การใช้สารเคมีเพื่อป้องกันและ กำจัดปลวก ถูกใช้อย่างแพร่หลาย แต่ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) จึงได้ศึกษาและแนะนำวิธีป้องกันปลวกที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งการใช้สารเคมีและสารสกัดจากธรรมชาตินั้นอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อีกทั้งการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการกำจัดสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศองค์รวม ยังไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างแท้จริง การสร้างสุขภาวะที่ดีต้องทำเพื่อทุกสิ่งมีชีวิต ด้วยการเลือกใช้รูปแบบการป้องกันปลวกที่ไม่ก่อสารพิษ ทั้งต่อปลวก มนุษย์ สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ แต่ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับธรรมชาติและชนิดของปลวกดังนี้ กำจัดปลวก
มาทำความรู้จักปลวกกัน
ปลวก (Termite) คือ แมลงชนิดหนึ่ง อยู่ในอันดับ (Order) Blattoidea และอันดับย่อย (Infraorder) Isoptera แบ่งออกเป็น 7 วงศ์ (Families) มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 3,106 ชนิด ในประเทศไทยพบปลวกกว่า 310 สายพันธุ์ และประมาณ 10 สายพันธุ์ที่เป็นปลวกทำลายไม้ (จารุณี วงศ์ข้าหลวง, 2561)

หน้าที่ของปลวก
ประชากรปลวกมีการแบ่งแยกหน้าที่การทำงานเป็น 3 วรรณะ คือ
- วรรณะสืบพันธุ์ (Reproductives) ได้แก่ ราชา (King) และราชินี หรือนางพญา (Queen) ทำหน้าที่ผสมพันธุ์และวางไข่ และแมลงเม่า (Alates) มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ทำหน้าที่จับคู่และหาทำเลที่เหมาะสมเพื่อสร้างรังใหม่
- วรรณะกรรมกร หรือปลวกงาน (Workers) ไม่มีตา ไม่มีเพศ ใช้หนวดเป็นอวัยวะในการรับความรู้สึกและคลำทาง ทำหน้าที่หาอาหารให้กับประชากรปลวกทั้งรัง สร้างรัง ซ่อมแซมรัง ดูแลรักษาไข่ บางชนิดทำสวนเพาะเลี้ยงเห็ดและเชื้อรา
- วรรณะทหาร (Soldiers) ทำหน้าที่ต่อสู้และป้องกันศัตรูที่จะมาทำร้ายไข่และประชากรปลวกภายในรัง
อาหาร
อาหารของปลวก คือ เซลลูโลส (Cellulose) จากเส้นใยพืช (Plant Fiber) แหล่งอาหารของปลวก ได้แก่ ไม้แห้ง ไม้ชื้น ดิน ฮิวมัส ใบไม้ เศษซากพืชที่ทับถมอยู่บนพื้นดินและใต้ดิน ไลเคน มอส รวมถึงวัสดุอื่นๆ ที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบ โดยในระบบทางเดินอาหารของปลวกจะมีโปรโตซัว หรือ จุลินทรีย์ ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารประเภทเซลลูโลสเป็นพลังงาน ปลวกบางชนิดสามารถทำการเพาะเลี้ยงสวนเห็ด (Fungus Garden) ภายในรังเพื่อเป็นอาหาร (Fungus Growing Termite) เช่น ปลวกสกุล Macrotermes
ที่อยู่อาศัย
ประเภทของปลวก แบ่งตามแหล่งที่อยู่อาศัย ดังนี้

1.ปลวกไม้ (Wood Termites) ได้แก่ ปลวกไม้แห้ง (Drywood Termites) ปลวกไม้ชื้น (Dampwood Termites)

2.ปลวกดิน (Land Termites) ได้แก่ ปลวกใต้ดิน (Subterranean Termites) ปลวกตามจอมปลวก (Mound-building Termites) และปลวกตามรังขนาดเล็ก (Carton Nest Termites)
ชนิดของปลวก
ชนิดของปลวกที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่


