EKAR Architects การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์สมาชิกทุกเพศ ทุกวัย 

บ้าน อาคาร หรือสถาปัตยกรรมหนึ่งหลังนั้น ไม่เพียงมีแค่เปลือกอาคาร ตัวอาคาร หรือภายในอาคารเท่านั้น แต่เกิดจากองค์ประกอบทุกส่วนผสานเข้าไว้ด้วยกัน แล้วทำการร้อยเรียงผ่านลำดับการเข้าถึง การใช้งาน และเหตุการณ์ในแต่ละพื้นที่ราวกับการเล่าภาพยนตร์สักหนึ่งเรื่อง  

“แต่ละงานก็จะมีความคล้ายกันบ้างหรือบางงานก็จะแตกต่างกันไปเลย บางงานข้างในกับข้างนอกก็คนละเรื่องกันเลย บางงานก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนถ่ายจากความมืดไปสว่างหรือสว่างไปมืด หรือบางงานดูจากข้างนอกและข้างในแทบไม่ต่างกันเลย คือเข้ามาข้างในก็รู้สึกแต่กลับรู้สึกเหมือนอยู่ข้างนอก หรืออยู่ข้างนอกก็เหมือนอยู่ข้างใน เลยกลายเป็นว่าเราเหมือนก้าวข้ามเรื่องภาพลักษณ์ เรื่องของคาแรคเตอร์ แต่เรากําลังจะเล่าเรื่องอย่างไรให้สอดคล้องกับคนอยู่อาศัยนั้น ๆ” – คุณหนึ่ง เอกภาพ จาก EKAR Architects

แต่ละผลงานของ EKAR Architects จึงเป็นงานสั่งตัดหรือ Custom made ที่คิดมาเพื่อผู้อยู่อาศัยหลังนั้น ๆ โดยเฉพาะ ตกผลึกความต้องการมาสู่พื้นที่ใช้สอยที่ดูเรียบน้อย เข้าถึงง่าย ทว่าเต็มไปด้วยดีเทลการออกแบบที่ตอบสนองการใช้งานอย่างแท้จริง

ขณะนี้ room Books ได้ร่วมกับแบรนด์ ตราเพชร เปิดพื้นที่ในการแสดงแนวคิดทางสถาปัตยกรรมในแคมเปญ “3 ARCHITECTS : INNOVATION THROUGH IMAGINATION” ที่เราเชื่อว่างานออกแบบที่น่าสนใจทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นจากจินตนาการและแรงบันดาลใจของนักออกแบบ

สำหรับแคมเปญนี้ room Books ชวน  คุณหนึ่ง-เอกภาพ ดวงแก้ว จาก EKAR Architects มาเป็นหนึ่งในสถาปนิกที่มาเล่าถึงแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มององค์ประกอบภาพรวมทั้งภายใน-ภายนอก ซึ่งไม่เพียงแค่ความสวยงามหากแต่ลงลึกไปยังการร้อยเรียงเรื่องราวของการใช้ชีวิต สู่พื้นที่ใช้งานที่จะตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยมากที่สุด การเลือกวัสดุอย่างพิถีพิถันที่เข้ากันดีกับสไตล์ของอาคารนั้น ๆ ไปพร้อมกับคำนึงถึงการดูแลรักษาที่ง่าย เป็นมิตรต่อทั้งคนและสัตว์ ที่สำคัญคือให้ความรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ 

ตีความเรื่องราวการใช้ชีวิตสู่พื้นที่อยู่อาศัย

การจะออกแบบบ้าน อาคาร ไปจนถึงโรงแรม ในทุก ๆ ครั้งคุณหนึ่งไม่ได้มองเพียงแค่การใช้งาน ณ วันที่ออกแบบเท่านั้น หากแต่มองไปยังอนาคต คิดเผื่อไปถึงการขยายพื้นที่ การมีจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือรูปแบบการใช้งานที่ปรับเปลี่ยนไปเสมอ

