รวม 10 ฟาร์มรู้คู่สวน อยากปลูกผักสวนครัว ต้องรู้ ep.4

วิธีปลูกผักสวนครัว ที่ควรรู้ ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก๋าก็ต้องมีเคล็ดลับความรู้คู่สวนอยู่เสมอ เพื่อให้พืชผักที่ปลูกเจริญงอกงามน่ามารับประทานอยู่ตลอด

จึงได้รวบรวม 10 ฟาร์มรู้คู่สวน วิธีปลูกผักสวนครัว ดูแลพืชผักให้ง่ายยิ่งขึ้นและเข้าใจถึงธรรมชาติของการปลูกผักว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง รวมทั้งเคล็ดลับดีๆ ไว้ใช้ในสวนกัน เอาหล่ะ เตรียมตัวให้พร้อม เพราะเป็น #นักปลูก ต้องพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ

วิธีปลูกผักสวนครัว

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ รดน้ำตอนเที่ยง ช่วยให้ผักสลัดขมน้อยลง

เริ่มที่ วิธีปลูกผักสวนครัว เรื่องแรกคือ ธรรมชาติของผักสลัดนั้นจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นที่ให้รสชาติขม โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน รดน้ำไม่เพียงพอ ปล่อยให้ดินแห้ง จะส่งผลให้ผักเหี่ยว เป็นสาเหตุที่ทำให้ความเข้มข้นของน้ำยางในต้นผักสูง พอรับประทานไปก็เกิดรสชาติขมได้

เราสามารถ ลดความขมได้ง่ายๆ เพียงแค่รดน้ำเพิ่มในตอนเที่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้ผักเหี่ยว โดยให้สังเกตสภาพอากาศในแต่ละวัน ถ้าวันไหนแดดร้อนก็มีแนวโน้มว่าผักอาจจะเหี่ยวได้ก็ให้รดน้ำเพิ่ม และน้ำที่รดต้องไม่ร้อน ก่อนรดน้ำอย่าลืมเช็คอุณหภูมิของน้ำด้วยนะ ส่วนวันที่เมฆเยอะ ไม่ค่อยโดนแดด อากาศไม่ร้อน ผักไม่เหี่ยวแสดงว่าน้ำและความชื้นที่เพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรดเพิ่ม

ข้อมูลจากหนังสือ “ผักนอกปลูกง่ายทำได้ทุกฤดู

วิธีปลูกผักสวนครัว ซาแรน

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ ซาแรนแต่ละสีใช้งานแตกต่างกัน

ซาแรน หรือ ตาข่ายกรองแสง (Shading Net) ที่ใช้สำหรับกรองแสง ลดความร้อนให้กับพื้นที่ปลูกพืช ลดความแรงของลมและน้ำฝน ซึ่งเมื่อก่อนเราจะก็เคยเห็นแต่ซาแรนสีดำกับสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสีของซาแรนให้ออกมาหลากหลายสีมาก ทั้ง สีดำ สีขาว สีเทาเงิน สีเขียว เพื่อใช้งานที่แตกต่างกัน ได้ดังนี้

สีดำ – แสงที่ได้เป็นแสงขาวตามธรรมชาติ ซาแรนสีดำเป็นสีที่พบเห็นได้ทั่วไป มีขนาดความกว้างและอัตราการกรองแสงให้เลือกที่หลากหลาย สามารถหาซื้อได้ง่าย

สีขาว – แสงที่ได้เป็นแสงขาวตามธรรมชาติ มีข้อดีที่แสงสามารถผ่านได้มากกว่าสีดำ นอกจากนี้สามารถลดอุณหภูมิได้อีกด้วย จึงเหมาะสำหรับพืชที่ต้องการแสงมากแต่ไม่ชอบอุณหภูมิที่สูง

สีเทาเงิน – แสงที่ได้เป็นแสงขาวตามธรรมชาติ ใช้สำหรับกรณีที่ต้องการพรางแสงในฤดูฝนช่วงที่มีลมและฝนแรงที่อาจส่งผลให้พืชเสียหายได้ ด้วยคุณสมบัติของซาแรนสีเทาเงินที่มีเส้นเทปทึบแสงน้อยกว่าซาแรนสีดำ จึงสามารถใช้ซาแรนสีเทาเงิน 80% ซึ่งเทียบเท่ากับซาแรนพรางแสงสีดำ 60% เพื่อให้แสงผ่านได้ 40% แต่มีความทนทานมากกว่า