- ปลวกใต้ดิน ที่สำคัญคือ Coptotermes gestroi และ Coptotermes havilandi ปลวกใต้ดินชนิด Coptotermes gestroi จัดเป็นปลวกชนิดที่มีความสำคัญทางเศรฐษกิจสูงที่สุดในประเทศร้อยละ 90 ของอาคารที่ถูกทำลายเกิดจากการเข้าทำลายของปลวกชนิดนี้ และกว่าร้อยละ 90 พบเข้าทำความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนที่อยู่ในเขตเมือง นอกจากนี้ ปลวก Odontotermes proformosanus และปลวกในสกุล Schedorhinotermes, Ancistrotermesและ Microtermes อาจพบเข้าทำความเสียหายต่อไม้ใช้ประโยชน์ ภายนอกอาคารหรืออาคารบ้านเรือนที่อยู่ในเขตชนบท
- ปลวกไม้แห้ง ที่สำคัญคือ Cryptotermes thailandis ส่วนใหญ่พบเข้าทำความเสียหายรุนแรงต่ออาคารบ้านเรือนที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกของประเทศ
- ปลวกสร้างรังขนาดเล็ก ที่สำคัญคือ Microcerotermes crassus และ Nasutitermes sp. พบเข้าทำความเสียหายต่อไม้ใช้ประโยชน์ภายนอกอาคารหรือในอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในเขตชนบท
- ปลวกสร้างรังขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือ Globitermes sulphureus, Macrotermes gilvus และ Odontotermes longignathus มักพบเข้าทำความเสียหายต่อไม้ภายนอกและไม้ในอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในเขตชนบท
แล้วปลวกสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร
ปลวกเป็นแมลงที่สำคัญมากในระบบนิเวศวิทยาป่าไม้ ประโยชน์ของปลวกที่สำคัญ ได้แก่
- ช่วยสลายอินทรียวัตถุต่างๆ ให้กลายสภาพเป็นฮิวมัส ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ต้นไม้ พืชพรรณ และป่าไม้เจริญเติบโตได้อย่างดี ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ
- เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ขนาดเล็ก สัตว์ปีก แมลง และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ เพราะปลวกอุดมไปด้วยโปรตีน ซึ่งจะกลายเป็นอาหารของสัตว์ใหญ่ในห่วงโซ่อาหารต่อไป
- เป็นแหล่งผลิตอาหาร ปลวกบางชนิดสามารถทำการเพาะเลี้ยงเห็ดโคน ซึ่งมีราคาสูง สามารถเป็นแหล่งเสริมรายได้ให้เกษตรกร
4 หลักการและวิธีการควบคุมปลวก
แม้ปลวกจะสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัย และความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจมาก ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมและการจัดการ (Termite Management) โดยมีหลักการและวิธีการควบคุมประชากรปลวกตามระดับความรุนแรง ประสิทธิภาพ และระดับการก่อให้เกิดสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้