“เวลาเราออกแบบงานสถาปัตยกรรม ผมจะคิดเสมอว่ามันเป็นการเล่าเรื่อง ผมพยายามทำให้มันเป็นการร้อยเรียงเรื่องราวแก่ผู้ใช้งาน ไล่ตั้งแต่กลับมาถึงบ้าน ทํากิจวัตรตอนเย็น แล้วก็เข้านอน วนมาถึงตื่นเช้า ออกนอกบ้านอีกครั้ง

เริ่มคิดจากวันแรก ๆ ที่เจ้าของเข้ามาอยู่ในบ้าน อยู่อาศัยไปในช่วงเวลาหนึ่ง จากเดือนเป็นปีผ่านไป เหมือนการวาง Journey ไว้ในทุก ๆ วัน มองในระยะสั้น ไปจนถึงระยะยาว หรือการวางชีวิตในอนาคตว่าจะมีผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นหรือเติบโตไปอย่างไรบ้าง ช่วงเวลาแดดเข้าภายในตัวบ้าน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น-ตก 

เพราะฉะนั้นตั้งแต่เริ่มต้น เราไม่ได้ออกแบบแค่พื้นที่ใช้สอย ไม่ได้ออกแบบรูปลักษณ์ภายในหรือภายนอก มันเป็นเรื่องของการออกแบบชีวิต เราเลยต้องพยายามจัด sequence ตั้งแต่ข้างนอกจนมาถึงข้างในให้เป็นไปตามเรื่องที่เราจะเล่า”

EKAR Architects

การออกแบบสถาปัตยกรรม = การทำภาพยนตร์

เมื่อการออกแบบบ้านก็เหมือนการเล่าการใช้ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้น พื้นที่แต่ละโซนในบ้านก็เหมือนกับแต่ละฉากในภาพยนตร์ ที่ต้องมีบทพูด เสียงดนตรี และลำดับภาพที่ตัดสลับกันไปมา

“ผมจะรู้สึกเสมอว่าการออกแบบมันคล้ายกับทําหนัง คือคิดบทภาพยนตร์ สําคัญคือเราจะเริ่มต้นด้วยอะไร แต่ในมุมของเราผม ผมชอบให้มันค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แล้วก็ไปมีจุดสําคัญที่สุดสักที่เดียว ซึ่งความรู้สึกนั้นอาจจะไม่ต้องเด่นชัดหรืออาจจะไม่ต้องทํางานกับเราในวันแรกที่เข้าอาศัย แต่มันอาจจะค่อย ๆ ไปเจอความรู้สึกพิเศษหลังจากอยู่ไปได้ปีสองปี หรือสามปีด้วยซ้ํา 

คือบางทีไฮไลท์มันอาจจะไม่ใช่การมีเซอร์ไพรส์สเปซ ที่ทําให้รู้สึกพิเศษในวันนั้นเลย 

บางสเปซมันอาจจะอยู่ไปนาน ๆ แล้วถึงจะค่อยรู้ว่า ช่องเปิดตรงนี้มันสําคัญแบบนี้ โดยส่วนใหญ่เราอาจจะค่อย ๆ ไล่ให้ไปเรียบ ๆ เนียน ๆ มากกว่า 

ถ้าให้ยกตัวอย่างความรู้สึกข้างนอกกับข้างในของผม มันค่อนข้างจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่

นอกจากพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมาก ๆ อย่างห้องนอน แต่พื้นที่ที่เหลือผมพยายามจะเล่นกับความรู้สึกก้ํากึ่ง ว่ามันคือข้างนอกหรือไม่ การใช้วัสดุภายในมาช่วยเชื่อมต่อความรู้สึกมาจากข้างนอก ซึ่งภายนอกจะเป็นวัสดุที่มี texture ขรุขระนิดหน่อย ที่อนุญาตให้ฝุ่นหรือทรายอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องทําความสะอาด เช่น เป็นหินธรรมชาติ 