สีเขียว – แสงที่ได้เป็นแสงสีเขียว ซึ่งเป็นแสงที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย จึงนิยมใช้เพื่อให้พืชยืดตัวสูงขึ้น ต้องการให้พืชมีกิ่งก้านยาวขึ้น นอกจากนี้ช่วยลดการเกิดตะไคร่น้ำในบ่อได้อีกด้วย

วิธีปลูกผักสวนครัว คลุมฟาง

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ การคลุมดิน ช่วยให้ปลูกผักง่ายขึ้น

การคลุมดิน (Mulching) เป็นหนึ่งในวิธีการดูแลดินที่สำคัญ ช่วยให้รักษาความชื้นในดินไว้ได้ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศแห้งแล้งแบบนี้ ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของดินไม่ให้ร้อนจนเกินไป สามารถควบคุมปริมาณวัชพืชได้ ช่วยลดการชะล้างของธาตุอาหาร เพิ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุภายในดิน ซึ่งประเภทของวัสดุคลุมดินแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้ดังนี้

1. ใช้อินทรีย์วัตถุเป็นวัสดุคลุมดิน ซึ่งสามารถย่อยสลายเป็นสารอาหารให้กับพืชได้ ทำให้มีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า จึงเหมาะสำหรับพืชอายุสั้น วัสดุที่ใช้คลุมดินจะให้ดีเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายจากบริเวณใกล้เคียง เพื่อลดต้นทุน ได้แก่ ฟางข้าว มะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว ใบไม้แห้ง เปลือกไม้

2. ใช้วัสดุสังเคราะห์เป็นวัสดุคลุมดิน มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าอินทรีย์วัตถุ มีหลายสเปกด้วยกันตั้งแต่อายุการใช้งาน 1 ปี ไปจนถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับความหนาของวัสดุและสารเคลือบป้องกัน UV สามารถคลุมได้ตั้งแต่พืชอายุสั้นไปจนถึงไม้ยืนต้น หรือใช้คลุมพื้นดินในแปลงที่เป็นทางเดินก็ได้เช่นกัน

3. ใช้พืชเป็นวัสดุคลุมดิน ซึ่งจะนิยมใช้เป็นพืชตระกูลถั่วที่โตเร็ว มีอายุคลุมดินที่ยาวนาน เหมาะสำหรับแปลงที่เป็นต้นไม้ใหญ่ อย่างสวนผลไม้ สวนปาล์ม ซึ่งพืชตระกูลถั่วนอกจากจะคลุมดินได้แล้วยังช่วยบำรุงดิน ด้วยความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจากไรโซเบียม แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ ในช่วงแรกต้องใช้เวลาในการดูแลกว่าที่พืชจะครอบคลุมทั้งพื้นที่

วิธีปลูกผักสวนครัว เพลี้ยอ่อน

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ ฤดูร้อนผักแพง เพราะแมลงและภัยแล้ง

ในช่วงที่อากาศร้อนโดยเฉพาะพืชผักที่ชอบน้ำอย่าง ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย พริกสด ถั่วฝักยาว มะระ ผักกาดหอม กวางตุ้ง เป็นต้น จะมีราคาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง และจำนวนของแมลงศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา แต่ความต้องการผักยังคงเท่าเดิม รู้อย่างนี้แล้ว มาปลูกผักกันดีกว่าจะได้ไม่ต้องซื้อผักในช่วงราคาแพง ซึ่งมีวิธีการดูแลที่ต้องเตรียมตัวตามนี้

ใช้ซาแรนพรางแสง สำหรับพืชที่ไม่ค่อยทนร้อน โดยใช้ซาแรนพรางแสง 50% เพื่อป้องกันความร้อน แต่พืชก็ยังคงต้องการแสงแดดเต็มวันอยู่ดี ระหว่างกางซาแรนให้ดูทิศทางของแดดให้ดีด้วยนะ

