“จับมือ จัดเมือง” ISCI: Better City Collaboration

มาดูวิธีทำเมืองให้น่าอยู่ขึ้นในนิทรรศการ “ จับมือ จัดเมือง ” ISCI: Better City Collaboration กับ 10 หัวข้อที่จะสร้างความหวังและเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนเมือง

จับมือ จัดเมือง

โดยสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ (ISCI) นำเสนอพลังแห่งความร่วมมือจากหน่วยงาน ภาครัฐ และภาคเอกชนกว่า 20 แห่ง เพื่อสร้างชุมชนเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเสริมความเข้มแข็งด้านความสร้างสรรค์และสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม .นิทรรศการ “ จับมือ จัดเมือง ” จัดอยู่ในโซน “BETTER COMMUNITY” ที่บอกเล่าเรื่องราวว่าเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจะมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้อย่างไร และในทางกลับกัน ชุมชนนี้จะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้เราได้อย่างไร

พบกันนิทรรศการ “จับมือ จัดเมือง” ชั้น G ฮอลล์ 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2022 : สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า

จับมือ จัดเมือง
ภายนอกห้องนิทรรศการ มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเมือง ด้วยการแปะสติ๊กเกอร์ Yes – No
จับมือ จัดเมือง
จับมือ จัดเมือง

ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล
Data-driven Urbanism

กรุงเทพมีลักษณะเป็น “เอกนคร” หรือ “เมืองโตเดี่ยว” คือ การเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีขนาดของประชากรมากกว่าเมือนอันดับรองอย่างมาก และมีสัดส่วนของเศรษฐกิจร้อยละ 36.3 ของจีดีพีทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นหมุดหมายของการเดินทางท่องเที่ยวและเวิร์กเคชั่น แต่กรุงเทพเป็นเมืองที่เหมาะกับการอยู่อาศัยจริงหรือ
การออกแบบและฟื้นฟูเมืองทำได้ด้วยการแปลงข้อมูลเชิงพื้นที่เป็นภาพที่เห็นได้ชัด นิทรรศการจึงนำเสนอการอ่านเมืองและทำความเข้าใจเมืองด้วย “ข้อมูลสามมิติ” ที่เล่าเรื่องพฤติกรรมการเคลื่อนที่-ความหนาแน่นของชุมชนเมือง และการเข้าถึงบริการเพื่อสาธารณะ (Public facility) ในรูปแบบ เทคโนโลยีฉายภาพลงบนวัตถุ
หรือ Projection mapping
เครือข่ายข้อมูล: ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ Urban Design and Development Center (UddC)


จับมือ จัดเมือง
จับมือ จัดเมือง
จับมือ จัดเมือง

ศิลปะ สีสันจากขยะเมือง
Art for Community

นิทรรศการจัดแสดงงานศิลปะบนฝาผนังจากขยะเมืองที่สะท้อนพฤติกรรม-สภาวะความเป็นอยู่ของคนในเขตเมือง สู่การสร้างงานที่มีคุณค่าและการคงสภาพยาวนานแทนการเลือกทิ้ง อาทิ การทำลวดลายกระหนกใบเทศ พุ่มข้าวบิณฑ์ และดอกพุดตาล จากแนวคิดในช่วงรัชสมัย ร. 3 ที่นำเศษกระเบื้องแตกหักมาประกอบเป็นลวดลายประดับตกแต่ง

เครือข่ายข้อมูล: คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะ และ การออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)


จับมือ จัดเมือง
ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย และ Asitnahc – คุณแพรว ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล ศิลปิน Project Mapping
จับมือ จัดเมือง
จับมือ จัดเมือง
ภาพ Project Mapping ในวิหาร
“เป็นกิจกรรมที่เราจะส่งต่อคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไปสู่คนรุ่นใหม่ โดยเราเชิญศิลปินรุ่นใหม่มาร่วมกันศึกษาและตีความวัดภุมรินทร์ราชปักษีในแง่มุมต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามความเชี่ยวชาญของพวกเขา โดยในนิทรรศการฉบับย่อที่นำมาจัดแสดงที่งาน Sustainable Expo 2022 ครั้งนี้ ขอยกมาเฉพาะส่วนงาน “Project Mapping ชมพูทวีป” ซึ่งเป็นการตีความจิตกรรมฝาผนังโบราณมาสู่รูปแบบใหม่”

