บ้านชั้นเดียว ในบุรีรัมย์ ที่มีฟังก์ชั่นเป็นห้องนั่งเล่นของครอบครัวใหญ่

บ้านชั้นเดียว ขนาดพอดีที่เน้นการใช้งานเป็นพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัวใหญ่ที่จะใช้พื้นที่แห่งนี้เปรียบดั่งห้องนั่งเล่นของครอบครัว และเป็นบ้านพักอาศัยในบรรยากาศแสนสบายของบุรีรัมย์ไปพร้อม ๆ กัน

#เนื้อหาโดยผู้ออกแบบบ้านหลังนี้เป็นบ้านพักอาศัย 1ชั้น 1 ห้องนอน สำหรับ 1 คน และ เป็นหนึ่งใน “ห้องนั่งเล่น” และ “ห้องกินข้าว” ของครอบครัวใหญ่ที่อาศัยอยู่ใกล้กันใน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

ความเป็นมาของโครงการเกิดจากเจ้าของบ้านวางแผนเกษียณตัวเองจากกิจการค้าขาย และอยากย้ายที่อยู่จากตึกแถวมาเป็นบ้านชั้นเดียวที่มีบริเวณมากขึ้น มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ และไม่ต้องเดินขึ้นลงบันได จึงเลือกมาอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรเดียวกันกับครอบครัวน้องสาว โดยมีโจทย์คือต้องเป็นบ้านที่สามารถรองรับกิจกรรมของครอบครัว (พี่น้องและหลานๆ) ที่จะมาทำอาหารทานด้วยกัน สามารถเดินไปมาหาสู่กับบ้านของน้องสาวได้ แต่มีปัญหาคือระหว่าง 2 บ้านมีพื้นที่รกร้างคั่นอยู่ เป็นถนนที่ไม่เคยถูกใช้งาน

พื้นที่ใช้งานของบ้านจึงได้รับการแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ (1) ส่วนบ้านพักอาศัยที่มีพื้นที่ใช้งานเพียงพอสำหรับ 1 คน ประกอบด้วยห้องนอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น และส่วนเตรียมอาหารเล็ก ๆ ที่อยู่ในตำแหน่งทิศเหนือ (2) ส่วนสำหรับกิจกรรมของครอบครัว คือ ครัวไทย ที่นั่งรับประทานอาหาร จัดให้เป็นระเบียงขนาดใหญ่ วางถัดมาทางทิศใต้ มีชายคายื่นยาวกันแดดกันฝน ช่วยให้สามารถรองรับแขกจำนวนมาก โดยที่ไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเพราะมีลม แสงธรรมชาติ และร่มเงาจากต้นไม้ (3) พื้นที่สวน กำหนดให้อยู่ทางทิศใต้ ยาวขนานกับระเบียง เพื่อเปิดพื้นที่ให้เชื่อมต่อกับบ้านของน้องสาวที่อยู่ถัดไป โดยมีการเพิ่มประตูสำหรับเดินไปมาหาสู่กัน รวมถึงเจาะช่องเปิดที่รั้ว ให้เป็นเหมือนกับหน้าต่างขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นและพูดคุยกันได้ ส่วนถนนร้างก็ปรับปรุงให้กลายเป็นสวนส่วนกลาง และ (4) ส่วนที่จอดรถ ห้องปั๊มน้ำ ห้องเก็บของ โซนซักล้าง ห้องน้ำแขก อยู่ทางทิศตะวันตก สามารถเดินเชื่อมต่อจากครัวและระเบียงได้ โดยทั้งหมดจะอยู่ในระดับเดียวกันเพื่อความสะดวกในการใช้งานของผู้สูงอายุ

พื้นที่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภายใน ระเบียง สวน หรือแม้แต่รั้วของบ้าน ล้วนได้รับการออกแบบให้สอดประสานเป็นงานสถาปัตยกรรมเดียวกัน ทั้งในเชิงของการใช้งาน เช่น ห้องนั่งเล่นที่สามารถเลื่อนประตูเปิดได้จนสุดเพื่อเชื่อมต่อเป็นพื้นที่เดียวกันกับระเบียงได้ ในเชิงการรับรู้พื้นที่ ผู้ออกแบบเลือกใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมต่อ เช่น สวนที่ออกแบบให้เป็นเหมือน “ห้อง” หนึ่งของบ้าน ด้วยคานที่วิ่งจากตัวบ้านไปยังรั้ว เพิ่มการรับรู้ถึงธรรมชาติของคนในบ้าน หรือที่นั่งในห้องนั่งเล่นที่ถูกวางชิดผนังเป็นตัวแอล (L) ด้านหนึ่งหันเข้าหามุมชมโทรทัศน์ อีกด้านขนานกับสวนเล็ก ๆ ฝั่งทิศเหนือ มีที่นั่งวิ่งยาวทะลุเข้าไปในห้องนอนกลายเป็นเดย์เบด/ที่นอนแขก อีกทั้งฐานของที่นั่งยังยื่นออกไปสร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่ภายนอก เป็นที่นั่งชมสวนของทั้งห้องนั่งเล่นและห้องนอน ในขณะเดียวกันห้องนอนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ก็ได้รับการออกแบบให้ดูเหมือนซ่อนอยู่หลังตู้

นอกจากนี้ การบำรุงรักษางานระบบของบ้านก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่ต้องทำให้สามารถติดตั้งและซ่อมแซมได้ง่าย และดูเรียบร้อย เหล็ก I beam จึงถูกนำมาใช้เป็นรางเดินระบบไฟฟ้า รางเดินสายสัญญาณ พัดลมเพดาน กล้องวงจรปิด ไฟดาวน์ไลท์ รวมถึงยื่นยาวออกไปเป็นไฟส่องถนน โดยชุดรางไฟนี้ยังแสดงตัวอย่างไม่หลบซ่อนด้วยการทาสีแดง กลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบทางสายตาที่ร้อยเรียงสร้างความเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ ทั้งภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน


ออกแบบ: WOS Architects

ภาพ: WOS Architects
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut

#SubmitYourWork พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบ และเจ้าของพื้นที่ส่งผลงานการออกแบบเข้ามาแบ่งปันให้ชาว room ได้ชมไปพร้อมกัน#roomSubmitYourWork#roomHouses#roomBooks