BAAN BRAIN CLINIC คลินิกในตึกแถวที่อบอุ่นเหมือนบ้าน

Baan Brain Clinic Chiang Rai เป็นโครงการออกแบบเปลี่ยนโฉมตึกแถวตำแหน่งหัวมุมให้กลายเป็นคลินิกด้านสมองและระบบประสาทของ นพ.วัชระรัตนชัยสิทธิ์ คุณหมอด้านประสาทวิทยาที่จังหวัดเชียงราย “อยากให้คนไข้ที่มาที่นี่รู้สึกเหมือนกลับบ้านมาให้ลูกหลานดูแล” คือโจทย์ตั้งต้นในการออกแบบที่คุณหมอให้ไว้ให้กับทีม 1922 Architects

ตัวอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 70 ตร.ม. ซึ่งมีลักษณะเดิมเป็นโถงสูงด้านหน้าและมีชั้นลอยด้านหลัง เมื่อเทียบกับพื้นที่ใช้งานที่จำเป็นต้องมี ซึ่งได้แก่ โถงพักคอย เคาน์เตอร์ต้อนรับ ห้องตรวจ ห้องหัตถการ ห้องน้ำ พื้นที่พักผ่อนของคุณหมอ และพื้นที่เก็บของ ขนาดพื้นที่ 70 ตร.ม. จึงถือเป็นพื้นที่ที่จำกัดมาก อีกทั้งช่องเปิดที่มีไม่มาก ทำให้ภายในค่อนข้างมืดและอึดอัดตามลักษณะของตึกแถวทั่วไป 

ผู้ออกแบบจึงรักษาลักษณะของโถงสูงหรือ Double volume ไว้สำหรับทำเป็นพื้นที่พักคอยและเคาน์เตอร์ต้อนรับด้วยความสูงของฝ้าเพดานเดิม 4.75 ม. ส่วนห้องตรวจและห้องหัตถการที่อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์ ก็วางฝ้าเฉียงล้อไปกับท้องพื้นของบันไดเดิมเพื่อให้ห้องที่ถูกจำกัดหน้ากว้างด้วยความแคบของตึกแถวดูโล่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อีกทั้งภายในระหว่างห้องตรวจและห้องหัตถการถึงแม้จะมีประตูแยกเข้า แต่ภายในกั้นแยกโดยใช้เพียงผ้าม่านที่สามารถเปิดโล่งเชื่อมกันได้ หากต้องการใช้ห้องตรวจใหญ่เพียงห้องเดียว ซึ่งห้องตรวจนี้หากมองจากโถงต้อนรับจะเห็นเป็นผนังสูงจรดฝ้า โดยตรงมุมห้องถูกออกแบบให้เป็นผนังโค้งแทนมุมห้องสี่เหลี่ยมแบบทั่วไป ช่วยลดความอึดอัดของพื้นที่ เส้นสายที่เกิดขึ้นช่วยสร้างบรรยากาศให้อ่อนละมุนขึ้น ลดทอนความแข็งในเส้นสายขององค์ประกอบอื่นๆ ในอาคารได้อย่างลงตัว

แม้ฟังก์ชันจะเรียบง่ายแต่ก็แฝงไปด้วยทุกรายละเอียดในการออกแบบ โดยเฉพาะด้านการสร้างบรรยากาศแวดล้อมภายในคลินิกเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับคนไข้ที่เข้ามารับบริการ โดยทางผู้ออกแบบได้นำประสบการณ์จากการเป็นหนึ่งในทีมออกแบบโรงพยาบาลราชพฤกษ์ จังหวัดขอนแก่นมาปรับใช้ โดยให้ความสำคัญกับแสงและลมธรรมชาติ เพราะแสงธรรมชาติมีผลต่อความรู้สึกเชิงบวกของผู้ป่วยโดยตรง หน้าต่างและบล็อกแก้วใสจึงถูกนำมาใช้แทนผนังทึบด้านใน เมื่อแสงธรรมชาติเข้าอาคารอย่างเพียงพอ กลางวันจึงแทบไม่ต้องเปิดไฟ สามารถสร้างความรู้สึกปลอดโปร่งและผ่อนคลายให้กับผู้ใช้สอยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งตัวบล็อกแก้วเองก็ยังช่วยเพิ่มมิติเวลาแสงกระทบพื้นผิวต่างๆ ภายในอาคารอีกด้วย นอกจากนี้ ตำแหน่งและขนาดของช่องเปิดต่างๆ จึงคำนึงถึงความต่อเนื่องในการถ่ายเทอากาศให้ได้มากที่สุด เพื่อให้กระแสลมธรรมชาติช่วยลดความชื้น กลิ่นอับและป้องกันโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจด้วย

ทั้งนี้ ภายในอาคารยังทำเป็นระบบ Hybrid system ที่ควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารด้วยเครื่อง Positive pressure คอยดันอากาศบริสุทธิ์เข้ามาภายในอาคารตลอดเวลาที่ปิดหน้าต่าง และเปิดเครื่องปรับอากาศ ทำให้อากาศมีการถ่ายเท และช่วยป้องกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การตกแต่งภายในเน้นให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง เคาน์เตอร์ต้อนรับจึงได้รับการออกแบบให้เป็นโต๊ะกลมลอยตัว มีเก้าอี้ทำจากไม้ และหวายล้อมรอบแทนที่จะเป็นเคาน์เตอร์สูงหรือเคาน์เตอร์ยาวที่คนไข้ต้องนั่งประจันหน้า ส่วนเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ก็เป็นเก้าอี้ลอยตัวเพื่อให้เคลื่อนย้ายได้อย่างยืดหยุ่น วางกระถางต้นไม้ในร่มแทรกได้ตามต้องการ ส่วนอื่นๆ ผู้ออกแบบเลือกใช้ไม้อัดขัดเรียบเคลือบด้วยน้ำยาคุณภาพสูงไร้สารพิษ มาตกแต่งผนังอาคารเพื่อให้ดูอบอุ่นและเป็นธรรมชาติ พร้อมด้วยคิ้วไม้ที่ทำจากไม้โครงเฟอร์นิเจอร์นำมาทำสีใหม่ ส่วนพื้นเลือกปูด้วยกระเบื้องยางลายไม้รุ่นที่ให้สัมผัสและสีสันคล้ายคลึงไม้จริง อีกทั้งยังดูแลรักษาง่าย เหมาะกับการใช้งานระยะยาว

เจ้าของ: นพ.วัชระ รัตนชัยสิทธิ์
ออกแบบภายใน: 1922 Architects 
ออกแบบแสงสว่าง: Lundi Lighting Design 

รับเหมาก่อสร้าง: สล่าบุญทัมม์
ภาพ: ทรงธรรม ศรีนัครินทร์


SECAD OFFICE แบ่งพื้นที่ทำงานให้ยืดหยุ่นราวกับบับเบิ้ล