ปลุกย่านเก่า เล่าเรื่องแบบใหม่
Old Town unfolds

เมื่อศูนย์กลางของเมืองเปลี่ยน อาคารเก่า วัดร้าง และย่านโบราณกำลังจะถูกลืม จึงต้องมีกระบวนการ
“สร้างการมองเห็น” เพื่อปลุกชีวิตพื้นที่เก่าด้วยการสื่อสารในรูปแบบที่เข้าถึงได้และดึงดูดความสนใจคนในวงกว้างมากขึ้น นิทรรศการคัดเลือกกระบวนการสื่อสารเรื่องย่านเก่าผ่าน gamification, projection mapping, และ city soundscape
เครือข่ายข้อมูล: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร & ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง (Urban Ally)


จับมือ จัดเมือง
จับมือ จัดเมือง

ออกแบบป้ายให้หายหลง
Good design, smooth public rides

ป้ายบอกทางเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่สร้างความเชื่อมั่นว่า การขนส่งมวลชนนี้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้รถเมย์กลับมาเป็นทางเลือกแรกในการเดินทางได้อีกครั้ง Mayday หรือกลุ่มนักสร้างสรรค์ป้ายบอกทางที่เปลี่ยนชีวิตคนสัญจรสาธารณะไปในทางที่ดีขึ้น ได้รวบรวมวิศวกร นักผังเมือง กราฟิกดีไซเนอร์ และนักเขียน เพื่อออกแบบทั้งวิชชวล และการออกแบบประสบการณ์
นิทรรศการจึงชวนมาถอดรหัสความสำเร็จของดีไซน์เพื่อสาธารณะประโยชน์ ตั้งแต่โครงสร้างและรูปแบบการให้ข้อมูลบนป้ายรถเมย์ การวางเส้นทางการเดินรถ การทำโครงข่ายการเดินทาง ดัชนีที่ระบุเฉพาะจุดสำคัญ และการใช้สัญลักษณ์ รวมไปถึงการออกแบบที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์เมือง และพฤติกรรมการใช้งานของชุมชน ทั้งในกรุงเทพ ขอนแก่น เชียงใหม่ และปทุมธานี
เครือข่ายข้อมูล: MAYDAY


จับมือ จัดเมือง
จับมือ จัดเมือง
จับมือ จัดเมือง

พื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็ก
Privately-owned public Pocket Park

เมืองมีความหนาแน่นทั้งทางกายภาพ และจำนวนประชากร จึงต้องพัฒนาระบบโครงสร้างต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมทั้งคุณภาพชีวิตและเกิดระบบนิเวศเมืองที่เป็นมิตรกับทุกคน
welpark ที่ย่อมาจาก we create park เกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้สนใจการพัฒนาเมืองที่เล็งเห็นโอกาส จากพื้นที่ว่างภายในเมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว เช่น พื้นที่ว่างรกร้าง พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่เศษเหลือจากการพัฒนา ฯลฯ ประกอบกับโอกาสจากการกำหนดอัตราภาษีที่ดินใหม่ที่เรียกเก็บภาษีในอัตราถึงร้อยละ 0.3 ในพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทุก 3 ปี ที่ได้เริ่มบังคับใช้ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563
จากโอกาสข้างต้นนำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ด้วยกระบวนการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยได้รับทุนและการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็ก (Pocket Park) ที่มีขนาดพื้นที่ระหว่าง 80 – 3,200 ตร.ม. (ไม่เกิน 2 ไร่) ที่เพิ่มการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวใน ระยะ 400 เมตร หรือในระยะเวลา 5-10 นาทีได้อย่างทั่วถึง
เครือข่ายข้อมูล: we!park / Shma / TALA