– สำหรับพืชที่ปลูกในกระถาง ไม่ควรวางไว้บนพื้นปูน เพราะในช่วงเย็นพื้นปูนจะคลายความร้อนออกมาทำให้รากพืชที่อยู่ด้านล่างสุกได้ ทางที่ดีวางไว้บนพื้นไม้หรือใช้อิฐรองเพื่อไม่ให้กระถางสัมผัสกับพื้นปูนจะดีกว่า

– แมลงศัตรูพืชสารพัดเพลี้ย ไม่ว่าจะเป็น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง ไรแดง ถ้าพบเป็นจำนวนมากให้เรา ตัดแต่งส่วนที่มีการระบาดมากทิ้งออกไป

– หลังจากที่รดน้ำช่วงเย็นแล้ว ให้ ฉีดพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียน่า (Beauveria bassiana) เป็นประจำ โดยเชื้อราจะเข้าไปในตัวของแมลงและทำให้แมลงตาย

วิธีปลูกผักสวนครัว ปักชำมะเขือเทศ

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ กิ่งแขนงมะเขือเทศ นำมาล่อรากแล้วปลูกต่อได้

กิ่งแขนงหรือกิ่งกระโดง คือ กิ่งที่เกิดตรงบริเวณซอกใบของต้นมะเขือเทศ ซึ่งการตัดกิ่งแขนงออกจะช่วยให้ผลมะเขือเทศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องส่งอาหารไปเลี้ยงกิ่งแขนง นอกจากนี้ช่วยให้ทรงพุ่มของต้นมะเขือเทศโปร่งลดการเกิดโรค และช่วยให้แสงแดดส่องถึงใบที่อยู่ด้านล่างได้

แต่ถ้าไม่ตัดกิ่งแขนงออกก็จะทำให้ผลมะเขือเทศมีขนาดของผลและจำนวนน้อยลง เพราะต้นมะเขือเทศจะส่งอาหารไปเลี้ยงกิ่งแขนงด้วย ดังนั้นถ้าเห็นกิ่งแขนงให้ตัดออกทันที และให้ตัดออกเป็นประจำเพราะกิ่งแขนงจะเกิดออกมาอยู่เรื่อยๆ

แต่ถ้าเรายังมีพื้นที่เหลือ แล้วอยากได้ต้นมะเขือเทศเพิ่มก็ปล่อยให้กิ่งแขนงยาว ประมาณ 15-20 ซม. แล้วค่อยตัดออก จากนั้นก็นำกิ่งแขนงมาตัดใบออกบางส่วนเพื่อลดการคายน้ำ แช่น้ำทิ้งไว้ทันที และนำไปวางไว้ที่ร่ม หลังจากนั้นประมาณ 10-14 วัน รากจะเริ่มงอกออกมาก็นำไปอนุบาลในกระถางไซส์ 4 นิ้ว แล้วพอเริ่มโตจนรากเต็มกระถางก็ย้ายปลูกในกระถางไซส์ 12 นิ้วต่อได้เลย

ซึ่งการนำกิ่งแขนงมาปักชำมี ข้อดี คือ ทำให้ติดดอกออกผลได้ไว สามารถขยายพันธุ์ได้หลายต้น และถ้าต้นมะเขือเทศที่ใช้เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ต้นที่ได้จะเหมือนต้นแม่ 100% ทำให้ไม่เกิดการกลายพันธุ์ ที่สำคัญยังประหยัดอีกด้วย

วิธีปลูกผักสวนครัว จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

รู้หรือไม่ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ช่วยให้ปลาแข็งแรง

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสามารถการตรึงไนโตรเจนเอาไว้ สามารถย่อยสลายก๊าซไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) ได้ และหลังจากนั้นจะผลิตออกมาเป็นโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เอนไซม์ และกรดอะมิโนต่างๆ

ซึ่งจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง มีส่วนช่วยให้บ่อน้ำที่เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ใสขึ้นได้ เนื่องจากในบ่อน้ำจะมีการสะสมของไนเตรตส่งผลให้น้ำมีสีเขียวขึ้นมา โดยจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจะเข้ามาดึงไนเตรตมาเก็บไว้ ส่งผลให้น้ำใสขึ้น และสัตว์น้ำเจริญเติบโตได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้สัตว์น้ำแข็งแรง ต้านทานโรค อัตราการรอดสูง เนื้อสัตว์มีคุณภาพมากขึ้น โดยใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 5 ลิตร/ไร่ น้ำลึก 1.5 เมตร ใช้เป็นประจำทุก 7 วัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอุบราชธานี / กองปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

