แมวฝึกได้ไหม? คำถามที่ทาสแมวอยากรู้

ทาสแมวหลายคนอาจจะเคยมีคำถามนี้เกิดขึ้นอยู่ในหัวว่า แมวฝึกได้ไหม? ขนาดน้องหมายังฝึกได้ แล้วทำไมเจ้าเหมียวถึงจะฝึกไม่ได้ แต่การฝึกเจ้าเหมียวนั้นเป็นสิ่งที่ช่างน่าลำบากเหลือเกิน เพราะเจ้าเหมียวเป็นสัตว์ที่มีความเป็นตัวเองค่อนข้างสูง

วันนี้ บ้านและสวน Pets จะพามาไขคำตอบกันว่า แมวฝึกได้ไหม? ให้ทาสแมวสามารถเข้าใจ และฝึกเจ้าเหมียวให้เป็นแมวเชื่อง ๆ กันค่ะ

1.เข้าใจลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของแมวกันก่อน

พฤติกรรมของแมว

ในอดีตคนเลี้ยงแมวเพื่อเอาไว้ล่าหรือฆ่าหนู แมวจึงเป็นสัตว์ที่ยังคงมีพฤติกรรมการเป็นผู้ล่า การล่าถือเป็นการเล่นอย่างหนึ่งของแมว แมวเป็นสัตว์ล่าเดี่ยว พวกแมวจะพยายามหลีกเลี่ยงการต่อสู้กับแมวตัวอื่นๆหากเป็นไปได้ โดยทั่วไปแมวจะพยายามรักษาระยะห่างกับแมวตัวอื่น แมวมักจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแมวตัวอื่นโดยหลบซ่อนก่อน แมวจะต่อสู้เมื่อเป็นทางเลือกสุดท้าย ความกล้าหาญและการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ของแมวขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวแมวด้วย ช่วงอายุ 2-7 สัปดาห์เป็นช่วงที่แมวเริ่มปรับตัวและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ช่วงอายุนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแมวและคน แม้กระนั้นหากแมวพบประสบการณ์ความรุนแรง เสียงดัง

จะสร้างความกลัว และความก้าวร้าวให้แมวได้ แมวเป็นสัตว์สังคมจะคุ้นเคยกับแมวฝูงเดิมที่เคยอยู่มาตั้งแต่แรกแต่จะไม่คุ้นเคยกับแมวแปลกหน้า ด้วยเหตุนี้ทำให้มีสัญชาติญาณความกลัวในการปกป้องตัวเองเมื่อเจอกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปหรือคนที่ไม่รู้จัก พฤติกรรมนี้แมวมักจะไม่แสดงออกชัดเจนมักจะเก็บซ่อนความกลัวไว้ แมวสื่อสารกันด้วยหนวด ฟีโรโมน จะเห็นได้ว่าแมวมักเอาหน้าถูซึ่งกันและกันและผลัดกันเลียแต่งตัวให้กัน บ่อยครั้งคนมักเข้าใจผิดว่าพฤติกรรมการเอาหน้ามาถูคือการขออาหารหรืออ้อน แมวส่วนมากมักชอบให้สัมผัสบริเวณหัวและคอ แมวมักอารมณ์เสียและก้าวร้าวเมื่อคนสัมผัสบริเวณอื่น เช่น สัมผัสที่หลัง หรือเมื่อสัมผัสที่ท้องทำให้แมวตะปบแขนด้วยกรงเล็บได

แมวฝึกได้ไหม

พฤติกรรมส่วนใหญ่ที่แมวบ้านเป็นอยู่ในทุกวันนี้แสดงความเกี่ยวข้องโดยตรงกับต้นตระกูลในป่าของแมว แมวเป็นสัตว์ที่มีความเฉพาะตัว รักอิสระ ไม่มีจ่าฝูง เป็นสัตว์สังคม เป็นนักล่าเดี่ยว เป็นสัตว์ที่มีความหวงอาณาเขตสูง ฉะนั้นสิ่งที่แมวทำส่วนใหญ่จะสะท้อนความต้องการที่จะรักษาอาณาเขต เช่น พฤติกรรมการพ่นปัสสาวะใส่สิ่งของ การฝนเล็บ การถูไถกับสิ่งของ เป็นต้น ซึ่งบางพฤติกรรมที่ปกติของแมว อาจกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์กับเจ้าของได้

2.แล้วตั้งแต่เกิดแมวมีการถูกสอนหรือฝึกมาหรือไม่?