เข้ามายังพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ก็ยังเป็นวัสดุเดิมแต่อยู่ใต้หลังคา ก็อาจจะใช้หิน ไม้จริง หรือเป็นไม้ที่เป็นวัสดุทดแทนที่มีความขรุขระหน่อย ที่ไม่ต้องสะอาดมาก แต่เมื่อเข้ามาภายในเน้นใช้วัสดุที่ทําความสะอาดง่าย เรียบ แล้วก็อบอุ่น ก็อาจจะเป็นกระเบื้องลายหิน” 

EKAR Architects

ให้วัสดุแบ่งแยกการใช้งานโดยสัญชาตญาณ

สำหรับการออกแบบพื้นที่แต่ละโซนให้มีความรู้สึกแตกต่าง บางกรณีอาจใช้การแบ่งระดับ ขนาดของสเปซ และการเลือกใช้วัสดุที่สัมพันธ์ไปกับพื้นที่ภายนอก กึ่งภายนอก และภายใน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานสามารถสัมผัสได้ง่ายที่สุด

“การออกแบบพื้นที่ผนัง หลังคา หรือช่องแสง สำหรับการแบ่งแยกพื้นที่ ก็เป็นวิธีที่จะทําให้สัญชาตญาณมนุษย์ดูแลบ้านแตกต่างกันออกไป อย่างการออกแบบพื้นที่ที่มันดูเป็นภายในมาก ๆ เวลาเราเห็นฝุ่น เห็นคราบแล้วก็ต้องทําความสะอาดตลอด แต่ถ้าเรารู้สึกได้ว่ามันอยู่ข้างนอก เราก็จะปล่อยมันไปอย่างนั้น อย่างเวลาเราใส่รองเท้าเดินเข้ามา เราจะรู้สึกได้เองว่าเมื่อไหร่เราควรจะถอดรองเท้า ส่วนใหญ่เราจะพยายามทําให้มันค่อย ๆ เปลี่ยนถ่ายความรู้สึกไปเรื่อย ๆ เมื่อเข้าไปถึงพื้นที่การใช้งานที่ลึกเข้าไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ”

“ซึ่งการเลือกใช้วัสดุในพื้นที่โซนต่าง ๆ นั้นยังสัมพันธ์ไปกับการใช้งานด้วย อย่างการใช้วัสดุขรุขระในพื้นที่ภายนอกก็ไม่ต้องการความสะอาดมากนัก แต่พอถึงส่วนที่มีการใช้งานที่ต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยที่สามารถเดินแล้วไม่ลื่นเกินไปก็อาจจะต้องมีความหยาบเล็กน้อย  และในส่วนภายในที่ต้องการความสะอาดมาก ๆ คนใช้งานสัมผัสโดยตรงก็ต้องใช้วัสดุที่มีความนุ่ม เรียบเนียน วัสดุที่เราต้องเลือกมาก็ควรต้องคํานึงถึงทุกอย่าง

ให้ความรู้สึกสบายด้วยวัสดุธรรมชาติ

“ส่วนใหญ่เราก็จะเลือกใช้วัสดุที่รู้สึกได้ถึงธรรมชาติ เรื่องโทนสีเราก็พยายามคุมสี Earth Tone เพราะเรามองว่า เป็นกลุ่มสีที่มนุษย์จะรู้สึกสบายที่สุด  อย่างการใช้ไม้จริงก็สามารถให้ความรู้สึกที่ดี แต่เราก็มีสิ่งที่ต้องดีลกับมันด้วย คือการดูแลรักษาที่ยากขึ้นหรือสีสันที่เราควบคุมไม่ได้