วิธีปลูกผักสวนครัว ไนโตรเจนในน้ำฝน

รู้หรือไม่ น้ำฝน พาปุ๋ยจากท้องฟ้าสู่ต้นพืช

แล้วสงสัยกันไหมว่า…น้ำฝนพาแร่ธาตุเหล่านั้นลงมาได้อย่างไร? คงไม่ใช่แค่น้ำฝนผ่านอากาศแล้วจะพามาง่ายๆ นะ เพราะการที่ น้ำฝนพาไนโตรเจนมาได้นั้นเกิดจากฟ้าแลบ โดยมีการประเมินไว้ว่า การเกิดฟ้าแลบ 1 ครั้ง จะทำให้ธาตุไนโตรเจนตกลงมายังพื้นดินประมาณ 2 กิโลกรัมต่อไร่

ซึ่งส่งผลให้ไนโตรเจนในอากาศทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลายเป็น สารประกอบไนตริกออกไซด์ (NO) จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) ซึ่งละลายได้ดีในน้ำฝนกลายเป็น กรดไนตริกหรือกรดดินประสิว (NHO3) จากนั้นจึงตกลงมาบนพื้นดินพร้อมทั้งทำปฏิกิริยาจนสุดท้ายกลายเป็น แคลเซียมไนเตรท

ซึ่ง แคลเซียมไนเตรท นี้มีประโยชน์ต่อพืชอย่างยิ่ง เรียกได้กว่า เป็นปุ๋ยจากธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยส่วนของแคลเซียม นั้นช่วยเพิ่มความแข็งแรงของผนังเซลล์ ส่งผลให้พืชมีความกรอบ รักษาความสดไว้ได้นาน ช่วยป้องกันผลแตก ส่วนของไนเตรทหรือไนโตรเจน เป็นที่รู้กันดีกว่าไนโตรเจนนั้นเป็นธาตุอาหารหลักของพืช ที่พืชใช้สำหรับการเจริญเติบโต เป็นส่วนประกอบหลักของคลอโรฟิลล์ในพืชที่ช่วยในการสังเคราะห์แสงของพืชทุกชนิด

นอกจากนี้ในระหว่างที่น้ำฝนตกลงมาก็ได้รับเอาคาร์บอกไดออกไซด์จากอากาศมาด้วย ส่งผลให้น้ำฝนมีความเป็นกรดอ่อน มีค่า pH ต่ำกว่า 6 อยู่เล็กน้อย ซึ่งสามารถช่วยละลายแร่ธาตุต่างๆ ในดินได้ ต่างจากน้ำประปาที่เป็นกลางจึงไม่สามาถช่วยละลายแร่ธาตุได้เท่าน้ำฝนนั่นเอง

Tip : การทำฝนเทียม มีโอกาสเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ได้เหมือนกับการเกิดฝนในธรรมชาติเลย จึงทำให้น้ำฝนสามารถนำพาไนโตรเจนมาสู่ต้นไม้ได้เช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอุบราชธานี / กองปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

วิธีปลูกผักสวนครัว ปุ๋ยหมัก

รู้หรือไม่ วิธีปลูกผักสวนครัว ใช้ปุ๋ยหมัก ช่วยให้ค่า pH ดินเหมาะสมต่อพืช

ค่า pH ในดิน คือ ค่าความเป็นกรด-ด่าง ภายในดิน มีค่าตั้งแต่ 1-14 ถ้าน้อยกว่า 7 ลงมาเป็นกรด เลขยิ่งน้อยแสดงว่าเป็นกรดมาก ถ้ามากกว่า 7 เป็นด่าง เลขยิ่งมากแสดงว่าเป็นด่างมาก