การเรียนรู้ของลูกแมวเริ่มจากเมื่อคลอดใหม่ ๆ ตายังไม่เปิดออกจนกว่าอายุได้ 9 วัน ลูกแมวอายุ 3 สัปดาห์ จะยืนและเดินได้ดีขึ้น เมื่อแมวอายุได้ 4 สัปดาห์ แมวจะเริ่มเรียนรู้การกินอาหารที่เป็นรูปร่างมากขึ้น ได้พร้อม ๆ กับหย่านมแม่แมวประมานอายุหนึ่งเดือนครึ่ง ขณะที่ยังเล็ก ๆ อยู่แม่แมวจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการขับถ่ายของลูกและทำความสะอาดให้ เมื่อลูกแมวออกจากรังคลอด แมวจะพยายามจดจำลักษณะทำการหมอบตัวลงต่ำ รู้จักออกไปขับถ่ายข้างนอก เรียนรู้การทำความสะอาดได้ โดยใช้ลิ้นและอุ้งเท้าแปรงขนบริเวณใบหน้าและลำตัวให้เรียบ ใช้ลิ้นและฟันทำความสะอาดผิวหนังและขนได้โดยตรง ส่วนที่ใบหน้าหรือหน้าผากและบนศีรษะ จะใช้อุ้งเท้าทำการเกาหรือข่วน ลูกแมวจะไม่ยอมจากแม่แมวไปอยู่ที่อื่นขนกว่าจะอายุ 8 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่ลูกแมวจะเริ่มเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

แมวฝึกได้ไหม

แนะนำควรหลีกเลี่ยงการซื้อลูกแมวที่ถูกหย่านมเร็วเกินไป โดยลูกแมวที่ถูกหย่านมเร็วเกินไปมีแนวโน้มที่จะมีความก้าวร้าวมากกว่า และจำเป็นต้องมีการฝึกฝนมากกว่าลูกแมวที่หย่านมในช่วงเวลาที่เหมาะสม

แมวมีสัญชาตญาณและพฤติกรรมนักล่าเหยื่ออยู่มาก โดยการกัดยึดบริเวณช่องคอของเหยื่อได้อย่างเหนียวแน่น แม่แมวจะทำการสอนลูก ๆ ให้รู้จักวิธีการล่าเหยื่อ การต่อสู้ วิธีการซุ่มโจมตี และการขับไล่ศัตรู ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ลูกแมวสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากแม่ของเขา หรือแม้แต่แมวที่โตเต็มที่แล้ว แสดงให้ลูกแมวได้ฝึกหัดทำตามหรือเป็นคู่ซ้อมให้ลูกแมว ซึ่งเราพบเห็นได้อยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าของแมวก็สามารถฝึกหัดแมวได้ โดยใช้ลูกบอลหรือชิ้นส่วนจากกระดาษให้ลูกแมวได้กระโจน หรือกระโดดเข้าหาสิ่งของเหล่านี้

3.เราจะสอนหรือฝึกแมวอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ดีที่สุดจริง ๆ คือการให้แมวมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุยังน้อย ลูกแมวที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีควรถูกจับและอุ้มโดยผู้คนมากหน้าหลายตาที่มีความแตกต่างทั้งด้านอายุ เพศ และลักษณะทางร่างกาย ตั้งแต่มีอายุได้ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป การจับและอุ้มควรเกิดขึ้นทุกวัน อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน และแต่ละครั้งควรมีระยะเวลาประมาณ 5 – 10 นาที ยิ่งลูกแมวถูกจับและอุ้มบ่อยครั้งเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นการดีมากขึ้นเท่านั้น 