ซึ่งตอนนี้มันก็มีกลุ่มวัสดุทดแทนอยู่พอสมควร เป็นกลุ่มวัสดุที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติได้ ถ้าภายนอกเราใช้หินจริง สำหรับงานภายในก็อาจจะใช้วัสดุทดแทนหิน ให้ดูแลรักษาได้ง่าย หรืออาจจะเป็นกลุ่มกระเบื้องสีเทาที่เข้ากันกับหินหรือคอนกรีต หรือเหล็กก็เป็นวัสดุที่มีสีสันตามธรรมชาติของมัน แต่ขณะเดี่ยวกันวัสดุธรรมชาติก็มีข้อจํากัด ทั้งเรื่องขนาด เรื่องความชำนาญการติดตั้ง สถาปนิกก็มองหาวัสดุทดแทนที่จะตอบโจทย์เรื่องการทำงานที่ง่ายขึ้น ถึงเราจะอยากใช้วัสดุธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้ก็มีข้อจํากัดอยู่หลายอย่าง หาไม่ได้แล้วบ้าง ถ้าอยากได้ขนาดใหญ่ก็จะต้องจ่ายแพงมาก ๆ บางลวดลายก็คือต้องสั่งจากต่างประเทศ

ทุกวันนี้ก็มีวัสดุทดแทนก็จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์หลาย ๆ อย่าง ให้คาแรคเตอร์ที่เหมือนกับวัสดุธรรมชาติ แต่น้ําหนักเบา ติดตั้งง่าย แผ่นบาง แล้วก็ไซส์ใหญ่มาก ๆ โดยที่เราสามารถยกขึ้นไปติดตั้งที่สูงได้ไม่ต้องกังวลว่าจะหล่นลงมา บางตัวน้ำหนักเบามาก ๆ ก็มีประโยชน์ ทั้งในเรื่องการติดตั้งที่ง่าย เวลาในการติดตั้งก็น้อยลง ค่าใช้จ่ายก็ประหยัดขึ้น หรือความเป็นไปได้ที่เราจะหาวัสดุขนาดใหญ่มาก ๆ ในไซส์ที่เราอยากจะได้ ที่มัน Impact ต่อความรู้สึกในการอยู่อาศัย ซึ่งวัสดุธรรมชาติแทบจะหาไม่ได้เลย ทั้งลวดลาย สีสัน หรือ Texture สิ่งเหล่านี้น่าจะกลายมาเป็นทางเลือกใหม่ในการออกแบบปัจจุบัน”

บ้านเชียงยืน

“บ้านที่ออกแบบให้คนหลายรุ่นมาอยู่ร่วมกัน  โดยหลังที่เราทำมีอายุประมาณ 60 ปี โจทย์คือทําให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่ในบ้านหลังเดิมอีกครั้ง จากตอนแรกที่คิดว่าจะรื้อแล้วสร้างบ้านใหม่เพราะบ้านสภาพค่อนข้างทรุดโทรม แต่พอเริ่มไปคุยกับคุณแม่เขา คุณแม่เริ่มเล่าให้ฟังว่าเขาโตมาในที่ไหน คุณยายก็โตมาในที่แห่งหนึ่ง ลูกสาวที่กําลังจะปลูกบ้านใหม่ ก็เกิดในอีกแบบหนึ่ง แล้วก็อยู่กันในบ้าน 3 หลังในที่ดินผืนเดียวกัน ซึ่งหลังแรกก็ถูกรื้อไปแล้วกลายเป็นสนามหญ้าเท่านั้น

เวลาเล่า เขาจําทุกช่วงชีวิตของตัวเองได้ ตั้งแต่เป็นเด็ก มีลูกขึ้นมา และกลับมาอยู่บ้านหลังนี้ใหม่ ทุกคนก็ต่างแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น เรื่องราวที่แม่เขาเล่ามันมีชีวิตชีวามาก

ผมก็เลยเริ่มกลับมาพิจารณาว่าเราจะออกแบบบ้านหลังนี้อย่างไรดีให้เติมชีวิตและจิตวิญญาณของทั้งครอบครัว ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง ทุกวันนี้คุณทวดและคุณย่าก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทุกคนต่างไปอยู่ที่อื่น ลูกสาวไปอยู่ต่างประเทศ คุณแม่ก็อยู่บ้านหลังใหม่ สิ่งที่เราเสนอคือเราจะชุบชีวิตบ้านหลังเดิมที่เขากําลังจะรื้อให้กลายเป็นบ้านใหม่ของเขา 

