พลาสติกแรป เป็นไอเทมสารพัดประโยชน์ที่มีติดบ้านไว้ยังไงก็หยิบมาใช้ได้อย่างคุ้มค่าแน่นอน แต่ก็ใช่ว่าจะนำมาห่อคลุมได้ทุกอย่างนะคะ โดยเฉพาะการใช้กับอาหาร ที่ถือเป็นงานหลักของ พลาสติกแรป นั้นเป็นอีกอย่างที่ต้องระวังกันเป็นพิเศษเลย แต่จะใช้พลาสติกแรปอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อน หรือห่ออาหารแบบไหนถึงจะดีที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่ควรรู้ไว้ก่อนหยิบพลาสติกแรปมาใช้กันเลยค่ะ
ห่อ พลาสติกแรป ให้ห่างจากอาหารปรุงสุก 1 นิ้ว

การใช้พลาสติกแรปมาห่อคลุมอาหารปรุงสุกนั้นควรเว้นพื้นที่ให้ห่างอย่างน้อย 1 นิ้ว ภาชนะที่ควรนำมาใช้ใส่อาหารจึงเป็นภาชนะก้นลึกอย่างเช่นชาม กล่องใส่อาหารหรือถาดใบใหญ่ค่ะ นั่นก็เพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกแรปสัมผัสกับอาหารโดยตรง เพราะอาหารบางเมนูก็อาจมีไขมันหรือความเป็นกรดมากกว่าที่คิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้สารในพลาสติกแรปออกมาปนเปื้อนกับอาหารและเกิดอันตรายได้ถ้าหากเข้าไปสะสมในร่างกาย
หลีกเลี่ยงการใช้ พลาสติกแรป กับอาหารที่มีความมัน

อาหารประเภทหลัก ๆ ที่ไม่ควรนำมาห่อคลุมหรือสัมผัสกับพลาสติกแรปทุกรูปแบบเลยก็คืออาหารที่มีความมันมากเป็นพิเศษ อย่างพวกเนื้อสัตว์ติดมัน ของทอด เนยหรือเบเกอรี่บางประเภทนั่นเองค่ะ เพราะไขมันนั้นสามารถเป็นตัวกลางที่พาสารพิษในพลาสติกแรปละลายออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้ ยิ่งถ้าเป็นพลาสติกแรปที่ระบุว่ามีสาร PVC เป็นส่วนประกอบหลักยิ่งต้องหลีกเลี่ยงเลยค่ะ แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้งานจริง ๆ ก็ควรใช้ภาชนะก้นลึกและห่อคลุมพลาสติกแรปให้ห่างจากอาหารอย่างน้อย 1 นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสกันค่ะ
ไม่ควรใช้กับอาหารที่ร้อนจัด

ถึงแม้ว่าจะใช้ภาชนะก้นลึกและห่อพลาสติกแรปให้ห่างออกมาอย่างน้อย 1 นิ้วแล้วก็ตาม ไม่ว่าอย่างไรก็ควรปล่อยให้อาหารปรุงสุกที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ ๆ เย็นลงสักนิดก่อนจะห่อคลุมดีกว่าค่ะ เพราะความร้อนที่สะสมอยู่ภายในภาชนะมากเกินไปอาจเป็นสิ่งที่ทำให้พลาสติกแรปละลายหรือเกิดการปนเปื้อนกับอาหารได้ แม้ว่าจะมีการระบุที่ฉลากว่าสามารถโดนความร้อนได้ก็ตาม ที่สำคัญคือเป็นการช่วยให้ไอน้ำหรือไอน้ำมันไม่มาเกาะและสะสมอยู่ภายในมากเกินไปจนทำให้เนื้อสัมผัสของอาหารบางเมนูเปลี่ยนไปด้วยค่ะ
ไม่ควรนำเข้าไมโครเวฟหรือโดนความร้อนสูง

พลาสติกแรปบางประเภทอาจมีการระบุที่ฉลากว่าสามารถนำเข้าไมโครเวฟหรือใช้กับความร้อนได้ ซึ่งนั่นก็อาจเหมาะกับการใช้ห่อคลุมเพื่ออุ่นอาหารเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ถ้าเป็นการปรุงให้สุกหรืออุ่นโดยการนึ่งและเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ อย่างเช่นเตาอบ ก็อาจได้รับความร้อนสูงเกินไปจนทำให้ละลายและเกิดการปนเปื้อนได้อยู่ดีค่ะ เพราะพลาสติกแรปนั้นก็ยังคงถือเป็นวัสดุที่ทนความร้อนได้น้อยกว่าวัสดุอื่น ๆ แถมถ้าใช้ได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจไม่ค่อยคุ้มค่าด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากใช้ฝาปิดสำหรับไมโครเวฟหรือภาชนะแบบอื่นเพื่อปรุงสุกก็จะช่วยลดความเสี่ยงและตอบโจทย์มากกว่าค่ะ
พลาสติกแรปช่วยรักษาความสดใหม่ได้ดี

การใช้พลาสติกให้ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือการนำมาห่อคลุมอาหารหรือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ต้องรักษาความชุ่มชื้นและเนื้อสัมผัสให้ยังอร่อยคงเดิม ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ที่รับประทานไม่หมด เนื้อสัตว์ หรือขนมปังที่ต้องนำมาแช่เย็น การห่อด้วยพลาสติกแรปจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นภายในและป้องกันไม่ให้สัมผัสกับอากาศด้านนอก จึงทำให้วัตถุดิบสดใหม่ได้นานขึ้น ที่สำคัญยังเป็นวิธีการจัดเก็บอาหารที่ช่วยป้องกันกลิ่นไม่ให้ติดภาชนะหรือตู้เย็นได้เป็นอย่างดี ประหยัดพื้นที่ และยังสะดวกต่อการห่ออาหารออกไปทานนอกบ้านด้วย
ห้ามนำ พลาสติกแรป มาใช้ซ้ำ

พลาสติกแรปเป็นวัสดุที่ถูกออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้ง จึงเหมาะกับการนำมาใช้กับอาหารหรือวัตถุดิบต่าง ๆ ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ถึงแม้ว่าภายนอกอาจจะยังดูใหม่ แค่นำไปทำความสะอาดอีกสักหน่อยก็ยังใช้งานได้ แต่แท้จริงแล้วเนื้อพลาสติกก็ได้มีการเสื่อมสภาพไปโดยที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ไม่ว่าอย่างไรก็มีประสิทธิภาพไม่เท่าเดิมอยู่ดี ซึ่งนี่เป็นอีกเรื่องเล็กน้อยที่สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับสารปนเปื้อนจากพลาสติกแรปได้ค่ะ