ซึ่ง พืชผักส่วนใหญ่ชอบค่า pH ในดินให้อยู่ที่ประมาณ 6.5-7.0 เป็นกรดอ่อนถึงปานกลาง เพราะทำให้ดินสามารถปลดปล่อยธาตุหลัก ที่ประกอบไปด้วย ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และธาตุอาหารรอง ที่ประกอบไปด้วย กำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม ได้ง่าย ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณมากถึงกลาง ตามลำดับ และควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารเสริมอย่าง อะลูมิเนียม เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ให้ออกมาเพียงเล็กน้อยพอดีกับความต้องการของพืช

แต่เมื่อใดก็ตามที่ดินเริ่มเป็นกรดมากขึ้น ธาตุอาหารหลักและอาหารรองจะถูกปลดปล่อยได้ยากขึ้น แต่ธาตุอาหารเสริมกลับถูกปลดปล่อยได้ง่ายเกินความต้องการจนเป็นพิษต่อพืช ส่วนดินที่เป็นด่างมากเกินไปก็จะทำให้พืชขาดธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม และธาตุอาหารเสริม

ปัจจัยที่ทำให้ดินเป็นกรดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่พืชดูดธาตุอาหารที่เป็นด่างไปใช้ การชะล้างธาตุอาหารที่เป็นด่าง น้ำฝนที่นำพากรดไนตริกจากท้องฟ้ามาสู่ดิน การย่อยสลายอินทรีย์วัตถุภายในดิน การใช้น้ำหมักชีวภาพ เพราะน้ำหมักมีค่า pH อยู่ในช่วง 3.5-5.6 ส่วนปัจจัยที่ทำให้ดินเป็นด่างจะเกิดขึ้นได้ยากกว่า เช่น การใช้น้ำบาดาลที่เป็นด่าง พื้นที่ดินเดิมที่มีการสะสมของแคลเซียมอยู่แล้ว

เราสามารถตรวจค่า pH ในดินได้หลายวิธี ได้แก่ ใช้กระดาษลิตมัส ชุดตรวจ LDD pH Test Kit ของกรมพัฒนาที่ดิน เครื่องวัด pH ดิน เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช

หากพบว่าดินเป็นกรด ให้โรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ และงดใช้น้ำหมักชีวภาพ ส่วนดินด่าง ให้โรยผงกำมะถัน เพราะกำมะถันจะเปลี่ยนเป็นกรดซัลฟูริก จึงสามารถลดความเป็นด่างลงได้ และรดด้วยน้ำหมักชีวภาพเป็นประจำ นอกจากนี้เพื่อปรับสภาพดินให้ใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก เพื่อช่วยในการดูดซับธาตุอาหาร และช่วยลดการชะล้างของแร่ธาตุต่างๆ ในดิน สุดท้ายจะส่งผลให้ดินมีความเหมาะสมต่อการปลูกพืชในที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วิธีปลูกผักสวนครัว พืชตระกูลถั่ว

รู้หรือไม่ อากาศทำให้พืชตระกูลถั่วโตไวและไนโตรเจนสูง

ทำไมพืชตระกูลถั่วถึงเป็นพืชที่นิยมใช้ในการทำปุ๋ยพืชสด เพราะ พืชตระกูลถั่วเป็นพืชชนิดเดียวที่มีปมอยู่ที่รากและภายในปมนั้นจะมีแบคทีเรียตระกูลไรโซเบียม (Rhizobiaceae) อยู่ซึ่งไรโซเบียมเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นอันตรายต่อพืชเพราะอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกัน ไรโซเบียมสามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนที่มีอยู่ในอากาศมากถึง 78% ให้เป็นสารประกอบไนโตรเจน ส่งผลให้พืชตระกูลถั่วนั้นโตไวมากและมีการสะสมของไนโตรเจนภายในลำต้นที่สูงอีกด้วย

จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการทำปุ๋ยพืชสดส่วนใหญ่นิยมใช้พืชตระกูลถั่วเพื่อเพิ่มไนโตรเจนให้กับพืช โดยพืชตระกูลถั่วที่นิยมนำมาทำปุ๋ยมีตั้งแต่ กระถิน ถั่วพร้า ก้ามปู ปอเทือง แต่ถ้าอยากให้ได้ทั้งปุ๋ยและสามารถรับประทานได้ด้วยก็สามารถเลือกปลูกเป็น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วพุ่ม ก็ได้เช่นกัน โดยที่หลังจากเก็บเกี่ยวถั่วเสร็จแล้วค่อยนำลำต้นของพืชมาบดสับให้ละเอียดเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสดต่อไป

