บ้านไทยพื้นถิ่น ภาพสะท้อนวิถีชีวิตผ่านลายเส้นของ ศ.เกียรติคุณ อรศิริ ปาณินท์

ภาพลายเส้นและภาพสีน้ำบ้านไทยพื้นถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ถ่ายทอดวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนต่างๆ ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อรศิริ ปาณินท์ สถาปนิกและนักวิชาการที่จดบันทึกด้วยการวาดภาพในสมุดคู่ใจยามลงภาคสนาม เป็นส่วนหนึ่งในผลงานวิจัยด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ที่ท่านทุ่มเทศึกษามาตลอด 40 ปี ถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ แรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ และคนรุ่นใหม่มากมาย กระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) ประจำปี 2564 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งนับเป็นปีแรกที่มีสาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และ บ้านและสวน ขอแสดงความยินดีมา ณ โอกาสนี้

การลงพื้นที่ศึกษาชุมชนพื้นถิ่นไทย-มอญ บ้านเขาทอง นครสวรรค์

การมีรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) เกิดขึ้นเป็นปีแรก อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

อาจารย์ดีใจกับลูกศิษย์มาก เพราะมีลูกศิษย์นักศึกษาหลายคนที่ให้ความสนใจในสาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ตั้งแต่อาจารย์ลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านมาหลายสิบปี ในช่วงปีแรกต้องลุยเดี่ยว แต่ในภายหลังมีลูกศิษย์ตามไปช่วยวิจัยด้วยทุกปี และเปลี่ยนรุ่นไปทุกปี เพราะฉะนั้นงานวิจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่ประสบผลสำเร็จเลย หากขาดลูกศิษย์ที่ลงแรงไปช่วยวิจัยด้วยกัน แสดงให้เห็นว่ามีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เพียงแต่เรายังไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควร ทั้งที่จริงแล้วสาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในต่างประเทศนั้นค่อนข้างเป็นที่รู้จัก การได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติในปีนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าบ้านเราเริ่มให้ความสำคัญกับสาขานี้มากขึ้น ทำให้ผู้ที่สนใจรุ่นถัดไปมีพื้นที่ยืนอย่างเต็มตัว จึงนับเป็นเรื่องที่น่าดีใจ และยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นสาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมีแนวโน้มจะพัฒนาต่อไปให้ดีขึ้น

การลงพื้นที่ศึกษาเรือนพื้นถิ่นไทยเขิน เชียงตุง

นิยามของคำว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” คืออะไร

ความเป็นพื้นถิ่นสอดคล้องกันโดยตรงกับคำว่า “วิถีชีวิต” ดังนั้นที่อยู่อาศัยหรือตัวสถาปัตยกรรมเองจึงเกิดจากการสร้างเพื่อรองรับวิถีชีวิตส่วนตัวให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการเรียนรู้ และศึกษาต่อกันมาเป็นทอดๆ จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้ผ่านการออกแบบโดยสถาปนิกหรือผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด เกิดเป็นรูปแบบบ้านพื้นถิ่นซึ่งสอดคล้องกับบริบทสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นนั้นๆ  ซึ่งผู้อาศัยเองก็อยู่ได้อย่างสบาย และสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงได้
คนสมัยก่อนมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับเครื่องมือ เครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งชาวบ้านเองก็นำมาปรับปรุงและประยุกต์ใช้กับที่อยู่อาศัยด้วย เช่น การผูกเรือนโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น หรือแม้แต่ในปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดก็จัดเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างหนึ่ง เนื่องจากคนในชุมชนช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมาจากวัสดุที่หาได้ง่ายสำหรับเขาได้อย่างน่าสนใจ แม้จะเป็นวัสดุเหลือใช้ก็ตาม ผ่านการออกแบบ การแก้ปัญหา และลองผิดลองถูก เกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือที่เรานิยามกันว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมือง” (Urban Vernacular) อรศิริ ปาณินท์

