หลายครั้งที่เผลอทำน้ำหกหรือเจอคราบเลอะก็มักจะคว้า กระดาษทิชชู มาเช็ดก่อนเป็นอันดับแรกด้วยความเคยชิน จนอาจลืมไปว่าพื้นผิวบางอย่างนั้นก็ไม่ได้เหมาะกับการเช็ดด้วยกระดาษทิชชูเสมอไป เพราะนั่นอาจกลายเป็นทำลายพื้นผิวมากกว่าการทำความสะอาดได้ค่ะ ซึ่งถ้าไม่อยากเผลอทำให้ข้าวของหลาย ๆ ชิ้นต้องหมดสวย หรือ กลายเป็นเลอะมากกว่าเดิม ก็ตาม my home ไปดูกันดีกว่าค่ะว่า มีอะไรที่ไม่ควรเช็ดด้วย กระดาษทิชชู กันบ้าง
1 . ผ้าปูโต๊ะ

เมื่อเผลอทำน้ำหรือซอสหกเลอะผ้าปูโต๊ะ หลายคนก็มักจะคว้า กระดาษทิชชู มาซับออกก่อนเป็นอันดับแรก แต่กระดาษทิชชูนั้นอาจไม่ได้ช่วยซึมซับคราบเลอะได้ดีอย่างที่คิด แถมชิ้นส่วนที่เปื่อยยุ่ยออกมาก็ยังติดเนื้อผ้าจนกลายเป็นคราบที่ต้องมาทำความสะอาดเพิ่มอีก โดยทั่วไปผ้าปูโต๊ะไม่ใช่สิ่งที่ทำความสะอาดได้ยากอยู่แล้ว แค่นำผ้ารองจานหรือผ้าขนหนูมาซับไว้ก่อนเปลี่ยนผืนใหม่ก็ยังถือว่าทันการค่ะ
2 . พรมปูพื้น

การนำพรมออกมาทำความสะอาดทั้งผืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเอาซะเลย เพราะแบบนี้หลายคนเลยชอบหยิบกระดาษทิชชูมาเช็ดคราบเวลาทำพรมเลอะตลอด ทั้งที่การใช้กระดาษทิชชูเช็ดถูบนพรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเลยค่ะ เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยเช็ดคราบออกได้เท่าที่ควรแล้วก็ยังเปื่อยยุ่ยจนกลายเป็นขุยเล็ก ๆ ติดไปกับพรมอีกด้วย ทางที่ดีควรใช้วิธีที่เหมาะสมอย่างการใช้น้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำมาค่อย ๆ ซับคราบออกเพื่อลดขั้นตอนการทำความสะอาดที่ไม่จำเป็น
3 . ภาชนะใส่อาหาร

ไม่ว่าจะเป็นจาน ชาม หรือช้อน ส้อม รวมไปถึงภาชนะต่าง ๆ ที่ต้องนำไปใส่อาหารหรือสัมผัสกับวัตถุดิบโดยตรงนั้นไม่ควรนำกระดาษทิชชูมาเช็ดทำความสะอาดทั้งหมดเลยค่ะ เพราะกระดาษทิชชูสามารถเปื่อยยุ่ยออกมาได้แถมอาจมีฝุ่นละอองติดอยู่ด้วย แม้จะเป็นเพียงอนุภาเล็ก ๆ ที่หลุดออกมาแต่ก็ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมอีกอย่างที่ไม่ควรให้ไปปะปนกับอาหาร การใช้ผ้าที่ออกแบบเพื่อเช็ดจานโดยเฉพาะจึงถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะนอกจากจะทำความสะอาดได้หมดจดแล้วก็ยังประหยัดกว่าใช้กระดาษทิชชูด้วย
4 . เขียงและมีด

เขียงและมีดนั้นเป็นเครื่องครัวที่ต้องสัมผัสกับอาหารต่าง ๆ โดยตรงไม่แพ้กับจานและชาม แถมขณะใช้งานก็ยังต้องเจอทั้งน้ำและคราบเหนียวจากอาหารสารพัดประเภท ซึ่งถ้าหากนำกระดาษทิชชูมาคอยเช็ดทำความสะอาดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เปื่อยออกมาและไปติดตามพื้นผิวของมีดและเขียงอย่างแน่นอน ซึ่งแทนที่จะเป็นการเช็ดทำความสะอาดก็อาจกลายเป็นการทิ้งคราบจากกระดาษไว้เพิ่มแทน แต่ถ้าหาผ้าเช็ดจานหรือผ้าขนหนูสักผืนมาประจำที่ไว้ก็จะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องห่วงเลยค่ะ
5 . แว่นตาและหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

เครื่องใช้ที่เป็นพื้นผิวกระจกอย่างแว่นตาและหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ นั้นสามารถเกิดรอยขีดข่วนได้ง่ายอยู่แล้วจึงยิ่งไม่ควรใช้กระดาษทิชชูเช็ดเลยค่ะ เพราะแม้จะดูเหมือนเป็นวัสดุที่นุ่มและใช้แทนผ้าได้แต่ก็สามารถทำให้เกิดรอยเล็ก ๆ ได้อยู่ดี ไม่ว่าอย่างไรก็ควรใช้ผ้าที่มีเนื้อละเอียดอย่างผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดทำความสะอาด ซึ่งเป็นผ้าควรมีไว้ประจำสำหรับเช็ดอุปกรณ์เหล่านี้โดยเฉพาะ
6 . เฟอร์นิเจอร์ไม้เคลือบเงา

เฟอร์นิเจอร์ไม้เคลือบเงาเป็นพื้นผิวอีกประเภทที่ต้องดูแลอย่างเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดรอยขีดข่วน เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ผิวไม้หมดสวยก็ควรหลีกเลี่ยงการเช็ดถูด้วยกระดาษทิชชู เพราะการทำแบบนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เกิดรอยขีดข่วนได้ แต่ยังอาจทิ้งรอยด่างเอาไว้จนทำผิวไม้ไม่เงาสวยเหมือนเดิมด้วย เมื่อเกิดคราบเลอะจึงควรใช้ผ้าชุบน้ำที่อ่อนนุ่มมาเช็ดทำความสะอาดเพื่อรักษาสภาพผิวไม้ไว้ให้ได้มากที่สุดค่ะ
7 . เสื้อผ้าสีดำ

การนำกระดาษทิชชูไปเช็ดเสื้อผ้าที่เป็นสีดำนั้นคงหนีไม่พ้นกับการต้องเจอเศษกระดาษขาว ๆ เป็นขุยติดกับเสื้อผ้าแน่นอน เพราะโดยธรรมชาติของกระดาษทิชชูที่เป็นสีอ่อนอีกทั้งยังเปื่อยยุ่ยได้ง่าย ถ้ายิ่งออกแรงเช็ดเมื่อเจอน้ำหรือคราบต่าง ๆ ก็จะยิ่งหลุดออกมาและติดเต็มเสื้อผ้าจนเห็นได้ชัดแน่นอนค่ะ ถ้าอยากเช็ดทำความสะอาดเสื้อผ้าสีดำก็อาจต้องเลือกใช้เป็นกระดาษทิชชูเปียกแทนเพื่อไม่ให้เกิดคราบเลอะกว่าเดิมนั่นเอง
8 . ใช้เช็ดมือขณะทำอาหาร

ใครที่ชอบหยิบกระดาษทิชชูมาเช็ดมือระหว่างทำอาหารนั้นก็อยากให้ลองเปลี่ยนความเคยชินนี้ โดยการหาผ้าขนหนูสักผืนมาประจำที่ไว้ใช้สำหรับเช็ดมือโดยเฉพาะแทนค่ะ แน่นอนว่านอกจากผ้าขนหนูจะทนต่อน้ำมากกว่าแล้วก็ยังนำไปซักทำความสะอาดและวนกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงไม่ต้องทิ้งไปอย่างสิ้นเปลืองทุกครั้งที่ใช้งานโดยไม่จำเป็นด้วยค่ะ
story : Kamonchanok.L
5 ประเภทของกระดาษทิชชู่ที่ควรรู้
กระดาษอเนกประสงค์กับประโยชน์รอบด้าน ที่ทำได้มากกว่าการซับน้ำมัน