โรคติดต่อในแมว : โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

โรคติดต่อในแมว เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของแมวทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน โรคติดต่อบางชนิดสามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนได้ แต่บางโรคยังไม่มีวัคซีนป้องกัน อย่างโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline infectious peritonitis ; FIP)

โรคติดต่อในแมว ที่คุณหมอได้มาให้ความรู้ในวันนี้คือ โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบเกิดจากการติดเชื้อในกลุ่มโคโรนาไวรัส ที่กลายพันธุ์มาจากเชื้อ Feline enteric coronavirus (FCov) และก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงในแมว

โดยทั่วไป เชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้องมักติดเชื้อในแมวที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น แมวอายุน้อยกว่า 2 ปี และแมวที่มีอายุมาก แมวที่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างแน่น และแมวที่เกิดความเครียดเรื้อรัง

นอกจานี้ โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบยังสามารถพบได้ในแมวที่ป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันยกพร่อง เช่น โรคลิวคีเมีย และโรคเอดส์แมว เป็นต้น โดยโรคติดต่อชนิดนี้สามารถพบได้ในแมวทุกเพศ และทุกสายพันธุ์

โรคติดต่อในแมว, โรคติดเชื้อในแมว, โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ, โรคในแมว
แมวเด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงมักติดเชื้อโรคช่องท้องอักเสบได้ง่าย

การติดเชื้อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว

เชื้อ FCoV ที่ยังไม่ได้กลายพันธุ์และไม่ได้อยู่ในขั้นก่อโรครุนแรง สามารถติดต่อแมวตัวอื่นได้ง่าย โดยแพร่ผ่านการสัมผัสทางร่างกายระหว่างแมว หรือการสัมผัสอุจจาระของแมวที่เป็นพาหะ จากการใช้กระบะทรายร่วมกัน หรือการติดเชื้อไวรัสผ่านวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์เป็นเชื้อเยื่อบุช่องท้องอักเสบที่ก่อโรครุนแรงแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของแมวป่วย และไม่ทำให้แมวตัวอื่นติดเชื้อผ่านการกินได้

ปัจจุบัน สัตวแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้องอักเสบที่เข้าสู่ตัวของแมวแล้ว จะเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาที่ก่อโรคได้จากปัจจัยภายในของแมวตัวนั้นๆ

การก่อโรค และอาการป่วย

ความรุนแรง และอาการ ของแมวที่ติดเชื้อไวรัสโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ อาจแตกต่างกันไปในแมวแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ เช่น อายุของแมวในขณะที่ได้รับเชื้อ ระดับและประเภทของภูมิคุ้มกันในร่างกาย สุขภาพทั่วไปขณะที่ได้รับเชื้อ รวมทั้งปริมาณและความรุนแรงของเชื้อไวรัส ที่ส่งผลให้เกิดลักษณะและรูปแบบของการติดเชื้อที่แตกต่างกัน

รูปแบบการติดเชื้อที่พบได้มี 2 แบบคือ การติดเชื้อแบบแห้ง (Non-effusive form) และการติดเชื้อแบบเปียก (Effusive form) แต่ในบางกรณีอาจพบทั้ง 2 รูปแบบควบคู่กัน

1. การติดเชื้อแบบแห้ง (Non-effusive form) จะก่อให้เกิดอาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ โดยเนื้อเยื่อจะเจริญผิดปกติเป็นก้อนแข็งในร่างกาย มีการพัฒนาโรคแบบช้า ๆ และพบได้หลายตำแหน่ง อาการที่พบการติดเชื้อแบบแห้งมักไม่จำเพาะ ได้แก่ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ และน้ำหนักลด

หากมีการอักเสบแบบก้อนในเนื้อเยื่อประสาท อย่างในสมอง จะพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น เดินไม่สัมพันธ์กัน สั่น ชัก หรือสูญเสียการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ หากมีรอยโรคแบบก้อนในช่องท้อง อาจตรวจพบความผิดปกติของการทำงานของตับและไต นอกจากนี้ แมวบางตัวอาจพบรอยโรคได้บริเวณตา มีภาวะช่องหน้าตาอักเสบ เป็นต้น

2. การติดเชื้อแบบเปียก (Effusive form) จะก่อให้เกิดอาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ที่มีของเหลวคั่งค้างในบริเวณช่องอกและช่องท้อง เนื่องจากการอักเสบและเสียสภาพของเส้นเลือด ดังนั้น น้ำเลือดจึงรั่วซึมออกจากเส้นเลือดมาคั่งในบริเวณดังกล่าว

อาการของแมวที่ป่วยมักจะมีร่างกายผอม มีไข้ เบื่ออาหาร เลือดจาง และช่องท้องขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีน้ำสะสมในช่องท้อง ส่วนในกรณีที่มีน้ำคั่งในช่องอก แมวจะมีอาการหายใจลำบาก

โรคติดต่อในแมว, โรคติดเชื้อในแมว, โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ, โรคในแมว
ลูกแมวจะแสดงอาการเบื่ออาหาร ซึม และมีไข้ หลังเชื้อเริ่มกลายพันธุ์ในร่างกายของลูกแมว

การวินิจฉัย และการรักษา

หากแมวที่แสดงอาการเบื่ออาหาร และมีไข้ หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ที่คาดว่าจะะเป็นโรคติดเชื้อ ควรเข้ารับการตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อวินิจฉัยแยกแยะออกจากความผิดปกติอื่น ๆ โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด

สัตวแพทย์จะสั่งตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าเคมีของเลือด ระดับโปรตีนในกระแสเลือด การวิเคราะห์น้ำในช่องอกและช่องท้อง การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ การอัลตราซาวด์ช่องท้อง และการเอกซเรย์ช่องอก ซึ่งต้องอาศัยการตรวจหลาย ๆ วิธีร่วมกัน เป็นต้น

ในการรักษาโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบยังไม่มีวิธีที่เฉพาะเจาะจง แต่สัตวแพทย์จะ รักษาตามอาการของแมวป่วย ได้แก่ การเจาะระบายน้ำในช่องท้องหรือช่องอก การให้สารน้ำและสารอาหาร การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อน การให้ยากดภูมิคุ้มกัน การถ่ายเลือดในกรณีที่เลือดจางรุนแรง เป็นต้น

ในปัจจุบัน สัตวแพทย์และนักวิจัยกำลังศึกษาวิธีการ และพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อคิดค้นยาต้านไวรัสก่อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ซึ่งเป็นความหวังในการรักษาโรค ในอนาคต

เรื่อง สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำ โรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: โรคถุงน้ำในไตแมว โรคที่ยังรักษาไม่ได้