Handmade พิมพ์ตามใจ
“คนทำงานภาพพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นช่างมีฝีมือแต่ไม่ได้นำออกมาขายเราจึงอยากทำและอยากให้คนอื่นๆได้เห็นงานศิลปะแขนงนี้ในวงที่กว้างขึ้น”

“ตัวหนังสือ เสียงดนตรี และศิลปะภาพพิมพ์ เป็นสามสิ่งที่ช่วยทำให้ชีวิตเป็นชีวิตอย่างแท้จริง และยังเป็นหัวใจสำคัญของการตกแต่งบ้านด้วย ทำให้บ้านคงความอบอุ่นและมีพลัง” นั่นคือความเชื่อมั่นและศรัทธาของสองสาวคู่หู คุณมิน - มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์ และ คุณวุ้น - คณาพร ผาสุข ซึ่งเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องร่วมสถาบันเดียวกันที่มารวมตัวกันในนาม “The Archivist” พวกเธอชื่นชอบงาน
ภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนตั้งแต่สมัยลงเรียนเป็นวิชาเลือกในคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงตัดสินใจเปิดสตูดิโอเล็กๆ เพื่อผลิตงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนแบบแฮนด์เมดที่โดนใจผู้เสพงานศิลปะสไตล์นี้ไม่น้อย


ภายในบ้านทาวน์เฮ้าส์ของครอบครัวคุณมินได้ต่อเติมชั้นหนึ่งเป็นสตูดิโอสำหรับพิมพ์ภาพและเวิร์คชอปส่วนชั้นสามออกแบบเป็นส่วนออฟฟิศ คุณมินรับผิดชอบเรื่องงานออกแบบเป็นหลัก เธอเรียนจบปริญญาโทด้านการออกแบบสื่อสารที่มหาวิทยาลัยในกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ช่วงที่เรียนต่างประเทศก็มีโอกาสได้เห็นงานซิลค์สกรีนในสตูดิโอ และได้ตั้งคำถามถึงคุณค่าที่แตกต่างกันระหว่างงานที่ใช้สองมือกับงานออกแบบกราฟิกที่ใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อกลับมาประเทศไทยยังได้ไปลงเรียนคอร์สสกรีนเสื้ออีกหนึ่งวัน เพื่อนำมาปรับใช้กับงานออกแบบของตัวเอง ในขณะที่คุณวุ้นก็ช่วยเรื่องการวางคอนเซ็ปต์ผลงานและดูแลการตลาดรวมถึงติดต่อศิลปินคนอื่นๆ ให้มาทำงานศิลปะร่วมกัน

ลวดลาย
ผลงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนของ The Archivist เกิดจากการตั้งโจทย์ร่วมกันของ สองสาวคู่หู คุณมินบอกว่า ลวดลายที่ทำแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ลายเรขาคณิตหรือลายแบบมินิมัล เป็นลายที่บ่งบอก ความเป็นตัวเธอเองมากที่สุด โดยบางครั้งก็นำเทคนิค Impossible Figure ซึ่ง เป็นรูปแบบหนึ่งของภาพลวงตามาใช้ ทำให้เธอได้สนุกกับการคิดและสร้างผลงานออก มา ประเภทต่อมาคือ คำพูด (Quote) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์ที่ชอบ จึงอยากส่งต่อคำพูด ดีๆ เหล่านั้นให้คนอื่นบ้างโดยจะนำมาออกแบบตัวอักษร (Typographic) ใหม่และ จัดวางเลย์เอ๊าต์ให้ดูน่าสนใจ เป็นงานที่นำไปใช้ตกแต่งบ้านได้ด้วย และสุด ท้ายคือ ภาพศิลปินและวลีในเพลงที่ประทับใจ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการฟัง เพลง
เทคนิคการพิมพ์
ศิลปินสองสาวเลือกใช้เทคนิคซิลค์สกรีน ซึ่งคล้ายกับการทำสเตนซิลบนวัสดุผิวเรียบ เป็นการทำลวดลายบนบล็อกแม่พิมพ์ แล้วใช้การปาดสีทะลุผ่านบล็อก แม้ลายกราฟิกที่ออกมาจะดูเรียบง่าย แต่ขั้นตอนการพิมพ์นั้นไม่ง่ายเลย เนื่องจากต้องทำบล็อกสกรีนที่ละเอียดกว่าการสกรีนปกติ เพื่อไม่ให้สีออกมามากเกินไป งานจึงจะประณีตและขอบของลายก็สวยคม คุณมินเล่าว่า “เราทดลองกันเยอะมาก ตั้งแต่การเลือกผ้าบล็อกแบบต่างๆ จากนั้นก็เลือกกระดาษที่ดีและเหมาะสมกับงานพิมพ์ เช่น กระดาษ Fabriano ซึ่งมีความหนาบางไม่เท่ากัน หรือกระดาษนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นที่เนื้อกระดาษจะไม่มีกรดผสมอยู่ เป็นเกรดเดียวกับที่ใช้ในงานศิลปะ หากเป็นกระดาษทั่วไปจะมีกรด นานไปก็จะมีสีเหลืองและอาจขึ้นราได้”

สีเป็นอีกปัจจัยสำคัญในงานพิมพ์ สองสาวเลือกใช้หมึกพิมพ์เชื้อน้ำที่แม้จะให้สีไม่ละเอียดเท่าหมึกพิมพ์สูตรน้ำมัน แต่ก็ไม่ต้องใช้น้ำมันสนที่มีกลิ่นรุนแรงจึงปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและตัวศิลปินเองด้วย ส่วนเทคนิคการปาดสีก็ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้สี ซึ่งมีทั้งสีโปร่ง สีใส และสีทึบ อยู่ที่การออกแบบว่าต้องการให้เนื้อสีบางหรือหนา ถือเป็นข้อดีของงานแฮนด์เมด เพราะสามารถควบคุมคุณภาพได้ อีกทั้งการทดลองทำงานบ่อยๆ ยังเหมือนเป็นการสะสมวิชาความรู้ในภาคปฏิบัติ ช่วยพัฒนาผลงานให้ออกมาดีที่สุด

ขณะที่ชมผลงานของ The Archivist เพลินๆ ก็ทำให้เราคิดว่า การเห็นคุณค่าของงานออกแบบที่เกิดจากสองมือและหัวใจ นอกจากความสวยงามที่รับรู้ได้ทางสายตาแล้ว ภาพพิมพ์เหล่านี้ยังสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างให้เราอยากลุกขึ้นมาทำภาพพิมพ์ในแบบของตัวเองบ้างเช่นกัน ซึ่งที่นี่ก็มีคอร์สให้เลือกเรียนได้ตามใจ ลองดูรายละเอียดหรือติดตามผลงานของ The Archivist ได้ที่ Archivistproject ค่ะ

เรื่อง : “อัจฉรา”, “วรัปศร” ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล