ตู้เย็นไม่ใช่เครื่องหยุดเวลาแบบที่หลายคนเข้าใจ ใช่ว่าจะใส่อะไรเข้าไปในนั้นแล้วจะคงอยู่ตลอดไป ชั้นต่าง ๆ ภายในตู้เย็นถูกออกแบบมาให้มีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน การ เก็บอาหารในตู้เย็น ให้มีคุณภาพใกล้เคียงเดิม จึงจำเป็นต้องแช่อาหารให้ถูกที่ เพื่อจะยืดอายุออกไปนานสมใจ หากเก็บไม่ถูกต้องอาจทำให้อาหารเหล่านั้นอายุสั้นลงจนไม่สามารถรับประทานได้ วันนี้ my home เอาเคล็ดลับการ เก็บอาหารในตู้เย็น อย่างไรให้อยู่ได้นานพร้อมคงคุณภาพที่ดีมาฝากกันค่ะ
ช่องฟรีซ
มีอุณหภูมิโดยประมาณจะอยู่ที่ -18℃ โดยอุณหภูมิที่ต่ำแบบนี้ เป็นอุณหภูมิที่สามารถช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อจุลินทรีย์ในเนื้อสัตว์ เพราะฉะนั้นช่องฟรีซจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเก็บรักษาอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และอาหารที่เราคิดว่าจะเก็บไปนาน ๆ และหากต้องการให้การเก็บอาหารในช่องฟรีซมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการเปิดประตูเข้า-ออกบ่อยเกินความจำเป็น เพื่อคงอุณหภูมิให้คงที่

- เนื้อสัตว์บด สามารถเก็บไว้ได้ถึง 3 – 4 เดือน โดยแบ่งตามขนาดที่ใช้ ไม่แนะนำให้ละลายน้ำแข็งแล้วกลับไปแช่อีกเพราะเชื้อจุลินทรีย์ได้เติบโตแล้วในอุณหภูมิห้อง รีดให้แบนเพื่อการประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและลดราคาในการละลายน้ำแข็ง ใส่ถุงซิปเรียงซ้อนกันเป็นชั้น
- เนื้อสัตว์ดิบ สามารถเก็บไว้ได้ถึง 4 – 12 เดือน โดยแบ่งตามที่ใช้ในแต่ละครั้งเช่นกัน ใช้อลูมิเนียมฟอยล์ ช่วยป้องกันการเกิด Freeze burn ก่อนใส่ถุงซิปล๊อค
- กุ้งดิบ สามารถเก็บไว้ได้ถึง 3 – 6 เดือน ล้างกุ้งให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าประมาณ 2 – 3 ครั้ง แล้วพักไว้จนสะเด็ดน้ำ ตัดส่วนหัวตั้งแต่ลูกตาจนถึงหนวด และขาเล็กๆใต้หัวทิ้งไป ตัดส่วนหัวแยกออกจากตัว ใส่กล่องพลาสติก
- ขนมปัง สามารถเก็บไว้ได้ถึง 1 – 2 เดือน ให้นำขนมปังใส่ถุงซิปล็อค ไล่อากาศออกให้หมด หรือใส่กล่องพลาสติกก็ได้ค่ะ แต่คุณภาพของขนมปัง ความหอม ความนุ่มก็จะลดลงตามเวลา เวลาจะทานก็นำออกมาปิ้งทานได้ตามปกติ
ช่องใต้ช่องฟรีซ
มีอุณหภูมิโดยประมาณจะอยู่ที่ 0℃ – 5℃ เป็นอุณหภูมิที่ทำให้จุลินทรีย์เจริญได้ช้าลง รวมถึงไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มเติมได้ เหมาะกับการแช่อาหารที่ต้องการความเย็น แต่ไม่ต้องการแช่ให้แข็ง หรือใช้ช่องนี้เพื่อเก็บวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ยังไม่ผ่านการปรุง ควรแยกเก็บเป็นขนาดพร้อมใช้ต่อการปรุงอาหาร 1 ครั้ง เช่นเดียวกับการเก็บของในช่องฟรีซ อาหารประเภทของหมักดอง เนย และ ชีสก็สามารถเก็บไว้ในช่องนี้ได้ค่ะ อย่าลืมตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มอาหารว่าครอบคลุมครบถ้วนดีหรือไม่

- อาหารปรุงสุก สามารถเก็บไว้ได้ถึง 4 วัน อาหารที่เพิ่งปรุงใหม่ ๆ รอให้เย็นแล้วแบ่งตามปริมาณที่กิน ปิดให้มิดชิดด้วยพลาสติกแร็ป หรือใส่กล่องพลาสติกแยกไว้ ส่วนอาหารที่กินเหลือค่อนข้างเสี่ยงที่จะเน่าเสียได้ง่าย เพราะผ่านการสัมผัสจากการกินบางส่วน ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1-2 วัน
- ไส้กรอก สามารถเก็บไว้ได้ถึง 7 วัน เมื่อเปิดซองแล้ว ให้นำใส่ในกล่องพลาสติกปิดฝาให้สนิท ไม่ควรทิ้งไว้ในถุงบรรจุภัณฑ์เดิม บาโลน่า แฮม ก็ใช้วิธีนี้ด้วยเช่นกันค่ะ
- แยมผลไม้ สามารถเก็บไว้ได้ถึง 1 เดือน ใช้ช้อนที่สะอาดและแห้ง ตักแบ่งแยมเมื่อต้องการจะทานเสมอ ไม่นำช้อนที่เปื้อนหรือผ่านการทานมาแล้วตักซ้ำ หากพบหยดน้ำที่บริเวณฝาขวดจากอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ก่อนเก็บให้ใช้กระดาษทิชชูเช็ดหยดน้ำเหล่านั้นออก เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราที่ผิวหน้าแยม
ช่องแช่เย็นธรรมดา
โดยอุณหภูมิที่ช่องนี้โดยประมาณจะอยู่ที่ 5℃ – 7℃ เป็นอุณหภูมิที่เชื้อจุลินทรีย์ยังพอที่จะเติบโตได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากนำอาหารที่ไม่เหมาะสมมาแช่กับอุณหภูมิในช่องนี้แล้วจะเกิดการเน่าเสียจนต้องทิ้งไปไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

- ไข่ดิบ สามารถเก็บไว้ได้ถึง 3 – 5 สัปดาห์ โดยปกติแล้วไข่ไก่จะหมดอายุภายใน 21 วัน แต่ถ้านำเข้าตู้เย็นก็จะยืดอายุออกไปได้นานขึ้น ไม่ควรให้ไข่ไก่เปียกน้ำ หรือล้างไข่ไก่มาก่อนหน้านี้จะทำให้อายุการเก็บลดลง เนื่องจากบริเวณผิวด้านนอกของไข่ไก่จะมีเมือกแห้ง ๆ เคลือบผิวอยู่ ทำหน้าที่ ป้องกันแบคทีเรียที่จะเข้าไปทำปฏิกิริยาทำให้ไข่ไก่เสีย ถ้าเปื้อนให้เช็ดด้วยผ้าแห้ง นำด้านที่ป้านกว่าขึ้นด้านบน เพราะเป็นบริเวณที่มีโพรงอากาศอยู่ จะส่งผลทำให้สามารถเก็บได้นานขึ้น
- นมพาสเจอร์ไรส์ สามารถเก็บไว้ได้ถึง 7 – 10 วัน จำเป็นต้องแช่ตู้เย็นตลอดเวลา เพราะเป็นนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยความร้อนที่ทำลายเพียงแค่จุลินทรีย์บางส่วนที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ไม่ได้ทำลายตัวที่ทำให้นมเน่าเสีย
- นม UHT สามารถเก็บไว้ได้ถึง 6 – 8 เดือน เป็นนมที่ผ่านกระบวนการที่กำจัดเชื้อจุลินทรีย์ออกไปได้เกือบทั้งหมดแต่ก็แทบไม่ได้เสียวิตามินออกไปเลย จึงสามารถเก็บไว้ได้นานมาก แม้จะเก็บไว้นอกตู้เย็น การนำมาแช่เป็นเพียงการเพิ่มความสดชื้นเท่านั้น
- โยเกิร์ต สามารถเก็บไว้ได้ถึง 10 วัน หลังจากนั้นปริมาณกรดในโยเกิร์ตจะมีปริมาณเพิ่ม ทำให้กลิ่นและรสชาติเปลี่ยนไป จนเกิดการแยกชั้นของเคิร์ด (เนื้อโยเกิร์ต) และเวย์ (น้ำโปรตีนสีใส ๆ )
ข้อควรระวัง !! นมพาสเจอร์ไรส์และไข่ที่เน่าเสียง่ายไม่แนะนำให้เก็บไว้ที่บริเวณประตูตู้เย้นเนื่องจากเป็นที่ที่อุณหภูมอเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ถ้าอยากเก็บไว้ได้นานๆ แช่ในช่องธรรมดาดีกว่าค่ะ แต่ถ้าคิดว่าทานหมดก่อนจะเสียก็สามารถแช่ที่ประตูตู้ได้เช่นเดิมค่ะ
ช่องแช่ผัก
อุณหภูมิโดยประมาณจะอยู่ที่ 7℃ – 10℃ เป็นช่วงอุณหภูมิที่พอเหมาะสำหรับการรักษาความสดใหม่ของผักและผลไม้ให้ได้นานขึ้น ไม่เย็นเกิดจนเกิดรอยช้ำ หรือทำลายความกรอบอร่อย

