สุนัขเดินยกขา หรือท่าทางการเดินผิดปกติ อาจกำลังมีปัญหาสะบ้าเคลื่อน

สุนัขเดินยกขา หรือร้องเจ็บเมื่อเจ้าของเข้าไปอุ้ม สัญญาณเบื้องต้นของโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข

ในระหว่างการเจริญเติบโตทางร่างกายของสุนัข ความผิดปกติอย่างหนึ่งที่สามารถพบเจอได้คือ การเจริญของกระดูกโครงร่างผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่โรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข (Patella luxation) โดยอาการที่แสดงออกได้หลายรูปแบบ เช่น สุนัขเดินยกขา ท่าทางการเดินผิดจากปกติ หรือส่งเสียงร้องเจ็บเมื่อเจ้าของเข้าไปอุ้ม

สุนัขเดินยกขา, อาการสะบ้าเคลื่อน, น้องหมาเดินยกขา, อุ้มสุนัข, การรักษาโรคสะบ้าเคลื่อน, โรคสะบ้าเคลื่อน
ภาพถ่าย Alicia Gauthier

“ส่วนใหญ่ โรคสะบ้าเคลื่อนมักเกิดในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ปอมเมอเรเนียน มอลทีส และชิวาวา เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็พบโรคนี้ในสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ได้เช่นกัน” น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ สัตวแพทย์ แผนกระบบกระดูกและข้อต่อ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน กล่าวและเสริมว่า “ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ โรคนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น การเจริญของกล้ามเนื้อและกระดูกไม่สัมพันธ์กัน”

ดังนั้น ในการวินิจฉัยจึงเรียกรวมๆ ว่า ความผิดปกติทางโครงสร้างในระหว่างสุนัขกำลังเจริญเติบโต นอกจากนี้ น.สพ.บูรพงษ์ กล่าวว่า สะบ้าเคลื่อนอาจเกิดได้จากการกระทบ กระแทก การถูกรถชน หรือการถูกตี ก็อาจทำให้แนวการเจริญเติบโตที่ขาของสุนัขเสียหายได้ ส่งผลให้ขาของสุนัขคดงอ และบิดเบี้ยว

เมื่อสุนัขต้องเผชิญโรคสะบ้าเคลื่อน 

น.สพ.บูรพงษ์ อธิบายว่า “โรคสะบ้าเคลื่อนเป็นความผิดปกติของตำแหน่งลูกสะบ้าในท่าที่สุนัขอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวก็ได้ สะบ้าที่ผิดจากตำแหน่งปกติสามารถหลุดไปอยู่ได้ทั้งด้านนอกและด้านในของข้อเข่า ซึ่งร้อยละ 80 – 90 มักหลุดเข้าด้านใน”

เมื่อเกิดความผิดปกติทางโครงสร้างของกระดูกจึงส่งผลให้สุนัขมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และในช่วงแรกเจ้าของมักจะไม่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากสุนัขยังไม่แสดงออกถึงอาการของโรค

สุนัขเดินยกขา, อาการสะบ้าเคลื่อน, น้องหมาเดินยกขา, อุ้มสุนัข, การรักษาโรคสะบ้าเคลื่อน, โรคสะบ้าเคลื่อน
ภาพถ่าย Joe Caione

ส่วนใหญ่เจ้าของมักสังเกตพบในระยะที่อาการของโรครุนแรงขึ้น เช่น สุนัขแสดงความเจ็บปวด และไม่สามารถยืดขาได้ จึงมักอยู่ในท่ายกขาหรืองอข้อเข่า ไม่ยอมลงน้ำหนัก เพราะลูกสะบ้าจะเคลื่อนหลุดออกมาตลอดเวลา อาจพบการบิดของกระดูกขาร่วมด้วย

แนวทางการรักษาโรคสะบ้าเคลื่อน

การรักษาให้ดีขึ้นต้องแก้ที่ต้นเหตุจากปัญหาโครงสร้างของกระดูก การผ่าตัดจึงเป็นวิธีแก้โครงสร้างให้เหมาะสม ในขณะเดียวกัน การใช้ยารักษา เป็นไปเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ และการเจ็บปวด ซึ่งไม่สามารถทำให้โครงสร้างกลับมาสมดุลได้ เนื่องจากเป็นเพียงการพยุงอาการ