หากลูกแมวมีอายุมากกว่า 8 สัปดาห์ และยังไม่คุ้นเคยกับคน ลูกแมวมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมดุร้าย หรือมีนิสัยแบบลูกแมวป่า หากพฤติกรรมนี้ก่อตัวขึ้น มันจะเป็นเรื่องยากในการทำลาย และมีความเป็นไปได้ที่ลูกแมวจะเติบโตเป็นแมวที่ต่อต้านการเข้าสังคม

เราไม่สามารถบังคับลูกแมวหรือแมวให้ทำสิ่งต่าง ๆ ดังนั้นการฝึกแมวต้องมีความอดทน และให้รางวัลเมื่อลูกแมวอยู่รอบ ๆ เพื่อแมวจะเริ่มเชื่อมโยงเราเข้ากับประสบการณ์ที่ดี

ใช้การสนับสนุนเชิงบวก. การสนับสนุนเชิงบวกจะถูกกระทำได้โดยการให้รางวัลในพฤติกรรมที่ต้องการให้แมวทำซ้ำ เพื่อที่สุดท้ายแมวจะละทิ้งพฤติกรรมเก่าที่เราต้องการให้แมวงดเว้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนพฤติกรรมของแมว

  • หากแมวทำบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ชอบ ให้เราทำวางเฉย โดยทั่วไปการร้องครางที่ประตูหรือการตะกายบางสิ่งบางอย่างเป็นวิธีที่แมวใช้เรียกร้องความสนใจของคุณ หากมันไม่ได้ผล แมวจะละทิ้งพฤติกรรมดังกล่าวโดยสมบูรณ์
  • รางวัลอาจเป็นของกินรสชาติอร่อย แมวส่วนมากจะมีรางวัลที่โปรดปรานอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ หากลูกแมวของดูไม่มีแรงจูงใจในอาหาร ให้ลองหลอกล่อลูกแมวด้วยอาหารหลากหลายชนิดเพื่อดูว่าอาหารชนิดไหนทำให้ลูกแมวรู้สึกตื่นเต้น

หลีกเลี่ยงการลงโทษลูกแมว. การลงโทษลูกแมวอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงผิวเผิน แต่แมวอาจมีนิสัยหลบเลี่ยงมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น แมวถ่ายปัสสาวะบนพรมในห้องนั่งเล่น หากคุณทำโทษ หรือทำให้ลูกแมวกลัว ลูกแมวจะจดจำ ว่าลงโทษพวกเขาที่ถ่ายปัสสาวะมากกว่าที่จะรู้ว่าห้ามถ่ายปัสสาวะบนพรม ดังนั้นลูกแมวจะระมัดระวังไม่ถ่ายปัสสาวะต่อหน้าคุณในอนาคต และอาจสามารถส่งผลในทางตรงกันข้าม เพราะว่าลูกแมวจะพยายามหาที่ลับตาในการถ่ายปัสสาวะ หรือลังเลในการใช้กระบะทราย เพราะแมวจะระมัดระวังเราอยู่ตลอดเวลา

การใช้หญ้าแคทนิป หรือหญ้าแมวเพื่อช่วยในการฝึก การฝึกแมวด้วยหญ้าแมวเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จได้วิธีหนึ่ง การโรยแคทนิปที่บริเวณที่ฝนเล็บ หรือ เสาฝนเล็บ ที่นอน วิธีนี้สามารถดึงดูดความสนใจของแมว ทำให้แมวรู้สึกเพลิดเพลินไปได้

4.การฝึกการเรียกชื่อ

โดยปกติแล้วน้องแมวนั้นจะสามารถจำชื่อของตัวเองได้ไม่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น ซึ่งแนะนำควรจะตั้งชื่อให้แมวด้วยคำที่ออกเสียงได้ง่ายมีความยาวไม่เกิน 2 พยางค์ เป็นต้น รวมถึงฝึกเรียกชื่อน้องแมวบ่อย ๆ ตั้งแต่ตอนที่เค้ายังเล็ก ซึ่งจะทำให้การฝึกได้ผลมากยิ่งขึ้น

