โรคลมแดดในแมว โรคที่มาพร้อมอากาศร้อน

ฮีทสโตรกแมว สามารถเกิดขึ้นได้กับแมวทุกช่วงวัย และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แมวเสียชีวิตได้

ฮีทสโตรกแมว (heat stroke) หรือโรคลมแดดในแมว เกิดสาเหตุอะไร

เกิดจากการที่ร่างกายของแมวได้รับความร้อนมากจนเกินไป แมวอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง หรือการถ่ายเทระบายอากาศไม่ดี จนส่งผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายแมวสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส หรือ 104 องศาฟาเรนไฮต์ อย่างรวดเร็ว อุณภูมิที่สูงเกินไปจะส่งผลเสียต่ออวัยวะภายใน และระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย โดยมีความรุนแรงได้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอกจากปัจจัยเรื่องสภาพอากาศที่ร้อนจัดแล้ว แมวสายพันธุ์ขนยาว หน้าสั้น และแมวที่มีกิจกรรมระหว่างวันมากกว่าปกติ ก็อาจเกิดภาวะฮีตสโตรกได้ง่ายขึ้น

ฮีทสโตรกแมว, โรคลมแดดในแมว, แมวเป็นลมแดด

อาการของแมวที่เป็นโรคลมแดด

  1. มีอาการหายใจเร็ว หอบ หายใจทางปาก หรือหายใจลำบาก
  2. สีบริเวณเหงือก ลิ้น มีสีแดงสด
  3. อุณหภูมิของร่างกายแมวสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส หรือ 104 องศาฟาเรนไฮต์
  4. มีอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่าย
  5. น้ำลายไหลยืด
  6. รูม่านตาขยายใหญ่
  7. อ่อนแรง การทรงตัวผิดปกติ และเดินเซ
  8. มีสภาวะช็อก หมดสติ หรือชัก เกร็ง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโรคลมแดดในแมว

  1. รีบนำแมวเข้าสู่พื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  2. เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเปล่า ที่บริเวณฝ่าเท้า รักแร้ ขาหนีบ ใต้ท้อง
  3. รีบนำส่งโรงพยาบาลสัตว์เพื่อพบสัตวแพทย์ทันที

สำหรับการปฐมพายาบาลเบื้องต้น ถ้าต้องการลดอุณหภูมิร่างกายด้วยการใช้น้ำแข็ง ไม่ควรนำน้ำแข็งสัมผัสกับร่างกายของน้องแมวโดยตรง ให้นำผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งไว้ และประคบไปตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย

ฮีทสโตรกแมว, โรคลมแดดในแมว, แมวเป็นลมแดด

การป้องกันโรคลมแดด

  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งช่วงอากาศร้อน
  2. มีน้ำดื่มเพียงพอต่อความต้องการของแมว เพื่อป้องกันภาวะแห้งน้ำ
  3. ให้แมวอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ปิดและระบายอากาศไม่ได้ เช่น ในรถ
  4. คลายความร้อนให้แมวโดยใช้ที่นอนเจลเย็น โอ่งเย็น หรือที่นอนที่สามารถปรับควบคุมอุณหภูมิได้
  5. ถ้าหากแมวต้องเผชิญกับอากาศร้อน สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเปล่าเช็ดตามตัว อุ้งเท้า ใต้ท้อง เพื่อช่วยระบายความร้อน

ฮีทสโตรกเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวสำหรับน้องแมว และสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เจ้าของควรเอาใจใส่ดูแลน้อง ๆ ในช่วงอากาศร้อนเป็นพิเศษ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับน้อง ๆ ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วพามาพบสัตว์แพทย์ทันที

เรื่อง: สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำ PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