สำหรับใครที่อยากจะปลูกพืชตระกูลถั่วไว้สำหรับปรับปรุงดินและรับประทาน สามารถเสริมด้วยปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม โดยนำมาคลุกกับเมล็ดก่อนนำไปปลูกเพื่อช่วยให้ต้นถั่วมีการสะสมในโตรเจนที่สูงขึ้น เจริญเติบโตได้ดีขึ้น มีจำหน่ายผ่านเว็ปไซต์ของกรมวิชาการเกษตรด้วยนะ แต่ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมต้องใช้ประเภทตามพืชชนิดนั้นๆ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด 

วิธีปลูกผักสวนครัว ปุ๋ยมูลค้างคาว

รู้หรือไม่ มะนาวบ้าใบ ใช้ปุ๋ยมูลค้างคาวช่วยให้ติดผลดีขึ้น

แอดมินเชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักกับมะนาวสายพันธุ์ดูใบ ไม่ใช่มะนาวสายพันธุ์อาหรับแต่อย่างใด แต่เพราะปลูกมะนาวมามีแต่ใบให้ดู ไม่มีลูกมะนาวให้เห็นสักที! ทั้งที่ก็ใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกบำรุงอย่างดี

สาเหตุหนึ่งมาจาก มะนาวได้รับธาตุไนโตรเจนจากปุ๋ยหมักมากเกินไป จนทำให้เกิดการสร้างยอดใหม่และใบตลอด เนื่องจากปุ๋ยหมักส่วนใหญ่ใช้ส่วนผสมของมูลวัว ด้วยความที่หาง่ายราคาไม่แพง ซึ่งภายในมูลวัวมีส่วนประกอบของธาตุไนโตรเจนและโพสแทสเซียมเป็นหลัก แต่มีฟอสฟอรัสเพียงแค่ 0.01% เท่านั้น

ดังนั้น ถ้าอยากให้มะนาวติดดอกออกผล ให้เพิ่มธาตุฟอสฟอรัสเพื่อช่วยให้มะนาวติดดอกออกผล โดยสามารถใช้ปุ๋ยมูลค้างคาวได้ เพราะมูลค้างคาวมีฟอสฟอรัสสูงถึง 14.28% เวลานำไปใช้ให้โรยปุ๋ยมูลค้างคาวรอบทรงพุ่มของต้นมะนาวจากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม ต้นมะนาวจะสะสมอาหารและเริ่มออกดอกตามฤดู โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงตามนี้

ช่วงที่ 1 ออกดอกช่วง มีนาคม-เมษายน เก็บผลได้ กรกฎาคม-สิงหาคม

ช่วงที่ 2 ออกดอกช่วง สิงหาคม-กันยายน เก็บผลได้ ธันวาคม-มกราคม

ในระหว่างที่มะนาวเริ่มติดผลก็ให้ใส่ปุ๋ยมูลค้างคาวเพิ่มเพื่อบำรุงผล พร้อมทั้งรดน้ำอย่างสม่ำเสมอเผื่อป้องกันไม่ให้มะนาวทิ้งลูก เท่านี้ก็พร้อมเก็บมะนาวมาทำต้มยำทำแกงกันแล้ว

Tip: ต้นมะนาวที่มาจากกิ่งพันธุ์จะสามารถออกดอกได้เร็วกว่ามะนาวที่มาจากการเพาะเมล็ด เพราะฉะนั้นในปีแรกแรก ถ้าต้นมะนาวเริ่มออกดอกให้เด็ดทิ้งให้หมด เพราะต้นยังมีขนาดเล็กอยู่หากปล่อยทิ้งไว้ต้นจะแคระแกรน เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ หลังจาก 1 ปี จึงค่อยเก็บผลมะนาวได้

อัปเดทเทรนด์การทำฟาร์ม

ตามหา ไอเดียปลูกผัก ปลุกพลังความเป็นฟาร์มเมอร์ในตัวคุณ กับ 10 ฟาร์มเมอร์ในอินสตาแกรม

เปลี่ยนพื้นที่ข้างบ้านเป็นแปลงปลูกผักสไตล์คันทรี