เรื่องราวของ Exotic Pet จากสัตวแพทย์ผู้รักษามาแล้วสารพัดสัตว์

ในประเทศไทย พ่อแม่สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับสุนัขและแมวที่มีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ แต่จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ยังมีพ่อแม่สัตว์เลี้ยงอีกกลุ่มหนึ่งที่เลี้ยง “สัตว์นำเข้า (Exotic)” หรือที่หลายคนคุ้นหูกับคำว่า “สัตว์แปลก”

วันนี้ บ้านและสวน Pets ได้รับโอกาสอย่างสูงเกียรติที่ได้พูดคุยกับสัตวแพทย์ น.สพ.ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง ที่ได้รักษาและดูแล สัตว์นำเข้า มาหลากหลายชนิด

นิยามของคำว่า สัตว์นำเข้า หรือ Exotic Pets

นิยามของคำว่าสัตว์เลี้ยง Exotic หรือ Exotic pet คือสัตว์เลี้ยงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมักจะเข้าใจกันว่า สัตว์ Exotic คือสัตว์แปลกเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว สัตว์ Exotic pet คือสัตว์เลี้ยงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่น (Endemic) คำว่า Exotic ยังรวมไปถึงสุนัขและแมวพันธุ์ต่างประเทศด้วย เนื่องจากคำว่า Exotic แปลตรงตัวว่า “ต่างถิ่น” นั่นเอง

ในประเทศไทย ผู้จำหน่ายสัตว์เลี้ยงได้นำเข้าสัตว์ต่างๆ มาอย่างหลากหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีความแปลกตา สีสันลวดลาย และลักษณะที่แปลกและสวยงาม จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงนำเข้าในประเทศไทย

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ Exotic pet ในประเทศไทยมีการนำเข้าสัตว์ที่หลากหลายชนิด มีฟาร์มเลี้ยงเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งสัตว์สวยงาม เช่น กระต่าย สุนัข แมว กลุ่มสัตว์ฟันแทะน่ารัก และนกสวยงามตระกูลนกแก้ว รวมทั้งงูสีสันสวยงามชนิดต่างๆ

โดยผู้จำหน่ายได้ก่อตั้งทั้งฟาร์มขนาดใหญ่และฟาร์มขนาดเล็กขึ้นมากมาย โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าชนิดพันธุ์สัตว์สวยงามที่แปลกตามากขึ้น และเป็นชนิดพันธุ์หายาก ราคาแพง นอกจากนี้อาจหมายรวมถึงสวนสัตว์ที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งได้เพาะขยายพันธุ์อย่างหลากหลาย ทั้งสายพันธุ์แปลก ๆ และหายากมากขึ้น บวกกับตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยก็เติบโตมากขึ้นภายในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา

สัตว์เลี้ยงนำเข้าที่กำลังได้รับความนิยม

สัตว์เลี้ยงนำเข้าสามารถจำแนกตามลำดับชั้นของสิ่งมีชีวิต ได้ดังนั้น

  • กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบศรพิษ, Horn frog, Salamander, Bull frog และกบสวยงามอีกหลายชนิด
  • กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่าเครา (Bearded dragon) อีกัวนา เต่าอัลดาบรา (Aldabra) เต่าซูลกาตา (Sulcata) งูเหลือมบอล (Ball python) และงูเหลือมงูหลามลายแปลกต่างๆ
  • กลุ่มสัตว์ปีก เช่น นกมาคอว์สายพันธุ์ต่างๆ นกกระตั้ว, นกซันคอนัวร์ (Sun conure) , Toucans, Cockateil, Love birds และกลุ่มนกร้องเพลงสายพันธุ์ต่างๆ
  • กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น แพรีด็อก (Prairie dog) หนูแฮมสเตอร์ (Hamster) กระต่ายสายพันธุ์ต่างๆ ลิงมาโมเสต บูชเบบี้ (Bush baby) เฟอร์เรต (Ferret) สกังก์ (Skunk) ชินชิลลา (Chinchilla Fennec Fox) และหนูสายพันธุ์ต่างๆ
  • กลุ่มแมง และแมลง เช่น ด้วงชนิด Dynastes hercules ด้วงชนิด Allomyrina dichotoma ด้วงชนิด Chalcosoma chiron ด้วงชนิด Phalacrognathus muelleri หรือจำพวกด้วงที่นิยมเลี้ยงที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ รวมทั้ง Isopod ชนิดต่างๆ