(จัดหมวดหมู่ตามการควบคุมและการจัดการแมลงและสัตว์รบกวน (Pest Management)
ที่มา: https://www.ukenvironmentservices.co.uk/integrated-pest-management
- การควบคุมเชิงเขตกรรม (Cultural Control) คือ การปรับปรุงสภาพแวดล้อม เช่น การทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง การตรวจสอบและปรับสภาพดิน หรือการลดการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นอาหารของปลวกได้ เพื่อลดปัจจัยที่ดึงดูดให้ปลวกเข้ามาทำรัง ข้อดี คือ ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ไม่ทำอันตรายต่อปลวกและสิ่งมีชีวิตอื่น แต่มีข้อจำกัดทางด้านประสิทธิภาพในการควบคุมปลวก
- การควบคุมเชิงกายภาพ (Physical Control) คือ การควบคุมอาณาเขตของปลวก ด้วยการสร้างอุปสรรคกีดขวาง ทั้งด้วยการใช้เครื่องกลหรือไม่ใช้เครื่องกล เช่น การกั้นพื้นที่ด้วยน้ำ น้ำมัน ชั้นกรวดหิน การใช้วัสดุอุดรอยรั่วตามรอยต่ออาคารและช่องเปิด เช่น แผ่นพลาสติก แผ่นโลหะ ตะแกรงโลหะ การใช้คลื่นเสียงหรือการใช้ความร้อนเพื่อไล่ปลวกออกจากอาณาเขต และการใช้กับดักล่อ (โดยสามารถนำมาปล่อยภายหลังได้) เป็นต้น ข้อดี คือ ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม มีทั้งรูปแบบที่ทำอันตรายและไม่ทำอันตรายต่อปลวก และส่วนใหญ่ไม่ทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่น แต่มีข้อจำกัดทางด้านประสิทธิภาพในการควบคุมปลวก และบางรูปแบบอาจเป็นการรบกวนการใช้ชีวิตของปลวกและสิ่งมีชีวิตอื่น
- การควบคุมเชิงชีววิธี (Biological Control) คือ การควบคุมประชากรปลวกด้วยศัตรูตามธรรมชาติ ได้แก่ การใช้ผู้ล่าเหยื่อตามห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ เช่น ค้างคาว ชะมด พังพอน ไก่ นก (เหยี่ยว นกพิราบ นกกระจาบ) แมลง (มด เต่าทอง แมลงวัน) สัตว์เลื้อยคลาน (จิ้งจก ตุ๊กแก กบ งู) เป็นต้น รวมถึงการใช้ปรสิต จุลินทรีย์ ไส้เดือนฝอย และเชื้อรา ในการกำจัดปลวก ข้อดี คือ ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่มีข้อจำกัดทางด้านประสิทธิภาพในการควบคุมปลวก และเป็นอันตรายต่อปลวก ทั้งการกำจัด หรือการเปลี่ยนแปลงระบบทางด้านร่างกายและการสืบพันธุ์ของปลวก
- การควบคุมเชิงเคมี (Chemical Control) คือ การใช้สารเคมีหรือสารสังเคราะห์จากธรรมชาติฉีดพ่น หรือวางเหยื่อล่อ เพื่อฆ่า ขัดขวางพัฒนาการของวงจรชีวิต หรือเพื่อยับยั้งการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีทารุณกรรม จึงควรเลือกเป็นทางสุดท้าย และควรพิจารณาถึงผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นร่วมด้วยข้อดี คือ ประสิทธิภาพในการควบคุมปลวกสูงกว่ารูปแบบที่ไม่ใช้สารเคมี แต่มีข้อจำกัดทางด้านอายุการใช้งาน ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เป็นอันตรายต่อปลวกและอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นร่วมด้วย และมีโอกาสก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม
จากการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของวิธีการควบคุมปลวกตามแต่ละหลักการ ประกอบการพิจารณาทางด้านความยั่งยืนของระบบนิเวศจะเห็นได้ว่า วิธีการที่เหมาะสมคือการผสมผสานร่วมกัน ทั้งวิธีการควบคุมเชิงเขตกรรม การควบคุมเชิงกายภาพ และการควบคุมเชิงชีววิธี ซึ่งเป็นรูปแบบการป้องกันปลวกแบบไม่ก่อสารพิษ โดยจำกัดและหลีกเลี่ยงวิธีการควบคุมเชิงเคมี เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกสรรพสิ่งมีชีวิต ทั้งต่อปลวก มนุษย์ สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ กำจัดปลวก
ตัวอย่างรูปแบบการป้องกันปลวกโดยไม่ก่อสารพิษ

ที่มา: http://granitgard.com.au/system-description
1. การปูรองใต้พื้นอาคารด้วยกรวดหรือหินบด (Graded Granite, Crushed Stone, Basaltic Rock) เพื่อป้องกันปลวกจากใต้ดิน ทั้งนี้ต้องพิจารณาการทรุดตัวของชั้นดินและระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างหินขึ้นได้
2. การปูรองใต้พื้นอาคารหรือปรับสภาพดินด้วยเกลือ น้ำเกลือ หรือสารประกอบของเกลือ เพื่อป้องกันปลวกจากใต้ดิน ทั้งนี้ต้องพิจารณาการกัดกร่อนโครงสร้างและคุณภาพของดินสำหรับการปลูกต้นไม้

ที่มา: https://emedia.rmit.edu.au
3. การก่อสร้างฐานอาคารที่สัมผัสกับพื้นดินด้วยหินหรือคอนกรีต เพื่อป้องกันปลวกจากใต้ดิน ทั้งนี้ต้องพิจารณาเทคนิคการก่อสร้างบริเวณรอยต่อโครงสร้างและการแก้ปัญหารอยแตกร้าว

ที่มา: https://emedia.rmit.edu.au

ที่มา: https://emedia.rmit.edu.au

ที่มา: http://www.termitespecialist.com.au
4. การหุ้มรอยต่อโครงสร้างใต้ดินและขอบฐานอาคารด้วยแผ่นโลหะ ตะแกรงโลหะ หรือแผ่นพลาสติก เพื่อป้องกันปลวกจากใต้ดิน ทั้งนี้ต้องพิจารณาการควบคุมคุณภาพของฝีมือช่างผู้ติดตั้งและผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อป้องกันความเสียหายของระบบ

ที่มา: ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์ คณะโบราณคดี. ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, 2556.
5. การออกแบบอาคารกลางน้ำ และการหล่อน้ำ หรือน้ำมันโดยรอบอาคาร เพื่อป้องกันการเข้าถึงของปลวก ทั้งนี้ต้องพิจารณาการบำรุงรักษาอาคาร รวมถึงการต่อเติมอาคารภายหลัง เช่น หอไตรกลางน้ำของวัดต่างๆ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน วัดป่ารัตนวัน เป็นต้น