ช่วงที่ออกแบบเราก็นําเสนอแบบที่ใช้ของเดิมทั้งหมดเลย แล้วดูส่วนที่ต้องแก้ไข เราก็ปรับปรุง เรื่องการกันแดด เรื่องผนังไม้จริงที่ร้อน ก็ออกแบบโดยการซ้อนผนังเบาข้างในแล้วก็ติดฉนวน บ้านเดิมที่เคยมีชายคากันแดดด้านทิศตะวันตกเราก็ปรับให้ยื่นยาวขึ้น ส่วนที่เหลือในบ้านคือทําความสะอาด เปลี่ยนงานระบบใหม่ เปลี่ยนห้องน้ําใหม่ ที่เหลือเก็บไว้เหมือนเดิมหมดเลยแล้วก็ทําอินทีเรียอีกที”

EKAR Architects รีโนเวทบ้านไม้ บ้านไม้สองชั้น
EKAR Architects รีโนเวทบ้านไม้ บ้านไม้สองชั้น
EKAR Architects รีโนเวทบ้านไม้ บ้านไม้สองชั้น
EKAR Architects รีโนเวทบ้านไม้ บ้านไม้สองชั้น

“นอกจากเรื่องราวบ้าน 100 ปีกับความรู้สึกผูกพันกับบ้านหลังนี้ของคุณแม่ พอเราเริ่มทํางานก่อสร้างไปก็เริ่มเจออะไรหลาย ๆ อย่าง มีฝ้าที่มันถูกปิดไว้มาตั้งแต่ก่อสร้าง พอเปิดออกก็จะเห็นโครงสร้างไม้จริงที่เป็นไม้สักขนาดใหญ่มากที่ไม่น่าจะหาได้ในวันนี้แล้วแถมยังประกบคู่กันอีก แต่สภาพดูไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไร ตอกตะปูกันแบบง่าย ๆ แล้วก็ประกบคู่กัน พอค่อย ๆ ดูก็พบว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้ที่ใช้ระบบโครงสร้าง Long Span ที่พยายามใช้ช่วงพาดยาว เพื่อให้ชั้นบนของบ้านเป็นโถงกว้าง ก็เลยต้องพยายามประกบไม้ ให้ได้สามารถยาวได้ทั้งหมด 9 เมตร โดยที่ไม่มีเสากลางเลย

  ช่วงแรกที่เปิดฝ้าออกมา ผมคือตื่นตาตื่นใจมาก เพราะมันเห็นร่องรอยเรื่องราวของประวัติศาสตร์สังคมในสมัยนั้น ก็อยากจะขอให้เขาเปิดโชว์เอาไว้ แน่นอนสิ่งที่เราเจอคือ คนทุกวันนี้เขาไม่ชอบให้อยู่บ้านเห็นขื่อ เห็นคาน ผู้รับเหมาเองก็ไม่ยอมเพราะว่าสภาพมันไม่เรียบร้อยเลย ไม้ก็ชื้นเป็นคราบ ผมเองก็ค่อย ๆ ไปทํางานกับคุณแม่ ก็เริ่มไปถามประวัติศาสตร์ของบ้าน ซึ่งเขาเล่าได้หมด ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มันเหมือนทําให้เราได้เห็นคุณค่า ตัวเขาเอง พอได้เล่าออกมาเขาก็ได้ระลึกถึงช่วงเวลาตอนเด็กอีกครั้งหนึ่ง ฝ้าที่ถูกปิดมาตลอดวันนี้ก็ได้เปิดออกมาแล้วเราก็ตั้งใจทําให้เรียบร้อยใหม่ เปิดโชว์ทําความสะอาดใหม่แล้วก็เติมส่วนที่ขาดไป”

ของเก่าเล่าใหม่

“เรื่องการเลือกจะเก็บองค์ประกอบเก่าไว้ เรื่องเอามานําไปจัดเรียงในรูปแบบใหม่ เราได้เริ่มต้นการออกแบบ ด้วยการเก็บข้อมูล และค้นคว้าที่มาที่ไปทั้งหมด แล้วก็ตัดสินใจออกแบบบ้านหลังนี้ใหม่ด้วย 2 วิธี อันแรกคือเก็บองค์ประกอบเดิมไว้ทั้งหมด สองคือต่อเติมบางส่วน ต่อเติมที่ว่าก็เป็นแค่ชายคากันแดดแล้วก็ระเบียงที่จอดรถแค่นั้น

