บ้านร่วมสมัย จากวัสดุพื้นถิ่น สไตล์อ่างทอง

ถ้าจะนิยามคำว่า “วัสดุพื้นถิ่น” แก่การออกแบบสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน คำ ๆ นี้อาจหมายถึงวัสดุที่หาได้ง่าย มีช่างในพื้นที่ที่เข้าใจวิธีการก่อสร้างได้ดี และเหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่นั้น ๆ หากเป็นเช่นนั้น บ้านหลังนี้ที่ออกแบบโดย PHTAA ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้ “วัสดุพื้นถิ่น” ได้

ออกแบบเรียบง่าย ทั้งในการใช้งาน และการก่อสร้าง

บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่สร้างขึ้นภายในพื้นที่โรงงานแปรรูปน้ำมันรำข้าว ที่เจ้าของบ้านนั้นต้องการที่พักภายในพื้นที่ทำงาน โดยที่ตัวเจ้าของเองจะต้องมีการเดินทางไปกลับระหว่างโรงสีที่อยู่อีกจังหวัดและโรงงานแห่งนี้ นั่นจึงทำให้โจทย์ตั้งต้นของบ้านหลังนี้คือการออกแบบที่ดูแลได้ง่าย ให้ความเป็นส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความผ่อนคลายเพื่อการพักผ่อน และที่สำคัญต้องมีราคาที่ย่อมเยาสร้างได้ง่ายและรวดเร็วอีกด้วย

ในแง่ขอความเป็นส่วนตัวและบรรยากาศที่ดีในการพักผ่อน สามารถจัดการได้ไม่ยากด้วยการเลือกทำเลข้างบึงน้ำภายในโรงงานเพื่อให้บึงเป็นเสมือน Buffer Area ที่กั้นระหว่างโรงงานกับตัวบ้านออกจากกัน นอกจากนี้บึงน้ำยังช่วยป้อนลมเย็นเข้าสู่ตัวบ้านในเวลากลางวันได้อีกด้วย แต่สำหรับโจทย์ในแง่ของงบประมาณ ทำให้ PHTAA ต้องกลับมาหานิยามของ “บ้านที่ดีที่ไม่ได้ยึดติดกับราคา” ให้ลึกลงไปกว่าเดิม และนิยามนี้ก็ได้กลายเป็นแก่นความคิดหลักของงานนี้ไปเลยทีเดียว “บ้านจะดีได้นั้นอยู่ที่การวางผัง การออกแบบ และการจัดการกับงานก่อสร้างของวัสดุ” คือหนึ่งในประโยคที่ถูกพูดคุยระหว่างการสัมภาษณ์ และนั่นจึงทำให้แนวทางในการแก้โจทย์ราคาก่อสร้างนั้นจึงกลายมาเป็นการเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่นที่หาได้ง่ายนั่นเอง

เลือกใช้วัสดุด้วยคุณสมบัติบล็อกช่องลม และอิฐบล็อก ฐานแผ่ และลอนไฟเบอร์ซีเมนต์

คือวัสดุที่ PHTAA เลือกมาใช้ เพราะวัสดุเหล่านี้เป็นวัสดุที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ สามารถขนส่งและซื้อหามาใช้ได้ง่าย ทั้งช่างในพื้นที่ก็ยังมีความชำนาญสามารถจัดการงานก่อสร้างได้อย่างดีอีกด้วย

บล็อกช่องลม และ อิฐบล็อก นั้น มีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก สามารถก่อสร้างได้รวดเร็วด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าอิฐมอญ ทั้งยังมีพื้นผิวที่แทบจะไม่ต้องจัดการภายหลังงานก่อสร้าง ซึ่งในโครงการนี้ใช้เพียงการทากันซึมปิดผิวเพียงเท่านั้น ส่วนบล็อกช่องลมนั้นก็ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว แต่ยังสามารถมองเห็นพื้นที่โดยรอบ ทั้งยังไม่ปิดกั้นลมธรรมชาติสำหรับการระบายอากาศที่ดีอีกด้วย

ฐานรากแผ่ หรือฐานแผ่นั้น สามารถจบงานได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับอาคารที่ไม่ได้ผนวกเข้ากับอาคารอื่น ๆ หรือมีขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป ประหยัดงบประมาณเพราะไม่ต้องมีการตอกลงเสาเข็ม และไม่กระเทือนต่อโครงสร้างอาคารอื่นโดยรอบ ยิ่งนำมาใช้กับผนังอิฐบล็อกก็ทำให้มีความแข็งแรงเป็นโครงสร้างรูปกล่องที่ยึดโยงเข้าด้วยกันอย่างดี