กลุ่ม Hear&Found ชวนมาฟังเสียงที่สร้างสรรค์จากเสียงธรรมชาติ และเสียงบรรยากาศป่าชุมชนจากจังหวัดต่างๆ โดยเสียงเหล่านี้คือ เสียงจากบ้านของชาวปกาเกอะญอ ชาวลาหู่(มูเซอ) ชาวกะเหรี่ยงโผล่ว์ และชาวนาบี

ต้นไม้ (เรื่อง) ใหญ่ของคนเมือง
Trees Network

การคุ้มครองต้นไม้ใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมกับการพัฒนาเมืองอย่างถูกต้องและเข้าใจ นิทรรศการจึงเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมลงทะเบียนต้นไม้ เพื่อช่วยติดตามและคุ้มครองความเป็นอยู่ของไม้ใหญ่ในเมือง พร้อมรวบรวมภาพ “เรือนยอด” ของต้นไม้ใหญ่ เสียงดนตรีจากธรรมชาติ และเสียงของเครือข่ายคนอาสาดูแลต้นไม้จากหลากหลายวัฒนธรรม
กลุ่มผู้ดูแลต้นไม้ – กลุ่ม บิ๊กทรี เกิดจากการรวมตัวกันของคนที่มีอาชีพแตกต่างกัน แต่มีอุดมการณ์ร่วมกันในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า สร้างเครือข่ายคนอาสาและผู้สนับสนุน ระหว่างชุมชน ภาครัฐ เอกชน และผู้สร้างการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อปลูกความเข้าใจให้ผู้คนในการมีส่วนร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน
เครือข่ายข้อมูล: Big Trees x Hear & Found


“ฝุ่นเมือง” เรียนรู้และอยู่ร่วม
Know your PM & Urban Air Quality

ฝุ่นไม่ได้มีเพียง PM2.5 แต่ยังมีละอองรูปแบบอื่น ซึ่งมีขนาดเล็กระดับนาโนไซส์ เรียกว่า Particulate matter หรือ Fine particle เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการสะสม อาจส่งผลกระทบต่อเฮโมโกบิน และภาวะหัวใจขาดเลือด ฝุ่นมีความสามารถในการจับตัวรวมกับละอองชนิดอื่น หรือแม้กระทั่งไอน้ำ จนเกิดเป็นฝุ่นที่มีรูปร่างและคุณลักษณะใหม่ ลอยอยู่สูงแตกต่างกัน และมีค่าสูงต่ำต่างกันในแต่ละฤดูกาลและช่วงเวลา
ฝุ่นเมืองจะลดลงและอากาศดีขึ้นได้หากเข้าใจพฤติกรรมของฝุ่นละออง (PM: Particulate matters) นิทรรศการนำเสนอฝุ่นที่มีหลายหน้าตาและไม่ได้มาจากปรากฎการณ์เดียวผ่านการสร้างภาพโฮโลแกรม พร้อมชวนสังเกตว่าพื้นที่สีเขียวมีส่วนช่วยลดฝุ่นได้ขนาดไหนผ่านการแสดงผลการเคลื่อนที่ของคาร์บอนไดออกไซด์จาก KU Moblie เพื่ออ่านค่าปริมาณการปลดปล่อย CO2 ในเขตเมืองและการดึง CO2 กลับของต้นไม้
เครือข่ายข้อมูล: คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