เรื่องการเก็บองค์ประกอบเดิมเราก็พยายามทําหลายอย่าง สิ่งที่ปิดอยู่หกสิบปีก็เปิดเผยมันออกมา แล้วก็เสริมคุณค่าของมันไม้เดิมก็เอามาขัดทําสีใหม่ ปรับปรุงให้ใช้งานได้ แล้วมีส่วนที่ปรับเปลี่ยนด้วย อย่างประตูเหล็กยืด ที่บ้านหลังนี้เคยเป็นร้านค้าในชั้นล่าง จึงติดประตูเหล็กยืดเพื่อความปลอดภัย เราก็ถอดออกมาแล้วก็ปรับปรุงให้กลายเป็นระแนงกันแดด ปกติแล้วเราจะหาไม้มาทําเป็นระแนง ก็เลยนำประตูเหล็กตัวนั้นมาดัดแปลงเป็นระแนงกันแดด และกลายเป็น element หลักของอาคารเลย อย่าง ประตูรั้วหน้าบ้าน ก็ใช้ประตูตัวเดิมถอดมาประกอบทําสีใหม่ ส่วนที่ยังขาดก็ทําใหม่ขึ้นมา 

ผนังไม้ก็เป็นผนังไม้ก็เก็บไว้เหมือนเดิมทุกอย่าง จะมีชุดประตูหน้าต่างที่เป็นวงกบไม้กับกระจก ซึ่งกันเสียงหรือกันความร้อนไม่ได้ จุดเหล่านี้เราปรับปรุงใหม่หมด ระบบการทําผนังก็เป็นผนังไม้เดิม 60 ปีที่แล้วในด้านนอก ใส่ฉนวนและปิดด้วยบอร์ดข้างในอีกที แล้วก็เปลี่ยนชุดหน้าต่างเป็นอะลูมิเนียมซีลเสียงทั้งหมด วันนี้เองเห็นข้างนอกเป็นบ้านไม้ ข้างในคือเก็บเสียงกันความร้อน 100% ตัวพื้นชั้น 2 ก็เป็นไม้แผ่นใหญ่มากหาไม่ได้แล้วตอนนี้ เราก็เก็บไว้เหมือนเดิม ทําสีใหม่ กับบางส่วนเราก็นำวัสดุกลุ่มไม้ทดแทนเข้ามาใช้ ในเชิงคุณสมบัตินี้อาจจะมองว่ามันคือของแข็ง  มันเชื่อมโยงกับความรู้สึกของมนุษย์มาก เวลาเราสัมผัส มันเป็นวัสดุเดียวที่แข็งแต่เราสามารถนอนราบลงไปได้ เรารู้สึกเชื่อมโยงกับมันทั้งที่มันแข็ง คือ มนุษย์เราไม่สามารถนอนบนพื้นที่แข็งได้ แต่ถ้าเป็นไม้ เราจะนอนได้และก็นอนได้อย่างสบายที่สุด เพราะฉะนั้นเซนส์ของความรู้สึกของวัสดุธรรมชาติกับมนุษย์นั้นเชื่อมโยงกับมัน มันไม่ได้เกี่ยวกับว่ามันแข็ง มันนุ่ม ไม่ได้เกี่ยวกับสัมผัส แต่มันรู้สึกได้

ในชั้นบนเราเก็บความแท้จริงของวัสดุนี้ไว้ ส่วนชั้นล่างเมื่อก่อนเป็นคอนกรีตขัดมันเพราะเคยเป็นร้านค้า ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่ภายใน เราก็ไปหาวัสดุทดแทนไม้ เป็นกลุ่มพวกไม้ทดแทน สีที่ใช้ก็จะไม่เข้มเหมือนชั้นบน ข้างบนเป็นส่วนห้องนอนก็จะอบอุ่นมากกว่า ส่วนชั้นล่างเป็นส่วนนั่งเล่นก็อยากให้สว่าง ให้สดชื่นมากกว่าหน่อย”

