รวม 10 เรื่อง ที่ต้องรู้ก่อนเลือกซื้อ พลาสติกคลุมโรงเรือน เพื่อให้ตรงกับการใช้งาน

ในช่วงนี้ #นักปลูก หลายๆ คนคงประสบปัญหาพืชผักที่ปลูก โดนน้ำฝนกระแทกจนใบช้ำ หรือไม่ก็ น้ำท่วมแปลงส่งผลให้พืชหลายชนิดรากเน่า แล้วก็เกิดความคิดที่อยากจะซื้อโรงเรือนสำหรับปลูกผักสักหลัง มาช่วยน้องผักไม่ให้เจ็บปวดไปมากกว่านี้

แต่นอกจากโรงเรือนแล้ว พลาสติกคลุมโรงเรือน ก็เป็นอีกวัสดุหนึ่งที่ต้องพิจารณาให้ดี เพื่อ ให้สอดคล้องกับการใช้งาน และ ถ้าเลือกได้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้พืชที่ปลูกเจริญงอกงาม และ ช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่าก่อนจะซื้อพลาสติกโรงเรือน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง ทั้งในแง่ของประเภทพลาสติกโรงเรือน ปริมาณสารต้านรังสียูวี รวมถึงข้อควรระวังก่อนสั่งซื้อ

พลาสติกคลุมโรงเรือน

พลาสติกคลุมโรงเรือน วัสดุที่ช่วยให้ปลูกพืชง่ายขึ้น

พลาสติกโรงเรือน ใช้สำหรับคลุมหลังคาโรงเรือน เพื่อ ป้องกันสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตได้อย่างราบรื่น ซึ่งผลิตมาจากพอลิเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene หรือ HDPE) และ ใส่สารต้านรังสียูวี เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานมากขึ้น

พลาสติกคลุมโรงเรือน

พลาสติกคลุมโรงเรือน ที่หนาเหมาะสำหรับลมที่แรง

การเลือกความหนาของพลาสติกโรงเรือน จะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการตั้งโรงเรือน ได้ตามนี้

  • โรงเรือนที่อยู่ภายในบ้าน มีรั้วบ้านเป็นแนวกันลมที่ชัดเจน มีลมไม่แรง เหมาะสำหรับพลาสติกที่มีความหนา 100 ไมครอน
  • โรงเรือนที่อยู่บริเวณบ้าน มีรั้วรอบขอบชิด แต่มีระยะห่างระหว่างบ้าน และ โรงเรือน มีลมพัดแรงปานกลาง เหมาะสำหรับพลาสติกที่มีความหนา 150 ไมครอน
  • โรงเรือนที่อยู่กลางแจ้ง ไม่มีแนวกันลมใดๆ มีลมพัดแรงมาก และ มีระดับพื้นถึงคานสูงมากกว่า 2.50 เมตร รวมถึงคานถึงยอดหลังคาสูงมากกว่า 1 เมตร เหมาะสำหรับพลาสติกที่มีความหนา 200-250 ไมครอน

ซึ่งพลาสติกรุ่นที่หนากว่า ไม่ได้หมายความว่ายิ่งหนาจะยิ่งมีอายุการใช้งานที่นานกว่า เพราะ ความหนาที่มากขึ้นช่วยป้องกันเพียงการฉีกขาดจากแรงลม แรงกระแทกจากกิ่งไม้ และ ลูกเห็บเท่านั้น

พลาสติกคลุมโรงเรือน

อายุของ พลาสติกคลุมโรงเรือน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารต้านรังสียูวี

ส่วนสิ่งที่เป็นตัวกำหนดอายุการใช้งาน ของพลาสติกโรงเรือน ก็คือ สารต้านรังสียูวี ซึ่งเป็นสารที่ใส่ผสมเข้ากับพลาสติกโรงเรือน เพื่อ ให้พลาสติกนั้นสามารถยืดอายุการใช้งานให้นานมากขึ้น จะมีตั้งแต่ 3% 5% และ 7% ยิ่งมีสารต้านรังสียูวีมากเท่าไหร่ อายุการใช้งานก็จะมากขึ้นตามเท่านั้น ซึ่งก็รวมถึงราคาด้วยเช่นกัน

พลาสติกคลุมโรงเรือน

พลาสติกคลุมโรงเรือน ช่วยกระจายแสง ลดอุณหภูมิได้

นอกจากพลาสติกโรงเรือนจะมีสารต้านรังสียูวีแล้ว ก็ยังมีการเพิ่มสารเติมแต่งที่ทำให้ มีคุณสมบัติที่แตกต่างตามการใช้งานอีกด้วย

  • ชนิดใส (Green House -UV Clear Film) เป็นพลาสติกเนื้อใสที่ให้แสงผ่านลงมาได้โดยตรง คุณภาพของพลาสติกจะมีผลต่อค่าอัตราแสงผ่าน (Light Transmission in PAR) โดยสังเกตข้อมูลหรือขอดูเอกสารคุณสมบัติต่างๆ จากผู้จำหน่าย ซึ่งควรมีค่าอัตราแสงผ่านระบุอยู่ในเอกสาร
  • ชนิดกันรังสีอินฟาเรด (Green House – UV Cooling Diffused Film) เป็นการเพิ่มสารพิเศษให้เนื้อพลาสติกสะท้อนความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดออกมา เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับพลาสติกโรงเรือนทั่วไป เหมาะสำหรับพืชที่ไม่ทนร้อน เช่น ผักสลัด สตรอว์เบอร์รี่
  • ชนิดกระจายแสง (Green House – UV Diffused Film) มีคุณสมบัติกระจายแสงให้นวล ช่วยให้ใบพืชไม่ไหม้ และ แสงสว่างกระจายได้ทั่วโรงเรือนแม้ในช่วงเวลาแสงน้อย พลาสติกมีลักษณะขุ่น แต่ด้วยเทคนิคการผลิตจึงมีค่าอัตราแสงผ่านเทียบเท่ากับแบบใสที่ประมาณ 90% และ สามารถกระจายแสงได้กว่า 40%
พลาสติกคลุมโรงเรือน