สามารถฝึกให้แมวตอบสนองกับเสียงเรียกและเดินมาตามทางที่เราต้องการได้ แนะนำว่า ให้เริ่มจากใช้เสียงเรียกแมวก่อนจะให้อาหาร อย่างเช่น ก่อนเปิดปากถุงหรือกระป๋องอาหาร ซึ่งเราจะใช้การเรียกชื่อแมว ส่งเสียงร้องเหมียว ๆ หรือกระดกลิ้นรัว ๆ เพื่อส่งสัญญาณเสียงไปหาแมวก็ได้ จากนั้นก็ทำตามวิธีดังกล่าวไปเรื่อย ๆ อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน ครั้งละประมาณ 5 นาที เพื่อให้แมวเรียนรู้และเชื่อมต่อระหว่างเสียงของคุณกับอาหาร เมื่อแมวตอบรับกับเสียงเรียกของคุณแล้วก็อย่าลืมให้รางวัล และค่อย ๆ เพิ่มระยะห่างระหว่างแมวกับเสียงเรียกด้วย อย่าทำบ่อยเกินไปเพราะแมวอาจจะเบื่อและเกิดการต่อต้านได้

5.การฝึกการให้อาหารและการกิน

การให้อาหารแมวมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีหลัก ๆ จะขึ้นอยู่ที่วิธีการกินของแมวว่าเป็นอย่างไร เราสามารถให้อาหารแมวได้ตลอดเวลา หรือให้อาหารตามเวลาเป็นมื้อ ๆ แมวบางตัวอาจเหมาะกับการเทอาหารใส่ชามทิ้งไว้อยู่ตลอดเวลา วิธีนี้อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เมื่อมีอาหารให้กินอยู่ตลอดเวลา วิธีนี้เรียกว่า การให้อาหารแบบไม่จำกัด โดยเป็นการเลียนแบบวิธีการกินของแมวเวลาอยู่ในป่า ซึ่งชอบที่จะกินของว่างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง แมวที่ไม่ถูกทำให้รู้สึกเบื่อ และมีหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เพลิดเพลิน และมีการถูกกระตุ้นทางจิตใจ

แมวฝึกได้ไหม

ให้อาหารลูกแมวเป็นเวลา หากมีแนวโน้มที่จะกินมากเกินไป เริ่มให้อาหารเป็นเวลา ลูกแมวโดยทั่วไปควรกินอาหารวันละ 4-6 มื้อ จนกระทั่งอายุ 12 สัปดาห์ จึงลดลงเหลือวันละ 3 มื้อ เรื่อยไปจนกระทั่งแมวมีอายุได้ 6 เดือน หลังจาก 6 เดือนแมวจะโตเต็มวัย และสามารถกินอาหารวันละ 2 มื้อ ในตอนเช้า และตอนค่ำ และควรให้อาหารในเวลาเดียวกันทุกมื้อในแต่ละวัน

6.การฝึกการขับถ่าย

แมวเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างจะรักความสะอาดมาก การฝึกแมวให้ขับถ่ายเป็นที่เลยไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เพราะแม่แมวจะคอยดูแลและสอนวิธีทำความสะอาดแก่ลูก ๆ ด้วยการเลียที่บริเวณก้นหลังจากกินนมเพื่อกระตุ้นให้ลูกแมวขับถ่าย เราจึงควรเตรียมกระบะทรายแมวเอาไว้สำหรับลูกแมวในช่วงนี้ โดยให้ตั้งถาดทรายแมวเอาไว้ในมุมสงบที่ห่างจากมุมวางถาดอาหาร แล้วอุ้มลูกแมวไปวางในกระบะทรายแมว เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับกลิ่นและสัมผัสของทรายแมว ปล่อยไว้แบบนั้น 2 – 3 นาที ถึงลูกแมวยังไม่ขับถ่ายก็ไม่เป็นไร ต่อไปหลังกินอาหารและตอนตื่นนอนก็ให้พาลูกแมวมาที่กระบะทรายแมวอีก รวมถึงเวลาไหนก็ตามที่เราคิดว่าลูกแมวน่าจะอยากเข้าห้องน้ำ หรือมีอาการนั่งยอง ๆ ที่อื่นเมื่อไหร่ ให้รีบอุ้มไปใช้กระบะทรายแมวทันที ชนิดทรายมีหลากหลายแบบ ให้สังเกตว่าแมวชอบลักษณะทรายที่จัดให้หรือไม่ ให้ยึดความชอบของแมวเป็นหลัก