EKAR Architects รีโนเวทบ้านไม้ บ้านไม้สองชั้น
EKAR Architects รีโนเวทบ้านไม้ บ้านไม้สองชั้น

บ้านคนบ้านหมา

“โปรเจคนี้เป็นโปรเจคที่เราออกแบบให้คนกับสุนัขได้มาอยู่ร่วมกัน ตั้งอยู่ที่นครปฐม

เจ้าของบ้านเป็นคุณหมอที่มีความผูกพันกับสุนัขมาตั้งแต่เด็ก เป็นโปรเจคที่ทําให้เราได้พินิจพิจารณาการออกแบบว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตหลาย ๆ รูปแบบ เมื่อก่อนเราจะรู้แค่ว่ามีคนอยู่ อาจจะมีหลายคนใช้ที่ก็มีความแตกต่างของฟังก์ชัน อย่างผู้ใหญ่หรือเด็ก  วัสดุของเด็กหรือวัสดุที่สอดคล้องกับคนสูงอายุ   

แต่โปรเจคนี้มันทําให้เราก้าวข้ามขอบเขต เพราะวัสดุมันเกี่ยวพันกับทุก ๆ อย่าง และสิ่งมีชีวิตทุก ๆ แบบ ลงลึกถึงประเภทสุนัข ได้ลงลึกไป study ว่าพอเป็นสุนัข เขาจะใช้วัสดุอย่างไร ต้องคิดถึงวัสดุอย่างไรได้บ้าง

อย่างสุนัขวัสดุพื้นที่ทําให้เขาได้เดินได้วิ่งในบางส่วน จะต้องเป็นวัสดุที่มันไม่ลื่นเกินไป ไม่งั้น Figure เขาจะเสีย เพราะว่าปกติแล้วเขาก็วิ่งหรือเดินอยู่บนพื้นที่ธรรมชาติ เวลาเอามาเลี้ยงในบ้านก็ต้องคิดอีกแบบหนึ่ง

  หรือจริง ๆ แล้วก็ต้องมีพื้นที่ที่สามารถทําความสะอาดได้ง่าย ไม่สะสมเชื้อราหรือแบคทีเรีย ที่มนุษย์ทําความสะอาดได้ง่าย และต้องรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติด้วย และถ้าพูดถึงว่าทําความสะอาดได้ง่ายเราอาจจะมองเป็นพวกกลุ่มวัสดุเงามาก ๆ แต่พอเงาสุนัขก็เดินไม่สะดวก ก็เลยต้องเลือกทั้งที่มีความหยาบนิดหนึ่งแล้วก็ต้องทําความสะอาดได้ไม่ยากเกินไป ไม่สะสมความสกปรก

วัสดุบางอย่างก็ต้องเอื้อให้เขาได้วิ่งเล่นได้จริง ๆ วัสดุกลุ่มนี้ก็เป็นหญ้าไปเลย หรือบางส่วนก็ให้เขาได้ขุดได้คุยด้วย อันนี้เราก็จะออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่ที่เป็นกรวดเป็นดินที่ไม่ทําให้ตัวเขาเปื้อนโคลนขนาดนั้น ไม่ต้องเสียเวลาดูแลอาบน้ํากับเขาหลายรอบ

วัสดุพื้นภายใน ถ้าเราจะพาน้องเข้าไปอยู่ด้วย ก็ต้องเป็นพื้นที่ที่ทําความสะอาด ดูดฝุ่นได้ง่าย แล้วก็ไม่สะสมแบคทีเรีย”

ภาพ: EKAR Architects, อนุพงษ์

อ่านต่อ CASE Studio ใช้ระบบโมดูลาร์จัดการพื้นที่และต่อเติมได้อย่างมีระบบในงบจำกัด