ที่มา: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
โครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดการความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยและวิถีการอยู่อาศัยผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นพื้นที่ภาคใต้, 2556.
6. การยกพื้นอาคารสูงจากระดับดิน การยกใต้ถุนสูง และฐานเสาหินหรือคอนกรีต เพื่อให้สังเกตเห็นเส้นทางเดินของปลวกได้โดยสะดวก เช่น สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้

ที่มา: https://www.researchgate.net
7. การออกแบบระบบทำความร้อนใต้พื้นอาคารของประเทศเมืองหนาว นอกจากความอบอุ่นแล้ว ยังมีผลพลอยได้เป็นไอความร้อนและเขม่าควันช่วยไล่แมลงและปลวกออกจากตัวอาคารได้ เช่น ระบบทำความร้อนใต้พื้น (Ondol) ของประเทศเกาหลี

สรุปแนวทางการป้องกันปลวกโดยไม่ก่อสารพิษ
1. การออกแบบและจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อลดปัจจัยการเข้าทำรังของปลวก ได้แก่
- การกำจัดแหล่งอาหารบริเวณใต้อาคารและโดยรอบอาคาร เช่น ตอไม้ เศษไม้ ถุงปูน
- การกำจัดแหล่งอาหารภายในอาคาร โดยการเลือกวัสดุทดแทนไม้ หรือวัสดุที่ทนทานต่อปลวก
- การควบคุมความชื้นภายในอาคารและบริเวณโดยรอบอาคาร เช่น ออกแบบอาคารยกพื้นสูงเพื่อระบายความชื้นภายใต้อาคาร
- การออกแบบลดจุดอับของอาคาร ซึ่งอาจเป็นเส้นทางการเข้าถึงของของปลวกใต้ดิน เพื่อให้สามารถสังเกตเส้นทางเดินของปลวกชัดเจนและสามารถแก้ปัญหาได้ทันที
- การออกแบบพืชพรรณประกอบอาคาร โดยกำหนดตำแหน่งการปลูกต้นไม้ใหญ่ห่างจากตัวอาคาร เพื่อป้องกันการเข้าถึงของปลวกจากเรือนยอดของต้นไม้

ที่มา: http://apcsydney.com.au/2015/07/30/how-do-termites-get-into-your-home/
2. การออกแบบและติดตั้งระบบป้องกันปลวกเชิงกายภาพ เพื่อสร้างอุปสรรคกีดขวางการเข้าถึงของปลวก ด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น กรวดหินบด เกลือ น้ำ น้ำมัน แผ่นโลหะ ตะแกรงโลหะ หรือแผ่นพลาสติก เป็นต้น ในทุกตำแหน่งรอยต่อของโครงสร้างที่อาจเป็นเส้นทางการเข้าถึงอาคารของปลวก
3. การตรวจสอบอาคารและสำรวจเส้นทางเดินของปลวกเป็นประจำ ทั้งด้วยวิธีการสังเกต และการใช้อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ความชื้น ก๊าซ คลื่นความถี่ หรือคลื่นเสียง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กำจัดปลวก
รายการอ้างอิง
จารุณี วงศ์ข้าหลวง. ที่ปรึกษากรมป่าไม้. สัมภาษณ์, 21 พฤษภาคม 2561.
จารุณี วงศ์ข้าหลวง และ ยุพาพร สรนุวัตร. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปลวก และการป้องกันกำจัด. กรุงเทพมหานคร: สำนักวิจัยเศรษฐกิจและผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้, 2544.
Charunee Vongkaluang. Current Termite Management in Thailand. Proceedings of the 1st Conference of the Pacific-Rim Termite Research Group (Malaysia), March 2004.
Dong-heub Lee. Current Termite Management in Korea. Proceedings of the 1st Conference of the Pacific-Rim Termite Research Group (Malaysia), March 2004.
James W. Creffield and Michael Lenz. Current Termite Management in Australia. Proceedings of the 1st Conference of the Pacific-Rim Termite Research Group (Malaysia), March 2004.
Kunio Tsunoda and Tsuyoshi Yoshimura. Current Termite Management in Japan. Proceedings of the 1st Conference of the Pacific-Rim Termite Research Group (Malaysia), March 2004.
Kunio Tsunoda. Improved Management of Termites to Protect Japanese Homes. Proceedings of the 5th International Conference on Urban Pests (Singapore), January 2005.
รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก (For All Well-being) รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน
ติดตาม FB : riscwellbeing
เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์