บ้านแสนสุข

Trouble is a friend of mine – (กว่าจะเป็น) บ้านแสนสุข

บ้านแสนสุข
บ้านแสนสุข

การสร้างบ้านใหม่หนึ่งหลัง นอกจากจะใช้เวลามากแล้วต้นทุนก็เป็นเรื่องสำคัญ การเลือกซื้อบ้านในโครงการบ้านจัดสรรไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านแฝดก็เป็นออปชั่นที่ดีจากนั้นจึงค่อยมาออกแบบตกแต่งภายในให้เป็น บ้านแสนสุข ของคุณเหมือนกับบ้านหลังนี้อย่างไรล่ะ

บ้านแสนสุข
บ้านแฝดหลังไม่เล็กไม่ใหญ่ที่เป็นเหมือนพื้นที่ส่วนตัวสำหรับวันพักผ่อน สมาชิกมีไม่มากไม่มาย แค่คู่สามีภรรยาและเจ้าสุนัขสี่ขาอีกสองตัว

“ บ้านแสนสุข หลังนี้เราวางเงินจองกันตั้งแต่ปี 2009 เข้าอยู่ประมาณปี 2010 ค่ะแต่ไม่ได้พร้อมอยู่เลยเสียทีเดียว ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ เก็บรายละเอียดมาเรื่อย ๆ” คุณแจม – ชฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์เจ้าของบ้านแฝดที่อำเภอบางแสน จังหวัดชลบุรีบอกกับเรา

ฟังดูเหมือนทุกอย่างจะง่าย แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเพียงแค่ก้าวแรก คุณแจมก็พบกับปัญหาใหญ่ นั่นคือกระเบื้องปูพื้น ซึ่งดูเป็นปัญหาทั่วไปของการซื้อบ้านสำเร็จรูปที่มักแถมวัสดุที่หลายคนไม่นึกอยากได้ แต่ครั้นจะปฏิเสธก็กังวลว่า จะมีปัญหาในการรื้อแล้วหาวัสดุใหม่ ซึ่งจะเสียเวลาและเงินทองไปโดยใช่เหตุ บ้านหลังนี้ก็เช่นกัน เมื่อช่างแนะนำว่าปูกระเบื้องแล้วดูแลทำความสะอาดง่าย เธอก็ไม่คัดค้าน จนกระทั่งถึงวันนัดรับงาน คุณแจมก็ทำใจยอมเซ็นรับงานไม่ได้จริง ๆ

บ้านแสนสุข
มุมรับประทานอาหารที่ยังคงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งชุดเพียงแต่เลือกรูปทรงที่ดูร่วมสมัยขึ้นมาอีกนิดเพื่อให้สะดวกแก่การใช้งาน

“เขาใช้กระเบื้องคนละล็อต บ้านทั้งหลังจึงมีสีกระเบื้องปูพื้นไม่เหมือนกันเลย ช่างคุมงานเองก็เครียด เพราะแจมจะให้รื้อทั้งหมด สุดท้ายช่างขอประนีประนอม บอกว่าจะรื้อและปูให้ใหม่เฉพาะตรงหน้าบ้าน ซึ่งแจมไม่คิดจะใช้กระเบื้องด้านในตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงยอมไปค่ะ”

บ้านแสนสุข
ผนังเดิมเป็นช่องว่างทะลุถึงกันแต่คุณแจมใช้อิฐฝังเข้าไปจนเต็ม กลายเป็นกำแพงอิฐ ที่ให้ผิวสัมผัสแตกต่างจากบริเวณอื่น ๆ “โซฟาเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสุดท้ายที่ได้มาไม่ยึดคอนเซ็ปต์หรือสไตล์อะไรทั้งนั้น   ขอให้นอนได้ ใหญ่นุ่ม และต้องเข้าล็อกได้พอดี”

ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เพราะไม่นานปัญหาใหม่ก็ตามมาติด ๆ ด้วยว่าพื้นปูนเปลือยกึ่งลอฟต์ที่คุณแจมชอบนักหนานั้นหาช่างทำได้ยากเย็นเข็ญใจ ถึงขนาดว่าต้องเปลี่ยนผู้รับเหมาไปสามครั้งกว่าจะเจอช่างที่เหมาะสม

บ้านแสนสุข

“ช่างทีมแรกทำแบบปูกระเบื้องเลยค่ะ เททีละนิดละหน่อยทำให้สีไม่เหมือนกัน แล้วก็ไม่ได้ระนาบเดียวกันด้วย จ้างช่างทีมที่สองมารื้อและเทใหม่ ก็เทแบบลวก ๆ อีก เปลี่ยนครั้งสุดท้าย ไปได้ผู้รับเหมาที่เปิดร้านอยู่ในบางแสนนี่ละค่ะ คุยกันไปคุยกันมาเขาดันเป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนเก่าของแจม แล้วก็ชอบสไตล์เดียวกัน เขาเลยมารื้อพื้นเทให้ใหม่ ซึ่งทำให้เห็นว่าช่างสองทีมแรกไม่ได้ใช้เหล็กเส้นเสริมเอาไว้เลย เพราะฉะนั้นเทปูนลงไป ใช้งานได้ไม่นานมันก็จะร้าว”

บ้านแสนสุข

และเหตุที่ว่าเจอช่างคู่แท้เข้าแล้ว คุณแจมจึงปล่อยให้ทีมผู้รับเหมารายนี้ดูแลตั้งแต่เรื่องพื้น ผนัง หลังคา และงานโครงสร้างทั้งหมดที่เหลือเสียในคราวเดียวกัน 

บ้านแสนสุข
มุมโปรดของเจ้าของบ้าน มีทั้งตู้ไม้เก่าที่บรรจุของใช้ของตกแต่งเอาไว้เพียบ ในขณะที่ผนังด้านหลังเป็นบานหน้าต่าง เปิดออกไปมองเห็นสวนเล็ก ๆ ได้

แต่สำหรับสไตล์ของเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งนั้น คุณแจมบอกว่า เธอไม่ได้ชอบสไตล์ลอฟต์หรืองานอินดัสเทรียลลุคอะไรขนาดนั้น แต่เธอและสามีชอบงานไม้จริงแนวอบอุ่นมากกว่าและด้วยความที่เฟอร์นิเจอร์ไม้จริงราคาค่อนข้างสูงทั้งยังหาแบบถูกใจไม่ค่อยได้ คุณแจมจึงเลือกใช้บริการของwww.thaiscooter.com ที่มีงานไม้ของเก่าและของสไตล์ย้อนยุคให้เลือกช็อปในราคาไม่แพงจนเกินไปนัก

“บางชิ้นก็มาเป็นซากเลยนะคะ (หัวเราะ) ก็ต้องหุ้มโครงกันใหม่พวกตู้ไม้พวกนี้ก็ต้องทำความสะอาดกันก่อนใช้งาน”

บ้านแสนสุข

รอยยิ้มยังมีแตะแต้มอยู่ที่มุมปาก ยามที่เจ้าของบ้านเล่าเรื่องราวของบ้านหลังนี้ให้เราฟัง ที่จริงความสุขคงไม่ได้เกิดจากความสมบูรณ์แบบเสียทีเดียว แม้จะเจออุปสรรคหรือปัญหาบ้างแต่ก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสุข ณ ปลายทางอิ่มเต็มในหัวใจมากยิ่งขึ้น

บ้านแสนสุข

my home ฉบับที่ 50

เจ้าของ – ออกแบบ – ตกแต่ง : คุณชฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ และคุณชัยวัฒน์ เหลืองดี

เรื่อง : มนตรา ศิริขันธ์

ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู, อุ้ม เชาวนปรีชา

สไตล์ : เกษม์จงกล พูลล้น

เรียบเรียง : Jaranya.lw