ไตรโคเดอร์มา เชื้อรากำจัดโรคพืช กับ 10 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเริ่มใช้งาน

หากจะปลูกพืชผักไว้รับประทานเองในครัวเรือน หรือ จะปลูกเพื่อจำหน่ายไว้สร้างรายได้ ก็มักจะประสบปัญหาอย่างเดียวกัน คือ ปัญหาโรคพืชเข้าทำลาย โดย เฉพาะกับเชื้อราที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งหนึ่งในสารชีวภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืชเหล่านี้ ได้เป็นอย่างดี “ไตรโคเดอร์มา”

ปัจจุบัน ไตรโคเดอร์มา นับว่าเป็นสารกำจัดโรคพืชที่เป็นที่นิยม โดย เฉพาะในกลุ่มคนที่ทำเกษตรแบบออร์แกนิก เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และ ตัวเกษตรกรผู้ใช้งานด้วย แต่ก่อนจะเริ่มใช้งานสารชีวภัณฑ์ดังกล่าวนี้ อย่างน้อยอยากให้ทำความเข้าใจกันก่อน เพราะ ไตรโคเดอร์มาเอง ถึงแม้จะมีประโยชน์อย่างน่าเหลือเชื่อ แต่ถ้าหากใช้งานผิดวิธี ก็ทำให้สิ่งที่ได้ไม่เป็นไปตามที่หวัง

ไตรโคเดอร์มา

ไตรโคเดอร์มา คืออะไร

ไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่ใช้สำหรับควบคุมโรคพืชต่างๆ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichoderma asperellum โดย ไตรโคเดอร์มานั้นสามารถทำลาย โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราได้ อย่างเช่น โรคราน้ำค้าง (Downy Mildew) โรคราแป้ง (Powdery Mildew) โรครากเน่า (Root rot) โรคราสนิม (Rust) เป็นต้น

ไตรโคเดอร์มา

ไตรโคเดอร์มาสามารถกำจัดเชื้อราโรคพืชได้อย่างไร?

ไตรโคเดอร์มาเป็นปรสิต ที่คอยเบียดเบียนเชื้อราโรคพืช โดย มีความสามารถในการขยายตัวที่รวดเร็ว และ เมื่อไตรโคเดอร์มาสัมผัส กับ เส้นใยของโรคพืช จะเริ่มจากทำการแทงรากเข้าไปในเส้นใยของโรคพืช และ ปล่อยเอนไซม์ เพื่อเข้าทำลาย รวมถึงดูดกินสารอาหาร ภายในตัวของโรคพืชจนหมด แล้วนำสารอาหารที่ได้นั้น มาสร้างเป็นสปอร์เพื่อขยายตัวต่อไป

ไตรโคเดอร์มา

ไตรโคเดอร์มาชักนำให้พืชต้านทานโรคได้

นอกจากควบคุมโรคพืชแล้ว ผลการทดลองพบว่า ไตรโคเดอร์มาสามารถชักนำให้พืชต้านทานโรคได้ โดย การทดลองนั้นได้แบ่งรากของพืชออกเป็น 2 ส่วน โดย ให้ฝั่งหนึ่งใส่โรคพืชอย่างเดียว และ อีกฝั่งหนึ่งมีสปอร์ หรือ สารกรองของไตรโคเดอร์มา กับ โรคพืช พบว่า ฝั่งที่มีไตรโคเดอร์มาไม่เกิดความเสียหาย ส่วนอีกฝั่งหนึ่งที่ใส่เพียงน้ำธรรมดา ปรากฏว่า รากของพืช เกิดความเสียหายอย่างมาก

ไตรโคเดอร์มาไม่ชอบแสงแดด และ ความร้อน

เพราะแสงแดด และ ความร้อนจะทำให้ให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง เนื่องจาก เชื้อไตรโคเดอร์มาตาย และ ลดจำนวนลงนั่นเอง ดังนั้น วิธีการใช้ไตรโคเดอร์มาที่ดีที่สุด คือ ฉีดพ่นช่วงเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม กับ การเจริญเติบโตของเชื้อไตรโคเดอร์มามากที่สุด

เห็ดไม่ชอบไตรโคเดอร์มา

เนื่องจากเห็ดเป็นเชื้อราชั้นสูง ซึ่งหมายความว่า เห็ดก็คือเชื้อราชนิดหนึ่งที่สามารถรับประทานได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เห็ดได้สัมผัส กับ เชื้อไตรโคเดอร์มา ก็จะทำให้เห็ดตายได้เช่นกัน เพราะ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าไตรโคเดอร์มา มีความสามารถในการเข้าทำลายเชื้อราโรคพืช ซึ่งรวมถึงเชื้อราชนิดดีด้วยเช่นกัน

ไตรโคเดอร์มา ไม่เป็นอันตรายต่อแมลง มนุษย์ และ สัตว์เลี้ยง

พฤติกรรมการดำรงชีวิตของไตรโคเดอร์มาจะอาศัยอยู่ในดิน คอยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ และ เชื้อราอื่นๆ เพื่อใช้เป็นอาหารในการดำรงชีวิต ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ไตรโคเดอร์มาไม่เป็นอันตรายต่อแมลง มนุษย์ และ สัตว์เลี้ยง แต่อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานนั้น แนะนำว่าก็ยังคงต้องใส่ถุงมือ แว่นตา และ หน้ากาก เพื่อป้องกันสปอร์ของไตรโคเดอร์มาด้วย

ไตรโคเดอร์

มีเพียงข้าวสาร และ หัวเชื้อ ก็สามารถทำเชื้อสดไตรโคเดอร์มาได้แล้ว

ในการขยายเชื้อสดไตรโคเดอร์มา จะใช้หัวเชื้อที่ใช้สำหรับขยายเชื้อสดโดยเฉพาะ โดย เริ่มจากหุงข้าวอัตราส่วน ข้าว 3 ส่วน ต่อ น้ำ 2 ส่วน หุงจนข้าวสุก ข้าวที่ได้จะเป็นแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ เพื่อไม่ให้ตอนขยายเชื้อ ข้าวอุ้มน้ำมากจนเกินไป จากนั้นตักข้าว 250 กรัม ใส่ในถุงร้อน พักไว้จนเกือบเย็น เหยาะหัวเชื้อลงไปประมาณ 1 กรัม เขย่าให้เข้ากัน มัดถุงด้วยหนังยาง เจาะรูด้วยเข็ม และ ตั้งทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เชื้อไตรโคเดอร์มาจะกระจายทั่วทั้งข้าว จนเห็นเป็นสีเขียวทั้งหมด เท่านี้ก็สามารถใช้งานเชื้อสดไตรโคเดอร์มาได้แล้ว

ไตรโคเดอร์มา

ขยายเชื้อสดไตรโคเดอร์มา ด้วยตัวเองอย่างไม่จำกัด

จากวิธีการใช้หัวเชื้อมาขยายจะทำให้เราได้เชื้อสดไตรโคเดอร์มาใช้งาน แต่อย่าเผลอใช้จนหมด เพราะเชื้อสดไตรโคเดอร์มาสามารถนำมาใช้แทนหัวเชื้อที่ซื้อมาได้ โดย วิธีการทำจะเหมือนกับการขยายเชื้อสดตามปกติเลย แต่เพียงเปลี่ยนจากหัวเชื้อเป็นเชื้อสด โดย ใช้เชื้อสดปริมาณ 20 กรัม หรือ 2 ช้อนโต๊ะแทน เท่านี้เราก็จะมีเชื้อสดไตรโคเดอร์มาได้อย่างไม่จำกัด

ไตรโคเดอร์มา

วิธีใช้ ไตรโคเดอร์มา

สามารถใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่ นำเชื้อสดมากรองให้เหลือแต่น้ำสปอร์เพื่อนำไปฉีดพ่น โดย ใช้อัตราส่วนเชื้อสด 250 กรัม ต่อ น้ำสะอาด 50 ลิตร ฉีดพ่นช่วงเช้า และ ช่วงเย็น นอกจากนี้ก็มี การนำเมล็ดพืชมาคลุกเคล้าเข้ากับเชื้อสดไตรโคเดอร์มา ซึ่งจะช่วยให้พืชที่งอกสามารถต้านทานโรคเน่าคอดินได้ ซึ่งเป็นโรคพืชที่เกิดขึ้นกับต้นกล้าบ่อยครั้ง โดย วิธีการใช้ให้นำเมล็ดพืช 1 กิโลกรัม มาคลุกเคล้ากับเชื้อสดไตรโคเดอร์มา 10 กรัม หรือ 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นจึงค่อยนำไปเพาะเมล็ดได้

ไตรโคเดอร์มา

ไม่ควรใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา กับ สารกำจัดเชื้อราโรคพืช

หากนำมาใช้ด้วยกันเพื่อคาดหวังว่าจะได้ผลที่ดีขึ้น ผลที่ได้อาจไม่เป็นอย่างที่หวัง เพราะ อย่าลืมนะว่า ไตรโคเดอร์มานั้นก็เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งสารกำจัดเชื้อราโรคพืชนั้น ไม่สามารถเลือกได้ว่าให้ทำลาย เฉพาะเชื้อราโรคพืชเท่านั้น ทำให้เวลาใช้สารกำจัดโรคพืชจะทำลายทั้งเชื้อราที่ดี และ ไม่ดี ซึ่งรวมถึงเชื้อไตรโคเดอร์มาด้วยเช่นกัน

มาสวมบท “หมอพืช” ตรวจสุขภาพผัก และ ทำความรู้จัก“โรคพืช”

รู้ทันโรคพืช และ เทคนิคดูแลสุขภาพต้นไม้ด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