ลอนไฟเบอร์ซีเมนต์ อีกหนึ่งวัสดุที่โดดเด่นและน่าสนใจ ในการออกแบบของบ้านหลังนี้ PHTAA ใช้เป็นทั้งหลังคา และผนังในด้านสกัด หรือด้านที่รับหน้าจั่วด้วยคุณสมบัติที่สามารถตัดให้พอดีกับทรงบ้านได้ ทำให้เกิดภาพที่แตกต่างไปจากบ้านอิฐโดยทั่ว ๆ ไป และมีความเรียบร้อยแนบสนิทแนวจั่วเป็นอย่างดี นอกจากนี้ลอนไฟเบอร์ซีเมนต์ยังเก็บเสียงได้ดีกว่าลอนโลหะอย่าง สังกะสี และเมทัลชีท

มากกว่าวัสดุเหล่านี้ ยังเป็นฉนวนอย่างดีให้กับการป้องกันความร้อนเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน ความพรุนของผิวอิฐบล็อกสามารถเก็บความชื้นไว้เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความเย็นจากการระเหยในช่วงกลางวัน และระบายความชื้นเหล่านั้นออกไปได้ด้วยการออกแบบแนวรับลมจากทางด้านหน้าที่เป็นบล็อกช่องลม

รายละเอียดความใส่ใจคือคำตอบ

เมื่อ room ถามว่าอะไรทำให้บ้านหลังนี้แตกต่างไปแม้จะเลือกใช้วัสดุ “บ้านๆ” อย่างอิฐบล็อก หรือลอนไฟเบอร์ซีเมนต์ PHTAA ตอบกับเราว่า มันคือ “การใส่ใจรายละเอียด” รายละเอียดที่ว่าคือ ระยะของวัสดุแต่ละชิ้น การจัดวาง เชื่อมโยง และสัดส่วนที่เข้ามาบรรจบกันในแต่ละจุด เมื่อจะเลือกใช้วัสดุใด ๆ การทำความเข้าใจทั้งคุณสมบัติ และมาตรฐานการผลิตในเชิงสัดส่วนมิตินั้นจะสร้างให้งานที่ออกมาดูลงตัว และสวยงามในท้ายที่สุดได้เองเมื่อผ่านการออกแบบ นอกจากนี้การดูแลรายละเอียดในขั้นตอนการก่อสร้างก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในกระดาษอาจเรียกว่าการวางแผน แต่เมื่อวัสดุต่าง ๆ ได้ถูกก่อรูปขึ้น ณ พื้นที่จริง การปรับ และทำการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ

อาจจะเห็นว่าวัสดุเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาได้ง่าย ๆ รวมไปถึงเทคนิควิธีการในการก่อสร้างบ้านหลังนี้ก็ตาม แต่ด้วยวิธีการในการผสานสัดส่วนของวัสดุทั้งหมดเข้าด้วยกัน จะช่วยให้บ้านแต่ละหลังที่ออกแบบโดยสถาปนิก หรือผู้รับเหมามีความแตกต่างไปได้อย่างมากเช่นเดียวกัน

สถาปัตยกรรมที่ใครก็เข้าถึงได้

สุดท้ายแล้ว บ้านหลังนี้ไม่ใช่เพียงตัวอย่างที่ดีของ “สถาปัตยกรรมในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่ายในคุณภาพที่ยังคงเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะและคุณภาพการใช้งาน” ไม่ว่าจะในแง่ของเทคนิควิธีการก่อสร้าง หรือวัสดุก็ตาม แต่แนวทางของบ้านหลังนี้ ยังเรียกว่าอาจเป็นอีกมิติใหม่ของ PHTAA ที่แตกต่างไปจากภาพจำของเราต่อพวกเขา ซึ่ง PHTAA ก็บอกกับเราว่า แนวทางของบ้านหลังนี้ อาจถูกพัฒนาไปใช้เป็นบ้านสำหรับเหตุการณ์หลังภัยพิบัติ หรืออาจจะเป็นบ้านที่ถูกก่อสร้างในที่ห่างไกลก็เป็นได้


ออกแบบ : PHTAA living design
ภาพ: Beer Singnoi
เรื่อง: Wuthikorn Sut