มีพลาสติกคลุมโรงเรือนที่กันได้ทั้งแดด และ ฝน

เป็นพลาสติกโรงเรือนที่สามารถ ทั้งกันน้ำฝนได้แล้วยังพรางแสงได้อีกด้วย เรียกว่าได้ 2 in 1 เลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับโรงเรือนเพาะชำสำเร็จรูป ที่จำหน่ายกันตามศูนย์รวมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน แต่ปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่นิยม ในกลุ่มของโรงเรือนขนาดใหญ่ เพราะ มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเปลี่ยนเฉพาะเปอร์เซ็นต์การพรางแสงในภายหลังได้

พลาสติกปูบ่อทดแทนพลาสติกโรงเรือนไม่ได้

เวลามือใหม่ไปซื้อพลาสติกโรงเรือน บางครั้งอาจเผลอไปซื้อพลาสติกปูบ่อชนิดใสได้ เพราะดูคล้ายกันมาก ซึ่งพลาสติกปูบ่อไม่ได้ผลิตมา เพื่อใช้งานแบบตากแดดตากฝน จึงทำให้อายุการใช้งานที่สั้นกว่า พอใช้ไปสักพักไม่ช้าพลาสติกเหล่านั้นก็จะ กรอบ และ ขาดในที่สุด เพราะ ไม่มีสารต้านรังสียูวี ดังนั้น ก่อนจะซื้อควรเลือกซื้อจากร้านที่มีข้อมูลของสินค้าครบถ้วน จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง

ลักษณะขุ่นในพลาสติกโรงเรือนมีประโยชน์

เป็นปกติที่พลาสติกโรงเรือนในสมัยนี้จะมีลักษณะที่ขุ่น เพราะ ได้มีเทคโนโลยีในการเพิ่มสารต่างๆ เข้าไปซึ่งทำได้มากกว่าแค่กันน้ำฝน ไม่ว่าจะเป็นสารต้านรังสียูวี ที่ช่วยให้พลาสติกมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ช่วยกระจายแสงภายในโรงเรือน รวมถึงสามารถช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้อีกด้วย

ทำความสะอาดพลาสติกโรงเรือนได้ง่าย เพียงแค่ฉีดน้ำ

เมื่อใช้งานไปสักพักก็จะพบว่า พลาสติกโรงเรือนที่คลุมอยู่ไม่ใสเหมือนแต่ก่อน ก็เพราะว่า มีฝุ่นเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก และ เพื่อให้แสงแดดสามารถเข้าส่องถึงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งวิธีการทำความสะอาด ก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ฉีดพ่นน้ำไปบนหลังคาโรงเรือนก็สามารถล้างฝุ่นที่เกาะอยู่ให้ออกได้

รางล็อคสปริงแข็งแรงกว่าตัวล็อค

อุปกรณ์ในการติดตั้งพลาสติกโรงเรือนจะแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ แบบถาวร กับ แบบชั่วคราว โดยแบบถาวรจะนิยมใช้เป็นรางล็อคสปริง ยึดเข้ากับโครงสร้างของโรงเรือน โดยใช้สกูรเป็นตัวยึด จากนั้นก็ใช้สปริงเป็นตัวยึดพลาสติกโรงเรือนให้เข้ากับรางล็อคอีกที ส่วนแบบชั่วคราวจะใช้เป็น ตัวล็อคพลาสติก เพื่อยึดเข้ากับโครงสร้างของโรงเรือนแทน ซึ่งแบบที่ใช้รางล็อคสปริง จะมีแรงยึดที่แข็งแรงกว่าที่ใช้ตัวล็อคพลาสติก และ มีราคาที่สูงกว่าด้วย เช่นกัน

แปลงผักเล็กๆ ก็ใช้พลาสติกโรงเรือนได้

แม้ไม่ได้มีโรงเรือนที่เป็นโครงสร้างใหญ่ๆ ก็สามารถนำพลาสติกโรงเรือนมาประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะใช้คลุมแปลงผักเล็กๆ โดยใช้ท่อ PVC มาโค้งด้านบนแปลงผัก แล้ว คลุมด้วยพลาสติกโรงเรือน จากนั้น ก็ใช้ตัวล็อคพลาสติก ก็ย่อมทำได้ หรือ แต่เดิมทีมี โต๊ะปลูกผัก อยู่แล้วก็สามารถต่อเติมเป็นหลังคา แล้วใช้พลาสติกโรงเรือนก็ได้ เช่นกัน

สร้างบ้านให้น้องหนาม โรงเรือนแคคตัส และไม้อวบน้ำ 3 แบบ 3 สไตล์

ปลูกกัญชาในโรงเรือนอัจฉริยะแบบ Smart Farming คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต