เปลี่ยนโฉม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สู่ลุคโมเดิร์นขาวคลีน

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โฉมใหม่ ที่เปลี่ยนคราบขนบอาคารราชการยุคเก่าทิ้งไป สู่สถาปัตยกรรมลุคโมเดิร์นเรียบง่ายทันสมัย ดึงดูดใจให้ผู้คนทั่วไปทุกระดับชั้น สามารถเข้ามาหาความรู้มากขึ้น

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Supermachine Studio

อาคาร ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดใช้ทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 โดยตั้งใจให้เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลทางด้านมานุษยวิทยาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมทั้งการรวบรวม จัดระบบ เผยแพร่ และสนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างความรู้ใหม่ทางด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ความรู้ท้องถิ่นของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นที่ปรึกษาและให้การอุปถัมภ์จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

จากประวัติอาคารตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ด้วยสภาพตัวอาคารที่ค่อนข้างเก่า อีกทั้งยังมีความเป็นทางการ ตามแบบประเพณีนิยมการออกแบบอาคารราชการทั่วไป ที่มักมีรายละเอียดเด่น ๆ อย่างหลังคาทรงจั่ว บันไดทางขึ้นที่สูงชัน เสาโรมันขนาดใหญ่ พื้นทรายล้าง หลังคาแบบยื่นยาว รวมถึง Drop-off ขนาดใหญ่ และฯลฯ มาวันนี้ด้วยวิสัยทัศน์ของนายแพทย์ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ท่านต้องการเปลี่ยนบรรยากาศและภาพลักษณ์ของศูนย์มานุษยวิทยาฯ ใหม่ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยมอบให้สถาปนิก Supermachine Studio เป็นผู้ออกแบบ โดยเน้นแนวคิดที่คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นสำคัญ และมีความน่าดึงดูดใจ ให้ผู้คนทั่วไปทุกระดับชั้น สามารถเข้ามาหาความรู้มากขึ้น

การเปลี่ยนโฉมครั้งนี้ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.คาเฟ่และห้องสมุดชุมชน ณ อาคารสุข กาย ใจ 2.พื้นที่สวน และ 3. อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (เฟส1) สำหรับห้องสมุดกึ่งคาเฟ่ เป็นการออกแบบตกแต่งใหม่ เพื่อให้มีบรรยากาศที่เรียบร้อย และใช้งานได้สะดวกไหลลื่นมากขึ้น ก่อนพาทุกคนเดินต่อเนื่องมายังส่วนของพื้นที่สวน ซึ่งเป็นการออกแบบแลนด์สเคปโดย URBANIS Landscape Architecture & Master Planning ที่ขอเปลี่ยนภาพจำสวนสาธารณะในพื้นที่ราชการทิ้งไป โดยเน้นการใช้งานของผู้คนเป็นหลัก ภายใต้แนวคิดที่ต้องการสื่อถึงความหลากหลายของวิถีวัฒนธรรม และนิเวศวิทยาในเขตเมือง เน้นปลูกพรรณไม้ไทยและสมุนไพรเป็นสเต็ปลดหลั่นกันลงมายังพื้นที่ลานวงรีด้านล่าง ที่ปลูกไม้ยืนต้นเรียงรายอยู่ภายในลานวงรี มีแรงบันดาลใจมาจากสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากสวนสามารถเดินเข้าสู่พื้นที่ฮอลล์ภายในอาคารศูนย์มานุษยวิทยาฯ ได้เลย ซึ่งมีส่วนต้อนรับ พื้นที่นิทรรศการบริเวณโถงทางเดิน นิทรรศการหมุนเวียน ดูทันสมัยเรียบง่าย ตัวอาคารเด่นด้วยฟาซาดสีขาวสไตล์โมเดิร์นดูสะอาดตา โดยยังคงหลงเหลืออัตลักษณ์ของอาคารเดิมอย่างหลังคาทรงจั่วไว้ มุมด้านข้างติดตราประจำพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสัญลักษณ์อักษรย่อ ศมส สีขาว

“การออกแบบครั้งนี้ คล้ายเรากำลังแต่งตัวใหม่ให้อาคารจั่วมีความโมเดิร์นขึ้น สะอาดขึ้น จากแต่ก่อนเราต้องเข้าอาคารจากชั้นสอง ต้องเดินขึ้นบันไดสูง ๆ แต่ตอนนี้เราทำให้เดินได้จากชั้นหนึ่ง จากสวนก็เข้าอาคารได้เลย เป็นการออกแบบที่ทำให้คนเข้าถึงสถานที่ได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เห็นนี้เป็นแค่เฟสแรกเท่านั้น อนาคตอาจมีโครงการรีโนเวตส่วนที่เป็นโซนนิทรรศการถาวร และนิทรรศการหมุนเวียนเพิ่มเติม” คุณปิตุพงษ์ เชาวกุล สถาปนิกผู้ออกแบบเล่ารายละเอียด

เปลือกอาคารสีขาวทำจากอะลูมิเนียมคอมโพสิต วัสดุหาง่ายทั่วไปในงานก่อสร้าง “เราอยากให้อาคารมีเท็กซ์เจอร์มากกว่าเป็นฟอร์มเรียบ ๆ แมสอาคารที่เยื้องกันไปเยื้องกันมา และแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิตที่พับไปมาเป็นเส้นหยัก ช่วยให้เปลือกอาคารมีความน่าสนใจด้านเท็กซ์เจอร์ และลูกเล่นของแสงเงา อีกสิ่งที่คำนึงถึงคือสภาพอากาศฝุ่น ฝน และมลภาวะ ฝุ่นและมลภาวะมีส่วนทำให้อาคารสีขาวเป็นคราบได้ง่าย ดังนั้นการทำจากแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิตเช่นนี้ จะช่วยให้น้ำฝนและฝุ่นไหลลงมาตามร่องมายังพื้นอิฐด้านล่าง ซึ่งตอนนี้มันก็เริ่มจะมีพวกคราบฝุ่น คราบจากน้ำฝนเกาะบ้างแล้ว แต่เรารู้สึกว่าอย่างนี้มันก็เป็นธรรมชาติดี เราต้องการให้อาคารสามารถแก่ แต่ก็แก่ไปอย่างที่มันยังมีความสวยงามอยู่”

“ลักษณะของธีมเราอยากให้มันดูน้อย ๆ แต่ supermachine เราก็ไม่ได้ทำงานมินิมัลอยู่แล้ว น้อยของเราก็คือเยอะของคนอื่น มันก็จะเป็นสีขาวทั้งหมด ส่วนพื้นเป็นวัสดุธรรมชาติจากอิฐเท่านั้นเอง อาคารนี้เป็นเหมือนกล่องเปล่า ๆ มันจะเป็นเหมือนแพลตฟอร์มที่จะแสดงเรื่องราวความหลากหลาย ธีมที่ออกแบบแทบจะเป็นกลางมาก ๆ เป็นเหมือนสเปซที่ตอบโจทย์ด้านความหลากหลายอย่างแท้จริง ตามจุดประสงค์ของผู้บริหารที่อยากทำให้หัวข้อความน่าสนใจเกี่ยวกับความซับซ้อนของมนุษย์ คนทั่วไปทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงและอยากเข้ามาเรียนรู้” คุณปิตุพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่ตั้ง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 20 ถนนบรมราชชนนี แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่ง กรุงเทพฯ
พิกัด https://goo.gl/maps/4AdthEmoRtxsfEwn8
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เปิดวันจันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น. วันเสาร์ 9.00-16.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)
ห้องสมุดสุข กาย ใจ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ 8.00-18.00 น. วันเสาร์ 8.00-17.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)
โทร. 0-2880-9429
http://www.sac.or.th

ออกแบบ-ตกแต่ง : Supermachine studio
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : URBANIS Landscape Architecture & Master Planning
ภาพ : W Workspace
เรื่อง : Phattaraphon