- ผักสลัด สามารถเก็บไว้ได้ถึง 3 – 4 วัน ก่อนนำเข้าตู้เย็นจึงอาจยังไม่จำเป็นต้องล้างในทันที ยิ่งผักแต่ละชนิดนั้นมีใบที่หยักและงอทำให้กว่าจะแห้งจึงต้องใช้เวลาพอสมควรเลย การเก็บเข้าตู้เย็นโดยเด็ดส่วนที่เหี่ยวหรือเปื่อยออกโดยยังไม่ต้องล้างและห่อด้วยทิชชูอเนกประสงค์ ก่อนใส่ลงในถุงพลาสติกจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้ผักสลัดอยู่ได้ขึ้น 3 – 4 วัน เมื่อต้องการรับประทานจึงค่อยนำออกมาล้าง
- มะนาว สามารถเก็บไว้ได้ถึง 1 เดือน ก่อนจะนำมะนาวเข้าตู้เย็นให้ล้างให้สะอาด พึ่งลมไว้จนแห้งสนิท แล้วห่อด้วยกระดาษทิชชูให้ทั่วทั้งลูก เก็บใส่ถุงมัดให้แน่นไม่ให้อากาศเข้า หรือจะใส่ถุงซิปล๊อคเก็บไว้ก็ได้ค่ะ
- พริก สามารถเก็บไว้ได้ถึง 1 เดือน นำกระดาษทิชชูใส่รองด้านล่างกล่อง ใส่พริกไว้ตรงกลาง ไม่ต้องเด็ดก้านพริก เพราะการเด็ดก้านพริกออกจะทำให้พริกเน่าที่บริเวณหัวได้ จากนั้นวางทิชชูไว้ด้านบนพริกอีกครั้ง
ประตูตู้เย็น
อุณหภูมิโดยประมาณจะอยู่ที่ 10℃ – 15℃ ถึงแม้จะเป็นบริเวณที่หยิบจับอะไรก็ดูสะดวกไปหมด เปิดปุ๊ปหยิบปั๊ป แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งคิดว่าอะไรๆก็แช่ตรงนี้ได้ เพราะทุกครั้งที่เปิดประตูตู้เย็น บริเวณนี้จะเป็นที่ออกไปรับอุณหภูมิสูงด้านนอกก่อนใคร ๆ จึงทำให้ความสามารถในการยืดอายุอาหารนั้นลดน้อยลง

- น้ำผลไม้คั้น สามารถเก็บไว้ได้ถึง 2 – 3 วัน ยิ่งเป็นน้ำผลไม้ที่คั้นสด ๆ โดยใช้การผลิตที่ไม่ได้ผ่านความร้อนด้วยแล้ว แน่นอนว่ามีเชื้อจุลลินทรีย์ตามธรรมชาติน้ำผลไม้ จึงสามารถเก็บได้เพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นรสชาติและกลิ่นเริ่มเปลี่ยนไป ทางที่ดีคั้นแล้วควรดื่มให้หมดในวันนั้น แต่หากดื่มไม่หมดจริง ๆ ให้เลือกใช้ภาชนะที่สะอาดเพียงพอในการบรรจุ
- เครื่องปรุงและซอส สามารถเก็บไว้ได้ถึง 4 – 6 เดือน เมื่อแบ่งไปใช้แล้ว ก่อนจะเก็บเข้าตู้ควรทำความสะอาดบริเวณปากขวดให้เรียบร้อย ป้องกันการเกิดคราบสะสมและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเน่าเสียได้ หากมีหยดน้ำที่บริเวณฝาขวดเช็ดออกให้หมดก่อนเก็บ วันเวลาที่นานขึ้นอาจส่งผลต่อสีและรสชาติได้
เวลาการเก็บรักษาขึ้นอยู่กับความสะอาดและวิธีการจัดเก็บก่อนแช่ตู้เย็น *อุณหภูมิขึ้นอยู่กับปริมาณของที่เก็บ และรุ่นของตู้เย็น *