กระบะทรายแมว ใช้ผิดชีวิตเปลี่ยน

7.การฝึกการลดการข่วนเฟอนิเจอร์

การข่วนเป็นพฤติกรรมปกติในแมว เพื่อสื่อสาร เพื่อทำสัญลักษณ์ เพื่อตกแต่งเล็บ การแก้ไขให้ สังเกตช่วงเวลา สถานที่ ปัจจัยหรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้แมวแสดงพฤติกรรม ทำอุปกรณ์สำหรับให้แมวข่วน ผิวสัมผัสและวัสดุให้เหมือนกับที่แมวชอบข่วน ขนาด 6-8 นิ้ว สูง 12-16 นิ้ว แขวนไว้สถานที่ที่แมวชอบข่วน ร่วมกับเปลี่ยนพื้นผิวของวัสดุที่แมวชอบข่วนเดิม โดนการคลุมด้วยพลาสติกหนา หรือคลุมด้วยอลูมินั่มฟอยด์ ควรเริ่มฝึกตั้งแต่เป็นลูกแมว ให้คุ้นชินกับอุปกรณ์ที่ฝนเล็บ

ไอเดียที่ฝนเล็บแมว หลากหลายดีไซน์จากเชือกและกระดาษลัง

8.การฝึกลูกแมวด้วยคลิกเกอร์

เริ่มต้นใช้คลิกเกอร์ เมื่อแมวยังเป็นลูกแมวอยู่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทำให้ลูกแมวรู้จักกับวิธีฝึกด้วยคลิกเกอร์ โดยคลิกเกอร์จะมีเสียงดังคลิก แคลก ที่เราสามารถใช้ในการระบุพฤติกรรมใด ๆ ที่เราต้องการให้แมวทำซ้ำ ๆ เป็นวิธีที่เป็นประโยชน์ เช่น การเดินมาหาเมื่อคุณเรียก การขอมือ

เชื่อมโยงคลิกเกอร์เข้ากับการให้รางวัล เริ่มต้นโดยการกดคลิกเกอร์ และให้รางวัลแก่ลูกแมวของคุณ เมื่อเราทำเสียงคลิก แคลก และให้รางวัลแก่ลูกแมว แมวจะทำการเชื่อมโยงระหว่างเสียง คลิก แคลก และรางวัล ทันทีที่ลูกแมวเริ่มที่จะเข้ามาหาเราโดยคาดหวังที่จะได้รางวัล ให้คุณกดคลิกเกอร์และให้รางวัลแก่แมว ทำขั้นตอนนี้ซ้ำ ๆ จนกระทั่งรู้สึกว่าแมวได้เรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงเสียงคลิกเกอร์เข้ากับรางวัลที่จะได้รับ (รางวัล เช่น อาหาร ขนม) แนะนำฝึกในเวลาที่ลูกแมวยังไม่อิ่ม หากลูกแมวอิ่มอาจจะไม่สนใจในรางวัลที่เป็นอาหาร