เปลี่ยนดาดฟ้าเป็นพื้นที่สีเขียว
Urban Rooftop Farming

เมื่อพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เพาะปลูกแนวราบในเมืองลดลง สวนทางกับจำนวนผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นปัญหาของคนอยู่อาศัย Bangkok Rooftop Farming จึงจำลองการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแนวสูงด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่บนดาดฟ้า นอกจากร่มเงา และอากาศที่สดชื่น พื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้ายังเป็น “ฟาร์มในเมือง” ที่แสดงนิเวศการดูแลพืชพันธุ์บนที่สูงและช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ช่วยแก้ไขปัญหาเศษอาหารด้วยการแปลงเป็นปุ๋ยต้นไม้สู่การเป็นแหล่งอาหารคุณภาพของชุมชนเมือง
Bangkok Rooftop Farming เครือข่ายหมุนเวียนเปลี่ยนเมือง และสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงรวมตัวกันเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ให้คนกรุงเทพ ได้มีทางเลือกที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากพื้นที่จำกัด และมีโอกาสเปลี่ยนส่วนหนึ่งของขยะเศษอาหารคนเมืองที่มีมากถึง 55% ของขยะทั้งหมด 9,000 กิโลกรัมต่อวัน มาเป็นการใช้พื้นที่ว่างขนาดเล็ก ปลูกผักอินทรีย์ไว้กินเอง และสามารถต่อยอดสร้างธุรกิจขนาดเล็กในเมืองได้
เครือข่ายข้อมูล: Bangkok Rooftop Farming


อัตลักษณ์ชุมชนสู่การส่งต่อเมือง
Community Onwards

ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมในอดีตอาจรอวันเสื่อมค่า หากปราศจากคนในชุมชนมาต่อยอด นิทรรศการนี้ได้สะท้อนแนวทางการพัฒนาชุมชนจาก Creative District Network : TCDN และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ที่จะพาไปสำรวจวิธีปลุกพื้นที่และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนผ่านเทศกาลและกิจกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ Pattani Decoded, Creative Nakorn, Sakol Junction และ Korat Crafting Lab เมื่อ “ความเป็นตัวตนของท้องถิ่น” ถูกสื่อสารผ่านกิจกรรมทำให้มองเห็นความเข้มแข็งของชุมชนและรูปแบบการส่งต่อคุณค่าเมืองแก่คนรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม
เครือข่ายข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)


พัฒนาเมืองจากส่วนร่วมของชุมชน
A home of local participation

Lamphun Circular Model โมเดลการพัฒนาเมืองที่ผสานวัฒนธรรม เทคโนโลยี การออกแบบ และความร่วมมือของคนในชุมชนอย่างกลมกล่อมและลงตัว ลำพูนเป็นอีกเมืองหนึ่งที่พยายามปรับตัวใหทันกระแสการเปลี่ยนแปลง โดยตั้งโจทย์ไปที่ 3 องค์ประกอบหลัก คือ วัฒนธรรม ชุมชน และกระบวนการหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ครบวงจร และตอบคำถามได้ว่า
“หากต้องการพัฒนาเมืองด้วยกระบวนการหมุนเวียน ใครจะเป็นคนทำ ทำแล้วจะเอาไปใช้อย่างไร และคนทำจะได้ประโยชน์อะไร”
กุศโลบายของวัดพระธาตุหริกุญชัยฯ ที่จัดงานเทศกาลโคมแสนดวง ร่วมกับเทศบาลเมืองลำพูน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนจากการประดิษฐ์โคมขาย ได้รับการต่อยอดจากกลุ่มนักพัฒนาเมือง Lamphun City Lab ที่กระตุ้นให้คน “เก็บกลับ-รีไซเคิล” โดยนำขยะมารีไซเคิลกับส่วนกลาง และนำมาผลิตผ้าทอจากเส้นใยพลาสติก (PET) ให้คนในชุมชนนำไปผลิตโคมถวายพระในเทศกาลนี้ รวมถึงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ
เครือข่ายข้อมูล: Lamphun City Lab


เรื่อง ศรายุทธ

ภาพ สิทธิศักดิื น้ำคำ, เอกสารประชาสัมพันธ์

จัดทำนิทรรศการโดย บ้านและสวน -Amarin Group.


SUSTAINABILITY EXPO 2022 “สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า”

Wall Art ‘ศิลปะ สีสันจากขยะเมือง’

ติดตามบ้านและสวน