อรศิริ ปาณินท์
อรศิริ ปาณินท์

วิถีชีวิตและความเชื่อ ส่งผลต่อบ้านพื้นถิ่นอย่างไรบ้าง

วิถีชีวิตมีผลต่อรูปแบบที่อยู่อาศัยอย่างมาก จากการลงพื้นที่พบว่าหมู่บ้านเป็นตัวอย่างน่าสนใจ ที่แสดงถึงความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้อย่างดี เนื่องจากความเป็นหมู่บ้านนั้นแสดงถึง “วิถีชีวิตแบบระบบเครือญาติ” ที่แน่นแฟ้น มีทั้งพ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย คนต่างวัยมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน และการอยู่แบบระบบเครือญาติ บ้านไทยพื้นถิ่นส่วนใหญ่จึงมีพื้นที่โถงกลางขนาดใหญ่และเปิดโล่ง เพื่อให้ลูกหลานสามารถอยู่อาศัยรวมกันได้ เดินไปมาหากันได้ง่าย มีเพียงแต่ห้องนอนส่วนตัวของผู้สูงอายุแยกออกมาเท่านั้น ความเป็นส่วนตัวจึงมีน้อยหากเทียบกับการอยู่อาศัยในปัจจุบัน  มีพื้นที่ระเบียงสำหรับนั่งเล่นภายนอก และพื้นที่ใต้ถุนเพื่อรองรับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
ในด้านความเชื่อเองก็มีผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอยู่มาก เช่น ชาวไทดำในเวียดนาม ที่อาศัยอยู่ในแถบเมืองแถง และเมืองลา ในบ้านของเขาจะมีห้องซึ่งถือศูนย์กลางของความเชื่อจัดวางไว้กลางบ้าน หรือชาวมอญ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเชื่อค่อนข้างแรงมาก บ้านของชาวมอญจึงตกแต่งไปด้วยสิ่งของสำคัญที่พวกเขาเคารพนับถือ
ได้ลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านทั้งในและต่างประเทศ มีโอกาสพบเจอคนไทยในต่างประเทศหลายแห่ง วิถีชีวิตคนไทยในต่างแดนอาจจะคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันบ้างตามสภาพแวดล้อมที่อยู่ ถ้าไม่ต่างกันมาก พบว่าบ้านเรือนจะออกมาค่อนข้างคล้ายกัน แต่ถ้าวิถีชีวิตหรือสภาพแวดล้อมต่างกัน รูปแบบของเรือนก็อาจจะมีความแตกต่างกันไป เช่น คนไทยที่เชียงรุ่งในสิบสองปันนา ตัวบ้านของเขาจะปิดทึบ ไม่เปิดโล่งเหมือนกับเรือนไทยทั่วไป เพราะด้วยสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างหนาว ซึ่งแสดงให้เห็นเลยว่าลักษณะวิถีชีวิตเป็นตัวบ่งบอกลักษณะสถาปัตยกรรมที่ออกมา

อรศิริ ปาณินท์
อรศิริ ปาณินท์

เมื่อสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมีการยึดโยงอยู่กับวิถีชีวิตและความเชื่อ การก้าวสู่สังคมสมัยใหม่จะทำให้ความเป็นพื้นถิ่นเลือนหายไปหรือไม่         

หากวิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงเลย ความเป็นพื้นถิ่นเดิมนั้นย่อมจางหายไป แม้วิถีชีวิตของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ความเป็นพื้นถิ่นจึงยังคงสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยได้  จริงอยู่ว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีวิถีชีวิตที่สันโดษมากขึ้น แยกครอบครัวมากขึ้น แต่เรายังมีความเป็นระบบเครือญาติกันให้เห็นอยู่บ้าง หรือแม้แต่สภาพอากาศในประเทศไทยเองก็ยังคงต้องพึ่งพาลักษณะความเป็นบ้านไทยพื้นถิ่นมาใช้ ดังนั้นเราจึงสามารถหยิบยกความเป็นพื้นถิ่นมาปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม และความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเองก็ไม่ได้เลือนหายไปแต่กลับกลายเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นใหม่ที่เกิดจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ของผู้อยู่อาศัยในบริบทนั้น ๆ

เราสามารถนำความเป็นพื้นถิ่นมาปรับใช้กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้อย่างไรบ้าง

ที่เราคุ้นเคยกันดีเลย คือ การออกแบบโดยคำนึงถึงลักษณะภูมิอากาศ เช่น การไหลเวียนของลม การยกพื้นใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมและเพิ่มพื้นที่ใช้สอย หรือการยื่นชายคายาวออกไปเพื่อป้องกันแสงแดด สิ่งเหล่านี้ยังคงนำมาใช้ได้ดีกับบ้านสมัยใหม่
บ้านของอาจารย์เองก็ออกแบบโดยหยิบยืมความเป็นพื้นถิ่นไทยมาใช้ โดยออกแบบบ้านให้มีพื้นที่ใต้ถุนสำหรับทำงานชั้นล่าง และพื้นที่นอนอยู่ชั้นบน ซึ่งชั้นล่างเป็นพื้นที่เปิดโล่งสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องใช้แอร์ เพราะลมสามารถไหลเวียนได้ดี สิ่งนี้เองก็สะท้อนวิถีชีวิตคนไทยในสมัยก่อนแต่ถูกนำมาปรับใช้กับบ้านสมัยใหม่
เมื่อวิถีชีวิตของเรายังมีความผูกพันอยู่กับผู้คนและเครือญาติ การหยิบยืมลักษณะของบ้านพื้นถิ่น อย่างเช่น โถง ชาน ระเบียง มาประยุกต์ใช้ จึงเกี่ยวโยงกับความต้องการมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ซึ่งมีให้เห็นกันเยอะในบ้านสมัยใหม่ หรือแม้แต่บ้านจัดสรรเอง ก็พยายามกลับมาหารูปแบบการอยู่อาศัยที่มีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหรือผู้อยู่อาศัยคนอื่น ๆ มากขึ้น คล้ายกับการอยู่อาศัยแบบพึ่งพาอาศัยกันในสมัยก่อน
ขอยกตัวอย่างงานที่น่าสนใจของลูกศิษย์ที่พยายามนำความเป็นพื้นถิ่นมาปรับใช้ โดยปกติแล้วลักษณะของบ้านไทยจะเป็นการวางตัวเรือนหรือตัวบ้านล้อมชาน เพื่อให้ชานกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลาง และทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่บ้านแต่ละหลังเข้าไว้ด้วยกัน แต่ลูกศิษย์คนนี้เขาได้ออกแบบให้เรือนล้อมน้ำแทนการล้อมชาน ซึ่งก็ออกมาน่าสนใจและน่าอยู่มาก แสดงให้เห็นว่าเราสามารถปรับใช้ได้ ตามความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย
ปัจจุบันเห็นว่าสถาปนิกรุ่นใหม่พยายามที่จะดึงความเป็นบ้านไทยพื้นถิ่นมาปรับใช้กับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยมากขึ้น ทั้งการพยายามใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น การหยิบยืมลักษณะรูปทรงของบ้านไทยมาประยุกต์ใช้ หรือดัดแปลงใหม่ให้เหมาะสมกับแบบบ้านในปัจจุบันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนั้นไม่ได้เลือนหายไป แต่ถูกพัฒนาและนำมาปรับให้เข้ากับบริบทสมัยใหม่ หรือสภาพแวดล้อมนั้นๆ มากกว่า เพราะแท้จริงแล้วสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนั้นไม่ได้หมายถึงตัวรูปทรงอาคารแต่อย่างใด แต่คือสถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก

อรศิริ ปาณินท์
อรศิริ ปาณินท์
อรศิริ ปาณินท์

ความเป็นไทยในมุมมองของอาจารย์คืออะไร

ความเป็นไทย คือ วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ คนไทยมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ค่อนข้างใกล้ชิดกว่า โดยสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาผ่านตัวสถาปัตยกรรมอย่างที่เราได้เห็นกัน และถูกพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ

อรศิริ ปาณินท์
อรศิริ ปาณินท์

เรื่อง : Nantagan

ภาพ : ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์

คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารบ้านและสวน กันยายน 2565


ยึดหยุ่นใน บ้านปูนโปร่งโล่ง กับชานเรือนใต้หลังคา

รวมบ้านสวย 4 ภาค ที่ออกแบบในสไตล์ไทยพื้นถิ่นร่วมสมัย

ติดตามบ้านและสวน