การซาวข้าว เติมน้ำ และกดหุงตามปกตินั้นเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ที่แทบทุกบ้านล้วนใช้กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่นอกจากนี้ก็ยังสามารถเติมส่วนผสมอื่น ๆ หรือใช้เคล็ดลับเพิ่มเติมเพื่อให้ข้าวสวยออกมานุ่มอร่อย น่าทาน และเก็บได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยนะคะ ถ้าอยากรู้ว่าจะมีวิธีไหนที่ช่วยให้ข้าวสวยหม้อเดิมออกมาอร่อยยิ่งขึ้นได้อีก ก็ห้ามพลาดเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ในขั้นตอนการ หุงข้าว ที่ my home นำมาฝากกันเลยค่ะ
1 . ป้องกันข้าวบูดด้วยน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาว

บางครั้งหลังจาก หุงข้าว สุกแล้วและปล่อยทิ้งไว้ในหม้อเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็อาจทำให้ข้าวบูดได้ การยืดระยะเวลาให้ข้าวบูดช้าลงแถมเพิ่มความนุ่มอร่อยนั้นสามารถทำได้ด้วยการเติมน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาวลงไปค่ะ จะเป็นน้ำส้มสายชูกลั่นหรือน้ำส้มสายชูหมักก็ใช้ได้เหมือนกันหมดเลย โดยหลังจากซาวข้าวและใส่น้ำลงหม้อเรียบร้อยแล้วให้เติมน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาวในอัตราส่วน 1 ช้อนชา / ข้าว 1 ถ้วย เพิ่มลงไป ก็จะช่วยให้ข้าวบูดช้าลงได้โดยจะไม่หลงเหลือกลิ่นหรือรสเปรี้ยวทิ้งไว้ค่ะ
2 . น้ำมันพืชช่วยให้ข้าวร่วนซุย นุ่มอร่อย

ส่วนผสมอีกอย่างที่สามารถเติมลงไปเพื่อช่วยให้ข้าวออกมาน่ารับประทานกว่าเดิมได้ก็คือน้ำมันพืชทั่วไปที่ใช้ทอดหรือผัดกันนั่นเอง สำหรับการหุงข้าว 1 ถ้วยนั้น จะใช้น้ำมันผสมลงไปเพียงครึ่งช้อนชาเองค่ะ ข้าวที่ได้ออกมาจะมีความมันเงาและนุ่มกว่าเดิม ไม่มันเยิ้มแต่จะร่วนซุยและเรียงเม็ดสวย ช่วยป้องกันไม่ให้ข้าวเกาะกันเป็นก้อน จะเลือกใส่น้ำมันพืชลงไปเพียงอย่างเดียวหรือจะเติมน้ำส้มสายชูลงไปด้วยเพื่อช่วยเพิ่มความอร่อยก็ได้ทั้งสองอย่างเลยค่ะ
3 . ข้าวแฉะเกินไปให้ขนมปังช่วยซับ

ถ้าหากวันไหนเผลอใส่น้ำเยอะเกินไปจนข้าวออกมาแฉะก็ไม่ต้องกังวลหรือทนกินให้หมดทั้งที่ไม่อร่อยนะคะ เพราะยังพอมีวิธีแก้ไขที่ช่วยให้ข้าวกลับมาน่ารับประทานได้ ซึ่งนั่นก็คือการใช้ขนมปังแผ่นมาช่วยดูดความชื้นในข้าวออกไปค่ะ โดยถ้าหากเปิดหม้อออกมาแล้วพบว่าข้าวที่หุงเสร็จนั้นแฉะเกินไปก็ให้นำขนมปังสัก 1-3 แผ่นวางลงไป และปิดฝาพร้อมกับกดปุ่มหุงทิ้งไว้อีก 10-15 นาที แต่ถ้าหากรอบเดียวข้าวยังแฉะเกินไปก็ให้เปลี่ยนขนมปังแผ่นใหม่ใส่ลงไปและปล่อยทิ้งไว้อีกรอบได้ค่ะ แม้ขนมปังอาจไม่ได้ดูดความชื้นส่วนเกินทั้งหมดออกมาแต่ก็ช่วยให้ข้าวกลับมาน่ารับประทานมากกว่าเดิมแน่นอน
4 . เติมเกลือเพื่อให้ข้าวนุ่มอร่อยขึ้น

อีกวิธีการง่าย ๆ ที่ช่วยเพิ่มความอร่อยได้อย่างไม่ยุ่งยากเลยก็คือการเติมเกลือป่นลงไปในหม้อข้าวก่อนปิดฝากดปุ่มหุง ซึ่งแน่นอนว่าทุกบ้านนั้นต้องมีเกลือสักประปุกอยู่บนเคาน์เตอร์ครัวกันอย่างแน่นอน แค่ใส่เกลือลงไปเพียงหยิบมือหรือปลายช้อนก็จะสามารถช่วยให้ข้าวนุ่มฟูมากขึ้นได้ ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มรสชาติให้กับข้าวสวยไปในตัวด้วยค่ะ
5 . แช่น้ำไว้ช่วยให้ข้าวนุ่มขึ้น