“ในทางกลับกัน หากสุนัขแสดงอาการของโรคในระดับที่รุนแรงมากขึ้น การรักษาด้วยการให้ยาหรือฉีดยา อาจไม่สามารถช่วยให้ระบบกระดูกกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติได้” น.สพ.บูรพงษ์ อธิบายและเสริมว่า “ดังนั้น ในระดับที่อาการของโรครุนแรงจนส่งผลต่อสวัสดิภาพของสุนัข การรักษาอย่างตรงเป้าหมายที่สุดคือ การผ่าตัด”

สุนัขเดินยกขา, อาการสะบ้าเคลื่อน, น้องหมาเดินยกขา, อุ้มสุนัข, การรักษาโรคสะบ้าเคลื่อน, โรคสะบ้าเคลื่อน
การผ่าตัดปรับมุมกระดูกขาหลังท่อนบน

โดยทั่วไป เมื่อตรวจพบอาการของโรคสะบ้าเคลื่อน สัตวแพทย์จะประเมินความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกขาทั้งท่อนบนและท่อนล่าง เมื่อวิเคราะห์องศาที่กระดูกเคลื่อนจากตำแหน่งปกติได้แล้ว สัตวแพทย์จะวางแผนการผ่าตัด เพื่อแก้ไขให้กระดูกกลับมาอยู่ในแนวปกติ 

“เจ้าของสุนัขหลายรายมักกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องการผ่าตัด ผมก็ไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนได้ว่า สุนัขแต่ละตัวที่มาพบสัตวแพทย์ด้วยโรคสะบ้าเคลื่อนต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร” น.สพ.บูรพงษ์ เล่าถึงกรณีที่ได้เคยพบเจอ และอธิบายเพิ่มเติมว่า “สัตวแพทย์จำเป็นต้องประเมินเป็นรายตัว เพราะโรคสะบ้าเคลื่อนเป็นความผิดปกตทางโครงสร้างกระดูก ซึ่งอาจจะมีความผิดปกติที่แตกต่างกันในสุนัขแต่ละตัว”

สุนัขเดินยกขา, อาการสะบ้าเคลื่อน, น้องหมาเดินยกขา, อุ้มสุนัข, การรักษาโรคสะบ้าเคลื่อน, โรคสะบ้าเคลื่อน
การตัดปรับมุมกระดูกขาหลังท่อนล่าง

อีกหนึ่งข้อกังวลที่ น.สพ.บูรพงษ์ ยกเป็นกรณีตัวอย่างคือ เมื่อสุนัขเป็นโรคสะบ้าเคลื่อน เจ้าของไม่เลือกวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ได้หรือไม่ 

ในข้อนี้ น.สพ.บูรพงษ์ กล่าวว่า “ไม่ผ่าก็ได้ หรือผ่าก็ดี หมายความว่า ถ้าไม่ผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างของกระดูก สุนัขก็ยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ในขณะเดียวกัน การผ่าตัดก็เป็นหนึ่งวิธีการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของสุนัข” 

ในสุนัขหลายตัวที่ตรวจพบอาการสะบ้าเคลื่อน เจ้าของอาจตัดสินใจไม่เลือกวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดก็ได้ เนื่องจาก สุนัขยังไม่ได้แสดงออกถึงความเจ็บปวด แต่ถ้าในกรณีที่สุนัขแสดงความเจ็บปวดจากโรค สัตวแพทย์ก็มักจะแนะนำให้รักษาด้วยด้วยการผ่าตัด ดังนั้น การตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับเจ้าของสุนัข น.สพ.บูรพงษ์ กล่าว

แนวทางการป้องกันโรคสะบ้าเคลื่อน

น.สพ.บูรพงษ์ แนะนำว่า “ให้สุนัขได้วิ่งเล่นอย่างเป็นประจำตามสัญชาตญาณของสุนัข และควบคุมรูปร่างของสุนัขไม่ให้อ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป

อาการสะบ้าเคลื่อน, น้องหมาเดินยกขา, อุ้มสุนัข, การรักษาโรคสะบ้าเคลื่อน, โรคสะบ้าเคลื่อน
ภาพถ่าย Mark Timberlake

นอกจากนี้ การพาสุนัขออกไปเดินเล่นเป็นประจำก็ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสุนัขและเจ้าของ และหากเจ้าของต้องการตรวจร่างกายสุนัขเพื่อวินิจฉัยโรคสะบ้าเคลื่อน สุนัขต้องมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป 

ผู้ให้ข้อมูลและภาพประกอบ : น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ สัตวแพทย์แผนกระบบกระดูกและข้อต่อ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