาทิสลักษณ์ที่ต้องการวาดนั้น เน้นการลดทอนรายละเอียดของฉลองพระองค์แล้วขับเน้นความรู้สึกอ่อนโยนและมีเมตตาของพระองค์ด้วยสีสันอ่อนใสจากธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งสีจากดอกอัญชัน ดอกกรรณิการ์ พริกฝรั่ง รวมไปถึงดอกไม้ใบหญ้าอีกหลายชนิด แม้งานล่าสุดที่เธอวาดขึ้นในช่วงที่ความเศร้าเกาะกุมหัวใจคนไทยจะใช้สีที่ยังชวนให้รู้สึกสดใส แต่ต้องการบอกกับเราว่า เธอกลับรู้สึกเศร้ากว่าทุกครั้งที่วาดภาพพระองค์

 

erm_166_p067-085_special-column-18 untitled-1

 

เราออกค้นหาเจ้าของลายเส้นเอ๊าต์ไลน์สนุกสุดซิ่งที่บอกเล่าเรื่องราว วัตถุ บุคคล ด้วยคู่สีนีออนแสบ ๆ แบบวัยจ๊าบยุค 80 อยู่นาน จนในที่สุดก็ได้พบว่า พีระ สุขอาษา ศิลปินหนุ่มและนักออกแบบอิสระในนาม CLUBPOPP คือผู้สร้างสรรค์ผลงานทั้งหมดนี้

หากสังเกตดูพระบรมสาทิสลักษณ์ส่วนใหญ่จะมีลักษณะลายเส้นที่เป็นผู้ใหญ่เพื่อขับเน้นให้เห็นพระบารมีในฐานะกษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ แต่พีระกลับเลือกถ่ายทอดความรักที่มีต่อพระองค์ท่านในมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยแรงบันดาลใจส่วนใหญ่ของเขามาจากพระบรมฉายาลักษณ์ที่เผยให้เห็นมุมมองที่น่ารัก อบอุ่น ดูจับต้องได้ และใกล้ชิด ตั้งแต่การเป็นศิลปินผู้รักการถ่ายภาพ นักกีฬาเรือใบฝีมือฉกาจและชายหนุ่มที่มีทั้งอารมณ์ขันและโรแมนติกในคนเดียว

 

erm_166_p067-085_special-column-23

รัตตา อนันต์ภาดา ตัดสินใจสร้างสรรค์ผลงาน “KING RAMA IX” ขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ทรงแย้มพระสรวลอย่างสดใส หลังจากนั้นสองวันเราจึงได้เห็นผลงานพระบรมสาทิสลักษณ์ที่เกิดจากการนำสีสัญลักษณ์บนธงไตรรงค์มาใช้เพื่อแสดงถึงความเป็นชาติ โดยมีพระองค์ท่านเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย

“งานนี้คือชิ้นที่พิเศษที่สุด เพราะปกติเราจะคิดแต่จะวาดภาพเพื่องานของตัวเองเท่านั้น แต่งานนี้กลับเป็นชิ้นแรกที่ทำถวายพระองค์ท่านจริง ๆ ตอนที่วาดเสร็จ เราเพิ่งตระหนักได้ว่าเราได้อะไรจากการวาดภาพนี้ เราได้ทำเพื่อคนอื่นบ้าง เป็นประสบการณ์ที่งานทั่วไปไม่สามารถให้ได้

เราอยากวาดภาพท่านในแบบที่ทรงกำลังแย้มพระสรวล ช่วยให้คนดูรู้สึกว่ามีความสุขขึ้นมาสักนิดหนึ่งก็ยังดีจริง ๆ พระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ท่านทรงพระสรวลมีอยู่หลายภาพ แต่พอเห็นภาพนี้เรามองแล้วรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกว่าภาพนี้แหละที่เราอยากได้เป็นต้นแบบ ซึ่งเดิมเป็นภาพสีขาว – ดำและค่อนข้างมืด เราจึงเติมสีสันลงไป” รอยยิ้มอบอุ่นบนพระพักตร์ของพระองค์ท่านนั้นโดดเด่นและตราตรึงในหัวใจของเราด้วยสไตล์ภาพอันเป็นเอกลักษณ์บางทีศิลปะก็ช่วยคลายความโศกเศร้าและพาเราย้อนกลับไปสู่ความทรงจำอันยิ่งใหญ่ของทุกคน

 

erm_166_p067-085_special-column-27

“พวกเรานำประติมากรรมที่ทำขึ้นไปไว้ที่เขาชะงุ้ม ในวันที่ทั้งแผ่นดินมืดหม่น แต่ในความรู้สึกผม ‘ในหลวง’ จะไม่มีวันกลายไปเป็นภาพขาวดำ แต่จะยังคงเป็นสีที่สว่างสดใส เด่นชัดที่สุดเสมอในหัวใจ และไม่มีทางเลือนหายจากความทรงจำ” วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงโอ่ง“เถ้าฮงไถ่” ราชบุรี นอกจากจะเป็นศิลปินเซรามิกคนดังแล้ว วศินบุรี ยังเป็นช่างภาพสายอาร์ตรุ่นใหญ่ที่ใคร ๆ ต่างเฝ้าติดตามผลงาน

ประติมากรรมสองมิติพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 น้อมพระองค์ลงมาหาเด็กน้อยที่เข้ามาก้มกราบ เป็นผลงานที่เขาทำร่วมกับ อังคณา ปั้นทองคำ และทีมงาน สร้างสรรค์จากแผ่นไม้พลาสต์วู้ด (PLAST-WOOD) แสนธรรมดาจากร้านทำป้ายในจังหวัดราชบุรีข้อจำกัดด้านวัสดุมิได้ทำให้พลังของภาพศิลปะลดน้อยลง สีชมพูสะท้อนแสงที่เขาเลือกใช้สะท้อนถึงความทรงจำที่ยังคงฝังแน่นและสว่างสดใสอยู่ในใจไปนานเท่านาน ก่อนนำประติมากรรมชิ้นนี้ไปจัดวางท่ามกลางความเขียวขจีของพื้นที่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชะงุ้ม พื้นที่ซึ่งเคยแห้งแล้งมาก่อน แต่กลับฟื้นคืนความชุ่มชื้นได้อย่างมหัศจรรย์

 

erm_166_p067-085_special-column-31

ด้วยแรงบันดาลใจจากความอาลัยที่เปี่ยมล้น ช่างภาพสาวของ room จึงขอมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 นอกจากการเป็นช่างภาพ จูน – นันทิยา บุษบงค์ ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ “จำรูญพรรณ” ผู้ใช้เวลาแห่งความสุขไปกับการปักผ้าเป็นผลงานศิลปะ

ในวันแห่งความสูญเสียพร้อมคนไทยทั้งประเทศพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงเปียโนพร้อมกับคุณติโต แมวทรงเลี้ยง เป็นภาพที่เธอหยิบมาปักลงบนผ้า เพื่อเก็บเป็นความทรงจำอันแสนอบอุ่นที่ครั้งหนึ่งได้เกิดมาในแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 9และสะท้อนถึงห้วงเวลาที่ทรงพระเกษมสำราญซึ่งเราไม่ค่อยได้มีโอกาสเห็นกันบ่อยนัก
“งานปักที่ทำเป็นงานเหมือนจริงที่พยายามเก็บทุกรายละเอียดของภาพ แต่เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์ต้นแบบเป็นสีขาวดำ จึงต้องจินตนาการถึงสีที่จะใช้ขึ้นเอง ต้องศึกษาเพิ่มเอง และทำงานนี้อยู่เกือบหนึ่งเดือนเต็มนับตั้งแต่วันที่รู้ข่าวปักงานชิ้นนี้แรก ๆ ทุกข์มาก แต่พอทำไปเรื่อย ๆ เรากลับมีความสุขเนื่องจากเป็นงานละเอียด เวลาปักก็มีช่วงที่ท้อใจบ้าง แต่พอนึกถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเททำงานเพื่อเหล่าพสกนิกรก็ทำให้เรามีความอดทน และตั้งใจปักต่อไปจนเสร็จ”

 

erm_166_p067-085_special-column-36

อีกหนึ่งสมาชิก room ที่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ประไพวดี โภคสวัสดิ์ คือสไตลิสต์และศิลปินสาวผู้หลงใหลในศิลปะกึ่งนามธรรม (Semi-abstract) โลกของเธอคือโลกแห่งสีสัน

ในผลงาน “พระราชา” ชิ้นนี้ เธอเลือกจะถ่ายทอดความทรงจำเกี่ยวกับพระองค์ให้ออกมาเป็นภาพที่ชัดเจน โดยยังคงแสดงให้เห็นถึงการต่อเนื่องเชื่อมโยงของรูปทรงด้วยสีสันในแบบที่เธอถนัด “ภาพนี้เพ้นต์จากพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงในฉลองพระองค์ชุดทหารที่ดูเข้มแข็ง แต่ขณะเดียวกันก็ทรงประทับในอิริยาบถเป็นกันเอง ทำให้เรารู้สึกได้ว่าพระองค์คือพระราชาที่ไม่เคยห่างเหินกับประชาชนทุก ๆ สถานที่ที่เสด็จฯไปคือการไปสร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนเสมอมา เราอยากเขียนภาพนี้ให้ชัดเจนเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ เพื่อรำลึกถึงพระวิริยอุตสาหะ ความทุ่มเท และวิสัยทัศน์อันวิเศษของพระองค์ท่าน อยากให้ภาพนี้แทนความทรงจำของเราไปนานเท่านาน”

 

 


เรื่อง polarpoid ภาพ ศิลปินเจ้าของผลงาน, ฝ่ายภาพนิตยสาร room
เรียบเรียง Parichat K.