หลายคนอาจไม่ชอบเนื้อสัมผัสของข้าวกล้องหรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มักจะมีความแข็งกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป หรืออาจให้ความรู้สึกเหมือนทานข้าวไม่สุก ซึ่งถ้าอยากให้ข้าวออกมานุ่มและทานง่ายกว่าเดิมก็สามารถแช่ข้าวก่อนหุงไว้ได้ค่ะ การแช่ข้าวนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่ 30 นาที ไปจนถึง 7 ชั่วโมง โดยอาจใช้วิธีการซาวข้าวให้สะอาดพร้อมกับใส่ลงในหม้อและเติมน้ำทิ้งไว้ให้พอดีในตอนกลางคืน พอตื่นเช้ามาก็สามารถกดหุงได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลารอเลยนั่นเองค่ะ
6 . รอข้าวระอุก่อนถอดปลั๊ก

เมื่อหุงข้าวสุกแล้วก็อย่าลืมสิ่งสำคัญอย่างการทิ้งข้าวไว้ให้ระอุก่อนจะเปิดฝาออกนะคะ ซึ่งพอหม้อข้าวหุงสุกเมื่อไรก็อย่าเพิ่งใจร้อนรีบเปิดฝาตักออกมาทาน เพราะหลังจากที่ข้าวสุกแล้วควรทิ้งไว้ต่ออีกประมาณ 5-15 นาที จึงค่อยถอดปลั๊กและเปิดฝาหม้อขึ้นพร้อมกับนำทัพพีไปซุยข้าวให้ทั่วทั้งหม้อจนแยกตัวออกจากกัน ข้าวสวยที่ได้ออกมาก็จะตักง่ายขึ้น นุ่มฟูน่าทานเหมือนกันทั้งหม้อ แม้ปล่อยไว้จนเย็นลงข้าวก็จะไม่เกาะตัวกันแน่นเป็นก้อนค่ะ
7 . เพิ่มกลิ่นในขั้นตอนการ หุงข้าว ด้วยใบเตย

แม้จะได้ชื่อว่าข้าวหอมมะลิ แต่จริง ๆ แล้วกลิ่นของข้าวหอมมะลินั้นกลับมีความคล้ายคลึงกับใบเตยมากกว่า ถ้าหากต้องการหุงข้าวเสาไห้หรือข้าวเก่าให้ออกมาหอมน่าทานก็สามารถใส่ใบเตยเพิ่มลงไปได้ค่ะ โดยระหว่างที่รอข้าวสุกนั้นก็ให้เตรียมใบเตยสัก 1-2 ใบมาล้างทำความสะอาดและมัดเป็นปมไว้ให้เรียบร้อย เมื่อข้าวสุกจึงค่อยใส่ใบเตยลงไปในหม้อและทิ้งไว้ระหว่างที่รอให้ข้าวระอุประมาณ 5-15 นาที วิธีนี้จะทำให้ได้กลิ่นหอมจากใบเตยได้เต็มที่มากกว่าการใส่ลงไปตั้งแต่ตอนหุงข้าวค่ะ
8 . การทำความสะอาดหม้อช่วยแก้ข้าวบูดไว

หลายบ้านอาจเคยเจอปัญหาข้าวบูดคาหม้อ ที่ไม่ว่าจะจับหม้อหุงข้าวใบนั้นมาล้างแค่ไหนก็ยังชอบทำให้ข้าวที่หุงออกมาบูดเร็วเสมอ นั่นก็เพราะว่าหม้อใบนั้นยังคงมีเชื้อแบคทีเรียตกค้างอยู่ และสิ่งที่สามารถช่วยกำจัดแบคทีเรียเหล่านี้ได้ดีก็คือการใช้ความร้อนที่มากกว่าปกติอย่างการล้างและนำไปตากแดดสัก 4-5 ชั่วโมง ส่วนอีกวิธีก็คือต้มน้ำพร้อมกับผสมเกลือหรือน้ำส้มสายชูลงไปในหม้อเปล่าและกดหุงจนเดือดโดยไม่ต้องใส่ข้าวสาร อัตราส่วนเกลือที่ใช้ผสมกับน้ำ 1 ถ้วยตวง เพื่อต้มล้างหม้อนั้นก็จะประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ แต่ถ้าเป็นน้ำส้มสายชูก็จะใช้ครึ่งถ้วยตวงค่ะ
Story : Kamonchanok.L
ทำอย่างไรให้มอดออกจากถังข้าวสาร ไล่มอด อย่างไรให้เห็นผล