ระบุพฤติกรรมที่คุณต้องการด้วยเสียงคลิก แคลกของคลิกเกอร์ ทันทีที่ลูกแมวเชื่อมโยงเสียงคลิกเกอร์กับรางวัลได้แล้ว คุณสามารถปรับเปลี่ยนการคลิกของคุณให้มีลักษณะเหมือนกับการวางเงินดาวน์ในของรางวัลที่แมวจะได้รับ โดยแมวจะได้รับรางวัลเมื่อลูกแมวทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง และมอบรางวัลให้ลูกแมวทันทีที่พฤติกรรมถูกทำจนสำเร็จ คุณสามารถรวมพฤติกรรมด้วยคำพูด เช่น “นั่ง ขอมือ หมอบ นอน เพื่อทำให้การฝึกมีความสมบูรณ์

9.การฝึกใส่สายจูง

แนะนำใช้สายจูงชนิดที่รัดบริเวณอกแมวและเริ่มฝึกโดยเริ่มจากนำวางสายจูงในที่ที่แมวอยู่ เพื่อให้แมวทำความคุ้นเคยกับสายจูงก่อนประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจึงค่อยนำสายจูงสวมให้แมว แล้วปล่อยให้แมวเดินเล่นกับสายจูงไปก่อน และเราคอยเดินอยู่ใกล้ ๆ กับแมว เมื่อประเมิณว่าแมวเริ่มคุ้นเคยและอยู่ในภาวะผ่อนคลาย สามารถเดินไปมาได้อย่างอิสระแม้จะสวมสายจูงแล้ว จึงค่อยนำสายจูงมาถือไว้ในมือ และพาแมวออกไปเดินนอกบ้าน

10.การฝึกการเล่นถูกวิธีเพื่อลดความรุนแรง

การเล่นโดยกระตุ้นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของแมว แนะนำให้ใช้ของเล่นที่เคลื่อนไหวหรือส่งเสียงได้เพื่อเลียนแบบเหยื่อในธรรมชาติ การล่อของเล่นแนะนำให้ล่อในลักษณะการเคลื่อนไหวซ้ายและขวาอย่างรวดเร็วตรงหน้าแมวจะช่วยให้แมวสนใจมากกว่าการเคลื่อนไหวของเหยื่อแบบขึ้นลง

หลีกเลี่ยงการใช้มือหรือส่วนของร่างกายในการล่อแมว หลายคนอาจจะชอบเอามือไปลูบขยำที่ท้องแมวและแมวก็จะงับร่วมกับใช้เท้าตะกุย หรือเอามือล่อให้แมวตะปบ หรือใช้เท้าเคลื่อนไหวล่อแมว ลักษณะการเล่นนี้จะทำให้แมวจดจำและเรียนรู้ว่าอวัยวะเราคือของเล่นและเข้ามาจู่โจมซึ่งอาจทำให้เราได้รับการบาดเจ็บ นำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมความก้าวร้าวและรุนแรงต่อเจ้าของ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ส่วนของร่างกายเพื่อล่อแมว โดยให้เปลี่ยนไปใช้ของเล่นในการล่อแทน หากแมวชอบมีพฤติกรรมที่วิ่งมากัดมือหรือเท้า ให้ฝึกแก้ไขโดย สังเกตถ้าแมวกำลังทำท่าจะจู่โจม ให้เราเปลี่ยนเส้นทางการเดินไปทางอื่นทันทีและโยนของเล่นหรือขนมไปอีกเส้นทางเพื่อเบี่ยงเบนความสนในของแมว โดยฝึกบ่อย ๆ จะช่วยลดพฤติกรรมนี้ได้

ระยะเวลาที่ใช้การในการเล่นกับแมว : ตามหลักการแล้วแนะนำให้ใช้เวลาเล่นกับแมวต่อวันอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง โดยอาจแบ่งเล่นเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ครั้งละ 10-15 นาที เพราะแมวเป็นสัตว์ที่มีความแปรปรวนง่าย เล่น ๆ อยู่อาจจะเบื่อหรือเหนื่อย ไม่สนใจก็ได้

11.การฝึกแมวแมวมาโรงพยาบาล : การเตรียมตัวเจ้าของแมวและแมวก่อนมาพบสัตวแพทย์

การใช้เวลาให้เกิดความเคยชินกับการไปเที่ยวหรือถูกจับจะช่วยลดความเครียดในการมาพบสัตวแพทย์ได้ตลอดชีวิต  ทีมสัตวแพทย์ และเจ้าของสามารถสร้างความรู้สึกด้านบวกให้กับแมวในการมาพบสัตวแพทย์