การเตรียมตัวก่อนรับสัตว์ Exotic เข้ามาอยู่ภายในบ้าน

การเตรียมตัวก่อนจะรับสัตว์ Exotic เข้าบ้าน ต้องพิจารณาทั้งพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงและสภาพความเป็นอยู่ตามความต้องการของสัตว์ เช่น สัตว์บางชนิดที่เป็นสัตว์เลื้อยคลานต้องการแสงแดดทุกวัน แต่ก็ต้องไม่ร้อนจนเกินไป

ที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าของควรหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ชนิดนั้น ๆ ให้เข้าใจ และเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านว่า สัตว์ชนิดนั้นใช้ชีวิตอย่างไร กินอาหารอะไร ต้องการอากาศและความร้อน ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเท่าไร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของสัตว์ชนิดนั้นๆ และต้องใช้เวลาดูแลสัตว์เหล่านั้นอย่างไรบ้าง

ข้อพิจารณาเรื่องกฎหมายของการเลี้ยงสัตว์ Exotic

ประเด็นเรื่องกฎหมายที่ผู้เลี้ยงต้องพบเจอคือ การจดทะเบียนสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องขึ้นทะเบียนในการเลี้ยงและครอบครอง

ผู้ที่คิดจะเลี้ยงสัตว์ Exotic สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนได้กับกองไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปัจจุบันกรมฯ ได้กำหนดไว้ทั้งหมด 73 ชนิด ข้อมูลเหล่านี้สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ http://www.fio.co.th/south/law/11/111.pdf เพื่อทำความเข้าใจว่าสัตว์ที่เรากำลังจะครอบครองอยู่ในรายชื่อสัตว์ 73 ชนิดนี้หรือไม่ ก่อนที่เราจะนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงภายในบ้าน

สัตว์นำเข้า, สัตว์แปลก, exotic, มีอะไรบ้าง, การเลี้ยง, โรงพยาบาลสัตว์แปลก, หมอวี, การเลี้ยงสัตว์แปลก

ความเสี่ยงที่ผู้เลี้ยงต้องเผชิญเมื่อเลี้ยง Exotic pet

ความเสี่ยงต่อตัวผู้เลี้ยง ในกรณีที่เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่เป็นสัตว์แปลก หรือสัตว์กึ่งสัตว์ป่า อาจจะมีกัดหรือข่วนผู้เลี้ยงได้บ้าง และตามธรรมชาติสัตว์เหล่านี้มักตื่นกลัวได้ง่าย และอาจทำร้ายเจ้าของโดยที่สัตว์ไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น ผู้เลี้ยงต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อนนำสัตว์มาเลี้ยง

ความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและตัวสัตว์ หากปล่อยสัตว์ Exotic สู่ธรรมชาติ

เนื่องจาก Exotic pet ไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่น ดังนั้น อัตราการอยู่รอดในธรรมชาติจึงต่ำมาก เนื่องจากสภาพอากาศ และสภาพแวดล้อม ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตตามธรรมชาติ ส่วนสัตว์บางชนิดที่กระจายพันธุ์ในเขตโซนร้อนที่คล้ายสภาพอากาศเมืองไทย อาจจะสามารถอยู่รอดได้ แต่โอกาสเจอคู่ในธรรมชาติก็มีน้อย จึงมักพบว่าอยู่รอดแต่ไม่สามารถขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้

นอกจากนี้ สัตว์บางชนิดที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลายได้ดี อาจกลายเป็นชนิดพันธุ์รุกราน (Invasive species) ในธรรมชาติ เนื่องจากไม่มีสัตว์ผู้ล่าที่ทำหน้าที่ควบคุมจำนวนประชากร

สัตว์แปลก, exotic, มีอะไรบ้าง, การเลี้ยง, โรงพยาบาลสัตว์แปลก, หมอวี, การเลี้ยงสัตว์แปลก

คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังจะรับสัตว์ Exotic เข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยง

การเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการนำสัตว์มาเลี้ยง เพราะสัตว์จะอยู่รอดได้ต้องมีปัจจัยประกอบมากมาย ทั้งพื้นที่เลี้ยง ความสะอาด และความปลอดภัยต่อตัวสัตว์

เจ้าของต้องมีความพร้อมในเรื่องการดูแลตามสวัสดิภาพของสัตว์ที่ควรจะได้รับ สามารถแบกรักค่าใช้จ่ายเมื่อไปพบสัตวแพทย์ในกรณีเจ็บป่วย ซึ่งเจ้าของจะต้องเป็นผู้ดูแลทุกอย่างเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ ซึ่งถ้าขาดปัจจัย ทั้งเรื่องเวลาในการดูแล เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เจ้าของต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ ควรพิจารณาให้ดีก่อนนำสัตว์มาเลี้ยง สุดท้ายนี้ขอให้มีความสุขกับการเลี้ยงสัตว์นะครับ

เรื่องและภาพถ่าย น.สพ.ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