  • การฝึกซ้อมก่อนมาพบสัตวแพทย์ สร้างความรู้สึกด้านบวกด้วยรางวัล เช่น ขนมอร่อย ๆ เมื่อให้แมวเริ่มรู้จักกับคนแปลกหน้าและแมวแปลกหน้า หลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยการลงมือหรือการใช้คำพูดว่ากล่าวเพราะจะทำให้แมวก้าวร้าวได้
  • จัดให้มีชั้นเรียนของลูกแมวและเจ้าของลูกแมว เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนมาพบสัตวแพทย์ด้วยความรู้สึกด้านบวก
  • การฝึกซ้อมการตรวจทางคลีนิค เป็นการซ้อมการทำหัตถการจากทางบ้านด้วยความรู้สึกด้านบวกโดยการกล่าวชมและให้รางวัล เช่น การเล่นด้วย การใช้ตำแยแมว การนวดหรือเกาบริเวณคอและคาง เช่น
    • การจับตรวจกรงเล็บและหูตั้งแต่อยู่ที่บ้านเพื่อเป็นการซ้อมก่อนมาทำที่โรงพยาบาลหรือคลีนิค
    • เปิดปากและใส่ขนมอร่อย ๆ เพื่อเตรียมตัวตรวจช่องปาก หรือการให้ยา หรือการแปรงฟัน
    • จับสัมผัสบริเวณขาหรือลำตัวเพื่อเตรียมตัวมาตรวจร่างกายโดยสัตวแพทย์
    • การหวีทำความสะอาดขน
    • ทำหัตถการที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ เช่น การป้อนยาถ่ายพยาธิ การเจาะตรวจน้ำตาลในเลือดในรายที่เป็นเบาหวาน
  • ซ้อมให้แมวชินกับตะกร้าหรือกระเป๋าใส่แมว และพาขึ้นรถเดินทางด้วยระยะเวลาสั้น ๆ วิธีนี้ควรทำตั้งแต่แมวอายุน้อย ๆ
  • ฝึกให้แมวเข้าตะกร้าหรือกระเป๋าใส่แมวด้วยตัวเองในวันที่พาไปพบสัตวแพทย์
  • เตรียมสิ่งของที่มีกลิ่นที่คุ้นเคยใส่ลงไปในตะกร้าหรือกระเป๋าใส่แมวไปด้วยเช่น ผ้าปูรองผืนโปรด หรือ ของเล่นชิ้นโปรด
  • เตือนทีมสัตวแพทย์ล่วงหน้า หากแมวหงุดหงิดง่ายการเตือนทีมสัตวแพทย์ล่วงหน้าทำให้งานลื่นไหลมากขึ้น เช่น การเคลื่อนย้ายแมวไปห้องตรวจได้อย่างรวดเร็ว การเตรียมของเล่นและขนมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของแมว ทีมสัตวแพทย์จะได้เตรียมอาจมีทางเลือกที่ยืดหยุ่นปรับตามความเหมาะสมกับแมวแต่ละตัว เช่น แมวบางตัวไปตรวจที่บ้านดีกว่าพามาที่โรงพยาบาลหรือคลีนิค
  • สร้างความรู้สึกด้านบวกให้กับแมวเสมอ โดยการให้รางวัลเมื่อแมวแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น ให้ขนม อาหาร ของเล่น นวด
  • ในบางรายอาจมีการให้ยาคลายกังวลหรือยาแก้คลื่นไส้ก่อนนำตัวมาพบสัตวแพทย์
  • มีการเตรียมตัวก่อนพาแมวกลับบ้าน


บทความโดย
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
Piyawun Phurahong , DVM
สัตวแพทย์ประจำคลินิกโรคแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ติดตามบทความดี ๆ จากพวกเราได้ที่
Facebook : บ้านและสวน Pets